พระเครื่อง

เปิด'สวนสันติภาพ'ปรางค์กู่แห่งใหม่ในไทย

เปิด'สวนสันติภาพ'ปรางค์กู่แห่งใหม่ในไทย

14 ธ.ค. 2557

เปิด'สวนสันติภาพ'ปรางค์กู่แห่งใหม่ในไทย ผู้ว่าฯศรีสะเกษเล็งขยายสู่หมู่บ้านภูมิซรอล : สำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาโทสันติศึกษา มจร รายงาน

               คำว่า "สวนสันติภาพ" คนไทยส่วนใหญ่คงจะนึกถึง "สวนสันติภาพ" ซึ่งเป็นสวนสาธารณะในกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บริเวณถนนราชวิถีกับถนนรางน้ำ เขตราชเทวี ใกล้กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ตั้งชื่อเช่นนี้เพื่อเป็นการรำลึกสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ในต่างประเทศก็อย่างเช่นที่สวนลุมพินีสังเวชนียสถานพระพุทธเจ้าประสูติ ประเทศเนปาล ที่นางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น

               ขณะนี้สวนสันติภาพได้เกิดขึ้นมาใหม่แล้วในประเทศไทย โดยได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2557ที่ผ่านมา ตั้งอยู่ภายใน  "ลานวัด ลานธรรม ลานใจ" วัดบ้านท่าคอยนาง ต.สวาย อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ ภายใต้โครงการบวรของธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) สนับสนุนเป็นจำนวนเงิน 1,500,000 บาทดำเนินการก่อสร้าง โดยมีนางอังคณา ปิลันธน์โอวาท ไชยมนัส กรรมการผู้จัดการ ธอส. นายประทีป กีรติเรขา และนายชัยรัตน์ ขนิษฐบุตร รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกันเป็นประธานเปิด

               และมีผู้บริหารเจ้าหน้าที่  ธอส. นักศึกษาหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 5 ภายใต้การนำของพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) หัวหน้าโครงการหลักสูตรปริญญาโทสันติศึกษา   นิสิตปริญญาโท หลักสูตรสันติศึกษา มจร และประชาชนบ้านท่าคอยนาง รวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่อำเภออุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ที่บวชเฉลิมพระเกียรติ และนักเรียนนักศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาจุลมณีศรีสะเกษบวชชีพราหมณ์  ร่วมงานเป็นจำนวนมาก

               สวนสันติภาพแห่งนี้เกิดขึ้นมาจากการใช้หมู่บ้านท่าคอยนางเป็นหมู่บ้านช่อสะอาดต้นแบบปลอดการทุจริตคอร์รัปชั่นระดับรากหญ้า ตามโครงการของ ป.ป.ช.  ที่ได้มอบหมายให้นักศึกษา นยปส.  รุ่นที่ 5 ภายใต้การนำของพระมหาหรรษา ค้นคว้าวิจัยต้นแบบของ "หมู่บ้านช่อสะอาด" ภายใต้หัวข้อเรื่อง "รูปแบบการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด : ศึกษาวิเคราะห์หมู่บ้านท่าคอยนาง ต.สวาย อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ" และได้สรุปเสนอโครงการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเตรียมนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ต่างๆ 

               นางอังคณากล่าวว่า กิจกรรม "บวร" ถือเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับหนึ่งในพันธกิจของธนาคารที่ต้องการมุ่งสร้างองค์กรให้มีการกำกับดูแลที่ดี และร่วมสร้างสรรค์สังคมสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี และยังเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม(CSR)ของ ธอส. ทั้งทางด้านของการสร้างโอกาสด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา และศาสนา ซึ่งธนาคารได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 ในหลายจังหวัด ขณะนี้สามารถดำเนินการไปแล้วกว่า 1,700 หมู่บ้าน

