
'พระหยกเชียงราย ณ วัดพระแก้ว จ.เชียงราย'
'พระหยกเชียงราย ณ วัดพระแก้ว จ.เชียงราย' : ท่องไปในแดนธรรม เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
วัดป่าญะ หรือป่าเยียะ เป็นชื่อเดิมของวัดพระแก้ว ตั้งอยู่ถนนไตรรัตน์ ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย เป็นวัดเก่าแก่สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่บริเวณนี้มีไม้ไผ่ชนิดหนึ่งคล้ายไผ่สีสุก ไม่มีหนามชาวบ้านนิยมนำไปทำคันธนู และหน้าไม้ คงจะมีมากในบริเวณนี้ชาวเชียงรายจึงเรียกว่า "วัดป่าเยียะ"
เมื่อ พ.ศ.๑๙๗๗ ฟ้าผ่าเจดีย์วัดนี้จึงได้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทองอยู่ภายในเจดีย์ ต่อมารักกะเทาะออกบริเวณพระนาสิกจึงได้พบว่าเป็นพระพุทธรูปสีเขียวที่สร้างด้วยหยก นั่นก็คือ พระแก้วมรกต ชาวบ้านจึงเรียกชื่อเสียใหม่ว่า "วัดพระแก้ว" หลังจากนั้นได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ เมืองต่างๆ ตามตำนานโบราณ (พระภิกษุพรหมราชปัญญา แต่งเป็นภาษาบาลีไว้เมื่อ พ.ศ.๒๒๗๒) ชื่อหนังสือรัตนพิมพวงศ์ พระนาคเสนเถระ เป็นผู้สร้างด้วยแก้วอมรโกฏิ ที่เทวดานำมาจากพระอินทร์มาถวาย ที่เมืองปาฏลีบุตร (ปัจจุนบัน เมืองปัตนะ รัฐพิหาร อินเดีย)
ต่อมาได้อัญเชิญไปประดิษฐานยังที่ต่างๆ ดังนี้ ๑.เกาะลังกา ๒.กัมพูชา ๓.อินทาปัฐ (นครวัด) ๔.กรุงศรีอยุธยา ๕.ละโว้ (ลพบุรี) ๖.วชิรปราการ (กำแพงเพชร) ๗. เชียงราย (พ.ศ.๑๙๓๔-๑๙๗๙ ประดิษฐาน ๔๕ ปี) ๘. ลำปาง (พ.ศ.๑๙๗๙-๒๐๐๑ ประดิษฐาน ๓๒ ปี) ๙. เชียงใหม่ (พ.ศ.๒๐๑๑-๒๐๙๖ ประดิษฐาน ๘๕ ปี) ๑๐. เวียงจันทน์ (พ.ศ.๒๐๙๖-๒๒๑ ประดิษฐาน ๒๒๕ ปี) ๑๑.กรุงเทพมหานคร (พ.ศ.๒๓๒๑-ปัจจุบัน) ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ ได้รับพระราชทานนามว่า "พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร"
อย่างไรก็ตามในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เจริญพระชนมายุครบ ๙๐ พรรษา เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๓ คณะสงฆ์หนเหนือนำโดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม และอดีตเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ได้ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดเชียงราย ได้จัดสร้างพระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล หรือพระหยกเชียงราย
พุทธลักษณะพระหยกเชียงราย เป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะแบบเชียงแสน แกะสลักจากหินหยกชนิดที่ดีที่สุดของประเทศแคนาดา ปางสมาธิ ฐานเขียง พระโมลีเป็นต่อมกลม ขนาดหน้าตักกว้าง ๔๙.๗ เซนติเมตร สูง ๖๕.๙ เซนติเมตร ฐานแกะสลักด้วยหินหยกสีเขียวเป็นรูปบัวสูงประมาณ ๑ ศอก เป็นฐานบัวศิลปะเชียงแสน เครื่องทรงสร้างด้วยอัญมณีและทองคำ เครื่องทรงแบบเชียงแสน ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระแก้ว จ.เชียงราย
สำหรับหินหยกที่นำมาแกะสลักเป็นพระแก้วในครั้งนี้ เป็นหินหยกชนิดที่ดีที่สุดของประเทศแคนาดา แกะสลักโดยโรงงานหยกวาลินนานกู จงจูลู มหานครปักกิ่ง เมื่อโรงงานหยกได้แกะสลักหินหยกเป็นพระพุทธรูปเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้กราบอาราธนาสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ในฐานะประธานกรรมการอุปถัมภ์ฝ่ายสงฆ์ ได้เดินทางไปรับมอบพระพุทธรูปหยกที่มหานครปักกิ่ง เพื่ออัญเชิญมายังประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๓๔ และประกอบพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน และมีพระมหาเถระ ๓๗ รูป นั่งปรกบริกรรม เจริญภาวนาในพิธี เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๓๔
พิพิธภัณฑ์โฮงหลวงแสงแก้ว
