พระเครื่อง

ปริศนาธรรม!อุปกรณ์ทำขวัญนาค

ปริศนาธรรม!อุปกรณ์ทำขวัญนาค

29 ม.ค. 2558

ปริศนาธรรม!อุปกรณ์ทำขวัญนาค'อาสา อำนวยเจริญ' : สำราญ สมพงษ์ นิสิตสันติศึกษา มจร รายงาน

               ชาวไทยพุทธส่วนใหญ่คงได้มีโอกาสไปงานบวชนาคหรือเป็นเจ้าภาพเอง ได้มีโอกาสได้ฟังหมอทำขวัญทำขวัญนาค ซึ่งก็มีลีลา ทำนอง เนื้อหาสาระแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ทั้งวิจิตรพิสดารบ้างเรียบง่ายบ้าง หมอทำขวัญนั้นอาจจะมีคนเดียวบ้าง 2 คนบ้าง หรือหลายคนบ้างตามความสามารถและกำลังทุนทรัพย์ของเจ้าภาพ

               ทั้งนี้เป้าหมายของการทำขวัญนาคเป็นการเรียกขวัญและสอนนาคให้มีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา โดยเฉพาะมารดาที่ต้องอดทนเฝ้าดูแลครรภ์ตลอดระยะเวลาที่อุ้มท้องจนถึงเวลาคลอดลูกแสดงให้เห็นถึงความรักของมารดาที่มีต่อบุตร เป็นการปลูกให้เกิดปีติ โสมนัส ทั้งแก่ญาติมิตรและผู้บวช บางทีก็ทำให้ญาติและผู้บวชปลื้มใจจนน้ำตาไหลก็มี

               บททำขวัญนาคโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น บทไหว้ครู บทกำเนิดนาค บทคุณมารดา บทขนานนามนาค บทสอนนาค บทชมบายศรี และบทอัญเชิญขวัญ จบด้วยการแว่นเวียนเทียน

               สำหรับอุปกรณ์การทำขวัญนาคนั้นหัวใจสำคัญคือต้นบายศรีสู่ขวัญ บาตรน้ำมนต์ แว่นเทียน เป็นต้น

               เมื่อวันนที่ 25-26 ม.ค.2558 ได้มีโอกาสเดินทางไปบวชหลานชายขณะนี้เป็นพระแล้วชื่อว่าพระอาสา อำนวยเจริญ ฉายากันตธัมโม แปลว่าผู้ยินดีในธรรม ที่บ้านหนองเม็ก ต.วังท่าช้าง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี  บิดาคือนายบุญมา อำนวยเจริญ มารดาคือนางสายบัว ทองดอนคำ มีญาติในพื้นที่ จังหวัดจันท์บุรีและนครสวรรค์เดินทางไปร่วมงานกว่า 100 คน โดยมีหน้าที่เป็นตากล้องถ่ายภาพภายในงาน

               การทำขวัญนาคครั้งนี้เจ้าภาพได้เชิญหมอจำรัส ลูกศรีราชา มาประกอบพิธี  แม้ท่วงทำนองอาจจะแข็งไปบ้างแต่มากด้วยสาระ ดำเนินไปตามบททำขวัญนาคดังกล่าว แต่ที่มีความพิเศษกว่าหมอทำขวัญทั่วไปก็คือว่าแต่ละบทของการทำขวัญนาคนั้น หมอจำรัสอธิบายให้นาคและผู้ไปร่วมงานได้เข้าใจถึงขึ้นตอน วิธีการ ร่วมถึงอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการประกอบพิธีว่ามีความหมายว่าอย่างไร มีธรรมหรือที่เรียกว่า "ปริศนาธรรม" อะไรแฝงอยู่บ้าง หมอจำรัสอธิบายให้เข้าใจหมด

               ระหว่างที่ทำหน้าที่ถ่ายภาพและฟังการทำขวัญนาคไปด้วย เกิดความสนใจจึงได้จดเนื้อหาของปริศนาธรรมต่างๆไว้ เมื่อเสร็จพิธีจึงได้เข้าไปสอบถามปริศนาธรรมต่างๆ ได้ความว่า เริ่มจากใบตอง 3 ใบห่อด้วยผ้าขาวมัดด้วยสายสินญจน์  3 เปาะ เมื่อเสร็จพิธีหมอทำขวัญจะบอกให้นาคมอบให้กับพ่อแม่เอาไว้บนหิ้งพระ 3 วันแล้วให้นำไปลอยน้ำ

               ใบตองมีปริศนาธรรมคือกิเลส 3 ประการคือ โลภะ โทสะ โมหะ  ผ้าที่ห่อใบตองมีปริศนาธรรมคืออวิชชาได้แก่ความโง่  และสายสินญจน์  3 เปาะมีปริศนาธรรมคือตัณหา 3 ประการคือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา  นั้นก็หมายความว่าชีวิตของคนเราหุ้มห่อด้วยอกุศลธรรมเหล่านี้จึงเวียนว่ายตายเกิดนับภพไม่ได้อันหมายถึงข้าวสาร

               แล้วจะทำอย่างไรถึงจะไม่เวียนว่ายตายเกิด ก็ต้องใช้เทียนคือปัญญาแทงไข่ซึ่งหมายถึงหัวใจพระนิพพาน และมรรค 4 ผล 4 อันได้แก่โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผลเป็นต้น ส่วนน้ำมะพร้าวมีปริศนาธรรมคือหัวใจพระอรหันต์ เพราะน้ำมะพร้าวถือว่าเป็นน้ำที่สะอาดตามธรรมชาติ ผู้ที่จะมีปัญญาแทงไข่ได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่สะอาด ดังนั้นผู้ที่จะเข้าสู่ร่มเงากาสาวพัตรจะต้องเป็นผู้สะอาดเหมือนน้ำมะพร้าว ถึงจะถึงเทียนชัยคือคำสอนของพระพุทธเจ้า และใบพลูคือพระอภิธรรม  7 คัมภีร์

               เนื้อหาของปริศนาธรรมที่หมอจำรัสอธิบายนั้นก็คืออริยสัจ 4 นั่นเอง

               หมอจำรัสบอกว่า ปัจจุบันนี้อายุ  81 ปีแล้วแต่ร่างกายยังแข็งแรงรับงานได้ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งวิชาทำขวัญนาคนี้ก็ได้จากการศึกษาเล่าเรียนจากตำราต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้นาคเกิดความเข้าใจในปริศนาธรรมดังกล่าว เพื่อจะได้เป็นคนสะอาดบวชแล้วจะได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติธรรมแม้นว่าจะเป็นช่วงระยะเวลาอันสั้นก็ตาม หากมีความเข้าใจแล้วก็จะทำให้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเมื่อตั้งใจปฏิบัติปัญญาก็เกิดสามารถเข้าถึงธรรมตามปริศนาธรรมดังกล่าว

               การทำขวัญนาคของหมอจำรัสครั้งนี้ นอกจากจะให้ความรู้ ความบันเทิงบ้าง ที่สำคัญยิ่งยังทำให้นาคและผู้ร่วมงานได้ปัญญาอีกด้วย เท่ากับงานบวชพระอาสาครั้งนี้ได้ทั้งบุญและได้ปัญญาด้วย