
เหรียญหลวงพ่อทวดวัดช้างให้พิมพ์พุทธซ้อนเล็ก
เหรียญหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ พิมพ์พุทธซ้อนเล็ก(เหรียญขี่คอ)ปี ๒๕๐๙ : ปกิณกะพระเครื่อง
วันนี้...คอลัมน์ “ปกิณกะพระเครื่อง” ขอเสนอข้อมูล เหรียญหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ รุ่นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง และมีความเกี่ยวเนื่องกันกับพิมพ์หรือบล็อกอื่นๆ โดยได้ความอนุเคราะห์จาก ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ที่ให้ทั้งภาพและข้อมูลเชิงเทคนิคประกอบคอลัมน์นี้อีกเช่นเคย
โดยปกติ เหรียญหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ จะมีองค์ หลวงพ่อทวด อยู่ด้านหน้า และองค์ พระอาจารย์ทิม อยู่ด้านหลังเหรียญเสมอ
แต่มีเหรียญหนึ่ง คือ เหรียญหลวงพ่อทวด พิมพ์ “พุทธซ้อน” ปี ๒๕๐๙ จัดเป็นพิมพ์พิเศษ ที่แตกต่างไปจากเหรียญรุ่นอื่นๆ คือ ด้านหน้าจะมีองค์ พระอาจารย์ทิม อยู่ตรงกลาง เบื้องหลังมีองค์ หลวงพ่อทวด อยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้นไป ลักษณะซ้อนกัน อันเป็นที่มาของชื่อเหรียญรุ่นว่า พิมพ์ “พุทธซ้อน” หมายถึง พระพุทธซ้อนกัน ๒ องค์
แต่ผู้คนส่วนใหญ่เห็นเป็นภาพ หลวงพ่อทวด นั่งอยู่บนไหล่ พระอาจารย์ทิม จึงเรียกกันว่า “เหรียญขี่คอ”
สำหรับคำว่า “พุทธซ้อน” มีบางท่านเขียนว่า “พุดซ้อน” หรือ “พุฒซ้อน” ซึ่งไม่ทราบว่าได้มาจากไหน
คนสมัยก่อนบอกว่า คำว่า “พุทธซ้อน” มาจากองค์พระซ้อนกัน ๒ องค์ ซึ่งในภาพเป็น หลวงพ่อทวด และ พระอาจารย์ทิม ไม่ใช่พระพุทธ ซึ่งตรงกับความเป็นจริงมากกว่า
ส่วนด้านหลังเหรียญเป็นภาพ สถูปเจดีย์ อันเป็นสถานที่เก็บอัฐิหลวงพ่อทวด มาแต่ครั้งเก่าก่อน...โดยมีองค์พระพุทธรูปยืนเล็กๆ ที่ช่องเจดีย์ดังกล่าว (ต่างกับเหรียญพุทธซ้อน และเหรียญหน้าเลื่อน ปี ๒๕๑๑ จะไม่มีองค์พระนี้)
ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ ได้ให้ข้อมูลว่า...เหรียญพุทธซ้อน ปี ๒๕๐๙ นี้ มีทั้ง เหรียญพุทธซ้อนใหญ่ เนื้ออัลปาก้าเปียกทอง ตามประวัติระบุว่า สร้างจำนวนจำกัดเพื่อแจกกรรมการผู้จัดสร้างพระ
และ เหรียญพุทธซ้อนเล็ก มีทั้งแบบเนื้ออัลปาก้าไม่ชุบนิกเกิล ที่เรียกว่า “เหรียญอัลปาก้าเปลือย” ถือเป็นพิมพ์นิยม...และเน้นนำเสนอในคอลัมน์นี้ (เหรียญโชว์ที่ ๑-๔)
และแบบชุบนิกเกิล ทั่วไปเรียกว่า บล็อกชุบ การชุบนิกเกิลนี้ทำเพื่อพรางความไม่คมชัดของเหรียญ (เมื่อเทียบกับเหรียญอัลปาก้าเปลือย) เนื่องจากกระบวนการปั๊มช่วงหลังๆ
เหรียญทั้ง ๒ พิมพ์นี้ใช้ ตัวตัด เดียวกัน และเป็นตัวตัดอันเดียวกับ เหรียญเลื่อนสมณศักดิ์ ปี ๒๕๐๘ ซึ่งเป็นตัวตัดละเอียด หรือพิมพ์ปีกกว้าง (หากพิจารณา รอยตัดขอบเหรียญอย่างละเอียดตลอดขอบเหรียญในกรณีเหรียญที่สมบูรณ์ จะเห็นว่า เหมือนกันทุกประการ ทั้ง ร่องฟันปลา และ รอยนูน ของทิวเนื้อ)
ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เหรียญหลวงพ่อทวด พิมพ์พุทธซ้อน ปี ๒๕๐๙ นี้ถือได้ว่า มีการออกแบบได้วิจิตรงดงามมาก รายละเอียดมีมากกว่าเหรียญอื่นๆ ในตระกูล เหรียญวัดช้างให้ ที่ทันยุค พระอาจารย์ทิม ปลุกเสก
ลักษณะพิเศษเฉพาะเหรียญรุ่นนี้ คือ
๑.เป็นเพียงเหรียญเสมา ๑ ใน ๒ เหรียญ ที่ด้านหน้าเหรียญตรงแถบซุ้มใต้คอหูเหรียญ ไม่ได้เป็นลักษณะอนุกรมของ ช่องสี่เหลี่ยม ข้าวหลามตัด (และมีจุดตรงกลาง) แต่เหรียญรุ่นนี้เป็นตัวอักษรคำว่า “หลวงพ่อทวดวัดช้างให้” กรณีพิมพ์พุทธซ้อนเล็ก และเป็นรอยขยักฟันปลา กรณีพิมพ์พุทธซ้อนใหญ่
เหรียญเสมาอีกรุ่นหนึ่ง ที่มีความพิเศษตรงแถบซุ้มใต้คอหูเหรียญ คือ เหรียญรุ่นหนึ่ง หรือ เหรียญหัวโต ปี ๒๕๐๐ จะเป็นตัวยันต์ในแถบนี้
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาด้านหลังของเหรียญพุทธซ้อน ทั้งพิมพ์เล็กและพิมพ์ใหญ่ ตรงแถบใต้คอหูเหรียญจะมีตัวอักษรคำว่า “สถูปหลวงพ่อทวด” ซึ่งไม่เคยพบในเหรียญหลวงพ่อทวด รุ่นอื่นๆ เลย
๒.เป็นเหรียญเสมาเพียงเหรียญเดียว ที่มีองค์ประกอบหลายอย่างภายในเหรียญเดียวกัน คือ นอกเหนือจากที่กล่าวในข้อ ๑ แล้ว ยังมี อักขระยันต์โบราณ และอักษรไทย หลายตำแหน่ง ทั้งด้านหน้าและหลังเหรียญ มี ช้าง ที่หมอบอยู่ทั้งด้านหน้า และหลังเหรียญถึง ๔ เชือก มี สถูป และ องค์พระพุทธรูป ประทับยืน ในช่องของสถูป และตัวเลขปีที่สร้าง “๒๕๐๙”
ทั้งนี้ ยังมีเหรียญอีกชุดหนึ่ง คือ เหรียญพุทธซ้อน และ เหรียญหน้าเลื่อน ปี ๒๕๑๑ ที่นำเอาพื้นฐานจากเหรียญพุทธซ้อน ปี ๒๕๐๙ นี้ไปสร้างต่อ โดยเอาแม่พิมพ์เดิมไปแกะตกแต่งพิมพ์เพิ่มเติม หรือลบบางจุดออก (เช่นลบองค์พระตรงช่องของสถูป และปีที่สร้าง ๒๕๐๙ ออก แต่มีบางเหรียญลบไม่หมด ยังมีเลข ๕ ปรากฏรางๆ) เป็นต้น
ทำให้ภาพโดยรวมของเหรียญปี ๒๕๐๙ และ ปี ๒๕๑๑ มีความคล้ายคลึงกัน
เหรียญพุทธซ้อนเล็ก แบบเนื้ออัลปาก้าไม่ชุบนิกเกิลนี้ มักจะมีร่องรอยยุบบริเวณดั้งจมูก อันเนื่องจากมีการคีบจับตัวเหรียญ ในระหว่างการขัดผิวเหรียญ และมักปรากฏยาดำ จากการขัดผิวนี้ แทรกอยู่ตามซอกตัวอักษร หรือยันต์ ซึ่งเกิดขึ้นใน เหรียญเลื่อนสมณศักดิ์ ปี ๒๕๐๘ และเหรียญอื่นๆ บางพิมพ์ เช่นกัน
เหรียญที่โชว์ทั้งหมดนี้ เป็น เหรียญหลวงพ่อทวด “พุทธซ้อนเล็ก” ปี ๒๕๐๙ เนื้ออัลปาก้า ที่มีสภาพสวยสมบูรณ์ เพราะไม่ผ่านการใช้มาก่อน และเป็นเหรียญแชมป์จากการประกวดมาแล้วหลายครั้ง
จุดเด่น คือ ปั๊มได้คมชัดทุกมิติ มีจมูกที่โด่งคมสัน ธรรมชาติของผิวยาขัด ยังปรากฏอย่างสมบูรณ์ เสริมเสน่ห์ให้เหรียญชุดนี้มีความงดงามคมชัดเป็นอย่างยิ่ง ถือเป็น เหรียญแท้องค์จริง เหรียญสวยองค์ครู ได้อย่างเต็มร้อย
ขอขอบพระคุณ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เจ้าของเหรียญหลวงพ่อทวด ทั้ง ๔ เหรียญนี้ และเป็นผู้ให้ข้อมูลเชิงเทคนิคประกอบคอลัมน์นี้มาโดยตลอด