อุโบสถเป็นพิพิธภัณฑ์โฮงหลวงแสงแก้ว มีลักษณะเป็นศิลปะแบบล้านนาประยุกต์ สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ ๕๒ พรรษา ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๐ โดยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดป้ายพิพิธภัณฑ์โฮงหลวงแสงแก้ว ในวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
พิพิธภัณฑ์โฮงหลวงแสงแก้ว จัดสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ ๑.เพื่อเป็นที่รวบรวมศิลปวัตถุที่สำคัญของวัด และสิ่งของที่มีผู้นำมาถวายให้อยู่เป็นระบบ อีกทั้งเป็นการสงวนรักษาไว้ตลอดไป ๒.จัดแสดงศิลปวัตถุแหล่านี้ให้แก่ผู้เข้าชมทุกกลุ่ม เช่นนักเรียน นักศึกษา ประชาชน อีกทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ และ ๓.เป็นแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัย ทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมล้านนา
สิ่งสำคัญที่จัดแสดงภายใน เช่น พระพุทธศรีเชียงราย ประดิษฐานเป็นพระประธานชั้นล่าง ออกแบบโดยอาจารย์เสนอ นิลเดช พระเจ้าทันใจ เป็นพระพุทธรูปโบราณอยู่คู่กับวัด ประดิษฐานเป็นพระประธานบนชั้นสอง พระธาตุของพระอรหันตสาวก พระพุทธรูปโบราณศิลปล้านนา เชียงรุ้ง พม่า เป็นต้น เครื่องใช้เกี่ยวกับทางศาสนาของล้านนา ได้แก่ สัตตภัณฑ์ หีดธรรม เครื่องบูชา ฉัตร ตุง เครื่องเงิน เครื่องเขิน เป็นต้น
เหรียญพระแก้วหยกเชียงรายที่ระลึก๖๐ปีทีโอที
เนื่องในโอกาส ๖๐ ปี บมจ.ทีโอที ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ นำผ้าพระกฐินพระราชทาน ทอดถวาย ณ วัดพระแก้ว จ.เชียงราย และในวาระนี้ นายวุฒิดนัย ฐิตะกสิกร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานชมรมอนุรักษ์วัฒนธรรม บมจ.ทีโอที ประธานจัดสร้างเหรียญพระพุทธรตนากร นววุติวัสสานุสรณ์มงคล หรือเหรียญพระแก้วหยกเชียงราย เพื่อหารายได้สมทบองค์พระกฐินพระราชทาน รวมทั้งนำกฐินไปทอดถวายอีก ๒ วัด คือ ๑.วัดฝั่งหมิ่น และ ๒.วัดห้วยปลากั้ง จ.เชียงราย
เหรียญพระแก้วหยกเชียงราย ที่ระลึก ๖๐ ปีทีโอที เป็นเหรียญทรงกลม ขอบแบบสตางค์ นัยว่าเพื่อเอาเคล็ดให้ผู้บูชาได้มีโชคลาภ มีทรัพย์มีเงินทอง ด้านหลังกรึงยันต์บรรจุพระมหายันต์โบราณล้านนา เรียกว่า พระพุทธเจ้าเบ่งฤทธิ์ อักขระมหายันต์ชั้นสูงของเมืองเหนือ ซึ่งมีพุทธานุภาพ ด้านอุดมโชคโภคทรัพย์ หนุนดวงชะตาเสริมบารมี คุ้มครองปกป้อง และเป็นเมตตามหานิยมยิ่งนัก ประกอบด้วย เนื้อทองคำ ๖๐ เหรียญ เนื้อเงิน ๖๐๐ เหรียญ เนื้อทองแดง ๑๖,๐๐๐ เหรียญ และเหรียญพิเศษเนื้อสัตตะโลหะหน้ากากชนวน และตะกั่วลองพิมพ์อีกจำนวนเล็กน้อย
ทั้งนี้ นายวุฒิดนัย ประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษกวัตถุมงคลชุดนี้ ในพระวิหารหลวงวัดพระแก้ว ต่อหน้าพระพักตร์เจ้าล้านทอง พระประธานอันสุดศักดิ์สิทธิ์ของเชียงราย วันอาทิตย์ที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๗ โดยพิธีตามฤกษ์ยามแห่งมหาสิทธิโชค ตามแบบโบราณล้านนา บวงสรวง ปลุกเสก โดยครูบาอาจารย์ผู้ทรงอภิญญา โดยมี พระธรรมราชานุวัตร เจ้าคณะภาค ๖ ประธานจุดเทียนชัย และร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสก ๑.พระราชสิทธินายก เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย ๒.พระครูขันติพลาธร เจ้าคณะอำเภอเมือง (ดับเทียนชัย) ๓.พระอาจารย์พบโชค วัดห้วยปลากั้ง ๔.ครูบาอริยชาติ วัดแสงแก้วโพธิญาณ ๕.ครูบาเจษฎา วัดห้วยสัก ๖.พระอาจารย์พยุงศักดิ์ วัดป่าแดด / พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๙ รูป เจริญพระพุทธมนต์แบบล้านนา และอีก ๔ รูปสวดพระมหาคาถาพุทธาภิเษก
อย่างไรก็ตามยังมีเหรียญจำนวนหนึ่งที่ยังให้บูชาไม่หมด ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบูชาทำบุญ ได้ที่โทร.๐๘-๙๐๐๗-๔๗๐๐ (คุณศรีพนม) หรือ ๐-๒๕๐๕-๔๔๑๔-๕ ผู้ดำเนินการประสาน เพื่อนำรายได้สมทบบุญในกฐิน ทีโอที ปี ๒๕๕๘ ต่อไป