พระเครื่อง

คำวัด : พ.ศ.-ค.ศ.-ฮ.ศ-ม.ศ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คำวัด : พ.ศ.-ค.ศ.-ฮ.ศ-ม.ศ : โดย...พระธรรมกิตติวงศ์

 
                             ปฏิทินถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อแทนคนร้องบอกข่าว เป็นสิ่งบอกเวลาและกลายเป็นสิ่งสำคัญในวิถีชีวิตประจำวันไปในที่สุด ต่อมามนุษย์จึงได้ริเริ่มบันทึกวันเวลาขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร หรือที่เรียกกันว่า "ปฏิทิน"
 
                              ในอดีตประเทศไทยใช้ปฏิทินจันทรคติตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยนับปีตามปีมหาศักราชและจุลศักราชตามลำดับ จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนจากปฏิทินจันทรคติมาใช้ปฏิทินสุริยคติ ในปีจุลศักราช ๑๒๔๐ ซึ่งตรงกับ พ.ศ.๒๔๓๑ โดยใช้แบบสากลตามปฏิทินเกรกอเรียน ทั้งนี้ได้กำหนดเดือนแรกของปีคือ เดือนเมษายน และเดือนสุดท้ายของปี คือ มีนาคม และปรับมาใช้รัตนโกสินทร์ศก และพุทธศักราชตามลำดับ จนกระทั่งในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีการปรับเปลี่ยนปฏิทินอีกครั้งโดยปรับให้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ และเป็นวันเริ่มต้นของปี แทนที่รูปแบบเดิม โดยวันขึ้นปีใหม่ในรูปแบบนี้เริ่มใช้ใน พ.ศ.๒๔๘๔
 
                             พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙) ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร หัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ ๘ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้อธิบายความหมายของคำว่า "พุทธศักราช" หมายถึงปีนับตั้งแต่ปีพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานมา ใช้ย่อว่า พ.ศ.
 
                             พุทธศักราช ในประเทศไทยเริ่มนับปีพุทธศักราชตั้งแต่วันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน มาครบรอบ ๑ ปี เป็น พ.ศ.๑  แต่ในประเทศพม่า ศรีลังกา และลาว นับเร็วกว่าประเทศไทย ๑ ปี โดยเริ่มนับตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานเป็น พ.ศ.๑ ดังนั้นในปีนี้ประเทศไทยเป็น พ.ศ.๒๕๕๘ แต่ในประเทศพม่า ศรีลังกา และลาว จะเป็น พ.ศ.๒๕๕๙
 
                             นอกจากนี้แล้วยังมีการนับปีที่เป็นสากลของศาสนาต่างๆ ดังนี้
 
                             คริสต์ศักราช (ค.ศ.) - เริ่มนับตั้งแต่ พ.ศ.๕๔๔ โดยนับปีที่พระเยซูคริสต์ประสูติ เป็น ค.ศ.๑ นิยมใช้ในประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์และใช้เป็นปีอ้างอิงสากล
 
                             มหาศักราช (ม.ศ.) - เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๖๒๒ พระเจ้ากนิษกะของอินเดียทรงตั้งขึ้น ใช้ในศิลาจารึกและเอกสารประวัติศาสตร์ของไทยบ้าง แต่น้อยกว่าจุลศักราช
 
                             ฮิจญ์เราะหฺศักราช (ฮ.ศ.) - เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๑๙๖๖ เมื่อปีที่ท่านนบีมุฮัมมัดอพยพจากเมืองเมกกะ (มักกะหฺ) ไปยังเมืองเมดีนา (มะดีนะหฺ) นิยมใช้ในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ชาวไทยมุสลิมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันใช้ฮิจญ์เราะหฺศักราชเพื่อประกอบศาสนกิจ
 
                             จุลศักราช (จ.ศ.) - เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๑๑๘๒ โดยนับเอาวันที่พระพม่า นามว่า "บุพโสระหัน" สึกออกมาเพื่อชิงราชบัลลังก์ นิยมใช้ในเอกสารประวัติศาสตร์ของไทยเรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์
 
                             รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) - เริ่มใช้ในรัชกาลที่ ๕ โดย "เริ่มนับ" ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๒๖ อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสร้างกรุงเทพมหานคร (เลิกใช้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
 
                             ศักราชทุกชนิดไม่มีศักราช ๐ เช่น ก่อน ค.ศ. ๑ คือ ๑ ปีก่อนคริสตกาลเป็นวิธีนับแบบปูรณสังขยา ยกเว้นพุทธศักราชที่นับอย่างไทย เป็นการนับแบบปกติสังขยา เป็นต้น
 
 
 
 
 
 
--------------------------
 
(คำวัด : พ.ศ.-ค.ศ.-ฮ.ศ-ม.ศ : โดย...พระธรรมกิตติวงศ์)
 
 
 
 
 
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