พระเครื่อง

หลวงปู่ทวดวัดช้างให้๗ฉอมตะแห่ง'พระนิรันตรายประสบการณ์ชัดเจน'

หลวงปู่ทวดวัดช้างให้๗ฉอมตะแห่ง'พระนิรันตรายประสบการณ์ชัดเจน'

15 ธ.ค. 2557

หลวงปู่ทวดวัดช้างให้๗ฉอมตะแห่ง'พระนิรันตรายประสบการณ์ชัดเจน' : พระองค์ครู เรื่องไตรเทพ ไกรงู


               "พระหลวงปู่ทวด วัดช้างให้" ถือเป็นพระประเภทนิรันตรายที่มีประสบการณ์ชัดเจน มีประสบการณ์ด้านแคล้วคลาดจากอุบัติเหตุเป็นเลิศ ผู้ที่นับถือต่างพบเห็นประสบการณ์มากมาย จนมีคำพูดว่า “แขวนพระหลวงปู่ทวดแล้วไม่ตายโหง"

               เรื่องเล่าหนึ่งที่กลายเป็นตำนานแห่งความเข้มขลัง คือ ตำนานการสร้างพระหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพล ฑิฆัมพร หรือพระองค์ชายกลาง เนื่องจากท่านทรงคบหาสนิทสนมเป็นมิตรกับคหบดีใหญ่ปักษ์ใต้ คือ คุณอนันต์ คณานุรักษ์ และได้รับมอบพระเครื่องหลวงปู่ทวดเนื้อว่าน พ.ศ.๒๔๙๗ ซึ่งสร้างโดยพระครูวิสัยโสภณ (พระอาจารย์ทิม ธมมธโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดช้างให้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี มาหนึ่งองค์ โดยทรงบูชาติดตัวประจำ

               ครั้งหนึ่งรถยนต์ที่พระองค์ชายกลางประทับเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ แต่พระองค์ไม่มีอันตรายแม้แต่รอยขีดข่วน ทำให้ท่านเกิดความศรัทธาในองค์หลวงปู่ทวด วัดช้างให้อย่างสูง และเมื่อวัดโดยพระอาจารย์ทิม และคุณอนันต์ จะจัดสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวด พ.ศ.๒๕๐๕ ท่านจึงปวารณาตัวขอเป็นผู้อุปถัมภ์ในการจัดสร้าง และได้นำชนวนโลหะอันศักดิ์สิทธิ์มาเทหล่อเป็นเนื้อโลหะต่างๆ ที่กรุงเทพมหานคร กลายเป็นพระรุ่น พ.ศ.๒๕๐๕ ที่ลือลั่นมาจนถึงปัจจุบัน

               ในการจัดสร้างพระครั้งนั้น เนื่องด้วยเสด็จพระองค์ชายกลางเป็นผู้อุปถัมภ์ จึงสำเร็จลุล่วงด้วยดี และท่านได้จัดสร้าง "พระกริ่ง" อันงดงามด้วยพุทธลักษณะขึ้นในครั้งนั้นด้วย เมื่อหล่อพระกริ่งได้โปรดให้ช่างแกะแม่พิมพ์ขึ้นและเททองปลุกเสกโดยพระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ พร้อมกันกับพระเครื่องหลวงปู่ทวด พ.ศ.๒๕๐๕
 
               หลังเสร็จจากพิธีเสด็จท่านได้ถวายพระกริ่งซึ่งสำเร็จขึ้นมีพุทธลักษณะงดงามให้วัดช้างให้จำนวน ๓๐๐ องค์ ซึ่งเรียกกันต่อมาว่า "พระกริ่งใหญ่หลวงปู่ทวด" หรือ "พระกริ่งวัดช้างให้" ส่วนที่เหลือทรงนำมาถวายให้วัดตาก้อง ด้วยพระองค์ชายกลาง ได้ฝากตัวเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง และปลุกเสกอีกวาระโดยเกจิอาจารย์สายนครปฐม ผู้คนเรียกกันว่า "พระกริ่งเฉลิมพล" ซึ่งทั้งสองประเภทได้รับความนิยมแสวงหาจากนักสะสมอย่างยิ่ง และต่อมาผู้คนก็พลอยเรียกพระกริ่งของวัดช้างให้ว่าพระกริ่งเฉลิมพลไปด้วย

               สำหรับภาพพระองค์ครูฉบับนี้เป็น "หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ ๗ ฉ เนื้อทองคำ" ที่อยู่ในความครอบครองของนายสุขธรรม ปานศรี หรือที่คนในวงการรถยนต์รู้จักในชื่อ “เฮียกุ่ย” ทั้งนี้ ได้ใช้เวลากว่า ๒ ปี และใช้เงินไปหลายสิบล้านบาทในการแสวงหาพระหลวงปู่ทวดทองคำ ปี ๐๕ ที่ตอกโค้ด ฉ และลายเซ็นพระองค์เจ้าเฉลิมพล ในที่สุดเขาก็มีหลวงปู่ทวด เตารีด ทองคำ ครบตั้งแต่ ๑ ฉ ถึง ๙ ฉ ที่ใครๆ ไม่มี

               สำหรับได้พระหลวงปู่ทวด ๓ ฉ ๒ ลายเซ็น เนื้อทองคำ องค์แรก เฮียกุ่ย บอกว่า ได้แบ่งมาจากนายอุดม กวัสสราภรณ์ ที่คนในวงการนิยมเรียกว่า "เสี่ยดม" อดีตปูชนียบุคคลของวงการพระเครื่อง จากนั้นก็พยายามสืบหาเรื่อยมาและก็ได้พระจากทายาทของนายอนันต์ และนายจำเริญ โดยองค์ล่าสุดที่ได้เข้ามาเก็บในรัง คือ หลวงปู่ทวดทองคำ เตารีด ๘ ฉ ๘ ลายเซ็นพระองค์เจ้าเฉลิมพล