พระเครื่อง

'สิทธิ์ อุบล'รอด!ด้วยพุทธคุณหลวงปู่รอด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'สิทธิ์ อุบล'รอด!ด้วยพุทธคุณหลวงปู่รอด : พระเครื่องคนดัง เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

               "เดิมทีผมทำงานที่กรมทางหลวง จากนั้นลาออกมาเป็นผู้รับเหมา แต่ทำไม่เท่าไรก็ต้องเลิก เพราะพิษเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ไม่รู้จะทำอะไร เห็นว่าคนขายพระรายได้ จึงเอาพระที่ซื้อไว้เมื่อครั้งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างออกมาขาย โดยเฉพาะพระหลวงปู่ทวด เช่น ปี ๒๕๐๕ หลวงปู่ทวดหลัง ว จุด และหลวงปู่ทวดหลังหนังสือ เป็นต้น สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า ที่มีวันนี้ได้เพราะคุณพระช่วยจริงๆ" นี่เป็นการเดินเข้าสู่วงการพระเครื่องของ นายวีรยุทธ วรรณรัตน์ ประธานกรรมการบริหารภาคอีสาน เขต ๕ สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย หรือที่รู้จักกันในนาม "สิทธิ์ อุบล"

               ทั้งนี้ "สิทธิ์ อุบล" ยอมรับว่า ช่วงที่จตุคามรามเทพได้รับความนิยมสูงสุด ทำให้สามารถปลดเปลื้องหนี้สินหลายสิบล้านบาทจากการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยได้มาเปิดร้านจตุคามฯ ในยุคแรกๆ ทุกวันนี้แม้กระแสจตุคามฯ จะหมดความนิยมไปจากคนไทย แต่ "สิทธิ์ อุบล" ยังคงใช้คำว่า "ราชาจตุคามรามเทพ" เป็นชื่อของร้าน ด้วยเหตุผลที่ว่า "ไม่ว่าองค์พ่อจตุคามฯ ไม่ได้รับความนิยมแล้วก็ตาม แต่ตนเองยังมีความศรัทธาเช่นเดิม ที่มีอยู่มีกิน และใช้หนี้สินหมดก็เพราะองค์พ่อจตุคามฯ นี่แหละ"

               จากประสบการณ์เปิดร้านให้เช่าบูชาพระ สิ่งหนึ่งที่ "สิทธิ์ อุบล" กล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่า "ปัจจุบันต้องยอมรับว่า พระเก่า พระกรุ มีคนเล่นหากันน้อยมาก โดยเฉพาะคนเล่นพระรุ่นใหม่ไม่นิยมพระกรุเลย แต่จะเน้นเฉพาะพระเกจิอาจารย์เท่านั้น ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ "เกิดทัน และดูเองเป็น ไม่จำเป็นต้องมีคนสอน ที่สำคัญ คือ ราคาไม่แพง มีกำลังซื้อและสามารถขายต่อได้ในราคาดีมีกำไร"

               ในฐานะประธานกรรมการบริหารภาคอีสาน เขต ๕ "สิทธิ์ อุบล" ได้ลำดับความนิยมพระเครื่องของ จ.อุบลราชธานี ไว้ดังนี้ ๑.เหรียญรุ่นแรก พระครูวิโรจน์ หรือ หลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง สร้าง พ.ศ.๒๔๘๓ เหรียญหลวงปู่สวน รุ่นแรก พ.ศ.๒๕๒๐ พระกริ่งศรีอุบล สร้าง พ.ศ.๒๕๑๖ เหรียญพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง สร้าง พ.ศ.๒๕๑๖ ร่วมทั้งเหรียญรุ่นแรก หลวงปู่ชา วัดหนองป่าพง เป็นต้น ส่วนพระกรุใน จ.อุบลราชธานี นั้นไม่ปรากฏว่ามีพระกรุเลย พระเก่าที่เล่นหากันส่วนใหญ่เป็นพระศิลปะเชียงรุ้งจากฝังลาว

               "ปัจจุบันผมแขวนเหรียญหลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง เพียงองค์เดียวเท่านั้น นอกจากคำร่ำลือเรื่องปาฏิหาริย์แล้ว ส่วนตัวเพราะชอบชื่อของท่านว่า รอด เมื่อทำอะไรก็จะรอด ที่สำคัญ คือ รอดพ้นจากภัย อันตรายทั้งปวง โดยแขวนมากกว่า ๑๐ ปีแล้ว" สิทธิ์ อุบลกล่าว

               พร้อมกับบอกด้วยว่า พระเกจิร่วมสมัยที่ได้รับความนิยมและยังมีชีวิตอยู่ เช่น หลวงปู่อ่อง ฐิตธัมโม แห่งวัดสิงหาญ อ.ตระการพืชผล พระวิปัสสนากรรมฐานสายหลวงปู่สมเด็จลุน หลวงปู่เร็ว ฉันทโก เจ้าอาวาสวัดหนองโน อ.ตาลสุม ต.ระเว อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี มีหลวงปู่เก่ง ธนวโร หรืออีกนามว่า หลวงปู่ไก่ชน วัดกิตติราชเจริญศรี (บ้านนาแก) อ.พิบูลมังสาหาร แต่ที่ได้รับความนิยมและกล่าวถึงกันมากในขณะนี้ คือ หลวงพ่อเขียน แห่งสำนักสงฆ์ป่าช้าบ้านโพนสิน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ท่านได้ออก "พระขุนแผน ผงพรายกุมาร มนต์มหาจินดามณี"

               สำหรับเหตุผลที่ทำให้ "พระขุนแผน ผงพรายกุมาร มนต์มหาจินดามณี" หลวงพ่อเขียนได้รับความนิมยมนั้น "สิทธิ์ อุบล" บอกว่า มาจากหลายๆ ส่วนรวมกัน ส่วนหนึ่งเกิดจาก อาจารย์ชินพร สุขสถิตย์ ประธานมูลนิธิหลวงปู่ทิม อิสริโก เป็นผู้ที่เลื่อมใสศรัทธา "พระครูภาวนาภิรัต" หรือ "หลวงปู่ทิม อิสริโก" พระเกจิชื่อดังแห่งวัดละหารไร่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ต้นตำรับวัตถุมงคลผงพรายกุมารและพระกริ่งชินบัญชร อันเลื่องชื่อ ได้ประกอบบวงสรวงฯ พิธีเปิดฟ้า เปิดดิน เปิดบาดาล ในพิธีพุทธาภิเษกเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ มีพระคณาจารย์เจริญพุทธมนต์มากถึง ๙๙ รูป

               อย่างไรก็ตาม นอกจากเปิดร้านขายพระตามปกติแล้ว "สิทธิ์ อุบล" ยังเป็นเจ้าของ "www.pra-esan.com" ใครที่มาเช่าบูชาก็จะรับประกันพระแท้ภายในระยะเวลา ตลอดชีพ นับตั้งแต่วันที่ท่านได้รับพระ หากเก๊ยินดีคืนเงินเต็มจำนวนไม่หักเปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้พระต้องอยู่ในสภาพเดิม ไม่ชำรุดหักบิ่น เสียสภาพ ล้างผิว โดยยินดีรับซื้อคืนในราคาตลาดขณะนั้น
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