               "สำหรับโครงการที่หมู่บ้านท่าคอยนางนี้ประกอบด้วย 3 กิจกรรมคือ 1.กิจกรรมพัฒนาสังคม ชุมชนให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี โดยปรับปรุงซ่อมแซมบ้านของชาวบ้านที่มีฐานะยากจนจำนวน 11 หลังคาเรือน 2.กิจกรรมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาโดยโครงการสร้าง "ลานวัด ลานธรรม ลานใจ" ดังกล่าว  และ 3.กิจกรรมส่งเสริมการศึกษาให้แก่เยาชนในโรงเรียนบ้านท่าคอยนาง โดยการสร้างอาคารเรียนสำหรับเด็กอนุบาลพร้อมส่งมอบชั้นวางหนังสือและมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนจำนวน 74 ทุน" กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าว

               นายประทีป กล่าวว่า โครงการภายในหมู่บ้านท่าคอยนางครั้งนี้ถือว่าเป็นการฟื้นรูปแบบที่ดีๆในอดีตให้กลับคือมาอีกครั้งคือ "บวร" ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ครบวงจาร สำหรับจังหวัดศรีเกษนั้นหลังจากนี้ตนจะประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านในสังกัดเพื่อมอบโครงการนี้เป็นนโยบายของการพัฒนา โดยจะนำมาดูงานที่บ้านท่าคอยนางแห่งนี้แล้วนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตัวเองโดยนำร่องตำบลละ 1-2 หมู้บ้าน หลังจากนั้นก็จะขยายไปเต็มที่พื้นที่ รวมถึงหมู่บ้านภูมิซรอล อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ติดชายแดนประเทศกัมพูชา ก็จะนำชาวบ้านมาดูงานที่นี้แล้วนำไปประยุกต์ใช้เช่นกัน และทางจังหวัดก็พร้อมจะให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ

               ขณะที่นายชัยรัตน์กล่าวในลักษณะเช่นเดียวกันว่า จะได้มอบหมายสั่งการให้ ป.ป.ช.จังหวัดนำโครงการนี้ไปขยายผลเริ่มต้นจังหวัดละ 1-2 หมู่บ้าน

               พระมหาหรรษา กล่าวว่า ต่อไปนี้สวนสันติภาพแห่งนี้จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้สักการะหน่อต้นโพธิ์จากประเทศศรีลังกาเดือนละ 1 ครั้งในวันที่ 9 และวันสำคัญทางศาสนา ทั้งนี้เพื่อให้หน่อต้นโพธิ์ได้เติบโตอย่างเต็มที่

               "สวนสันติภาพแห่งนี้ นอกจากจะเป็นแหล่งฝึกฝนพัฒนากลุ่มคนที่จะก้าวไปสู่การเป็นวิศวกรสันติภาพอย่างสมบูรณ์แบบตามแนวทางของสันติปณิธานแล้ว ยังจะเป็นสวนที่พุทธศาสนิกชนจากทิศทั้ง 4 ได้ยังจิตให้เลื่อมใสเดินทางมากราบสักการะ และพัฒนาโพธิใต้ร่วมเงาของต้นโพธิ์ตามแนวทางของมรรค 8 ต่อไป อันจะส่งผลต่อการพัฒนาสันติธรรมให้งอกงามทั้งภายในและภายนอก และนำเมล็ดพันธุ์แห่งสันติธรรมไปหว่านในดินแดนต่างๆ ให้สมกับพุทธประสงค์ที่ว่า "เธอทั้งหลายจงเที่ยวไป เพื่อเกื้อกูล เพื่ออนุเคราะห์ เพื่อความสุขแก่ชาวโลก" เบื้องหลังของหยาดเหงื่อและความทุ่มเทเสียสละในทุกวินาทีของลมหายใจในครั้งนี้ ขอสันติธรรมได้โปรดงอกงาม และผลิบานขึ้นภายใจของผู้ใฝ่สันติธรรมตลอดไปพระมหาหรรษา" กล่าว

               จากโครงการนี้แสดงให้เห็นว่าแนวคิดการพัฒนาแบบ "บวร" ของดีของไทยในอดีต สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างได้ผล ก็ขึ้นอยู่กับผู้นำจะเห็นความสำคัญมากน้อยเพียงใดหรือว่าจะเฮโลตามโลกตะวันตกบริโภคนิยม