
พระกริ่งอรหังวัดราชาฯปี ๒๔๙๖ถอดพิมพ์พระกริ่งปวเรศ
พระกริ่งอรหังวัดราชาฯปี ๒๔๙๖ถอดพิมพ์ พระกริ่งปวเรศ วัดบวรฯ : ปกิณกะ พระเครื่อง โดยตาล ตันหยง
พระกริ่งอรหัง วัดราชาธิวาส สามเสน กทม. ปี ๒๔๙๖ จัดสร้างโดยพระศาสน์โสภณ (ปลอด อถฺการี) เนื้อทองโลหะที่นำมาสร้างพระกริ่ง เป็นพระพุทธรูปบูชา สมัยเชียงแสน จากกรุต่างๆ
ในภาคเหนือ ที่ชำรุดแตกหัก เป็นจำนวนมาก แล้วนำมาหลอมเป็นเนื้อชนวนหลัก พร้อมทั้งทองพันปีของหลวงพ่อโอภาสี
นอกจากนี้ ก็ยังมีแผ่นทอง แผ่นเงินจารอักขระ ถูกต้องตามตำราดั้งเดิมทุกประการ
ประกอบพิธีเททอง ณ พระอุโบสถ วัดราชาธิวาส สร้างตามตำรา และพิธีการของการหล่อพระกริ่งทุกประการ รูปแบบของพระกริ่ง ถอดพิมพ์จาก พระกริ่งปวเรศ องค์ในพิพิธภัณฑ์วัดบวรนิเวศ เป็นต้นแบบ
เนื่องจากช่างในสมัยนั้นถอดแบบออกมาไม่ค่อยประณีตเท่าที่ควร จึงทำให้ พระกริ่งอรหัง วัดราชาฯ ไม่คมชัดสวยงามเท่าที่ควร จำนวนสร้างประมาณ ๘๐๐ องค์
พิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถ วัดราชาธิวาส โดยพระคณาจารย์ชื่อดังหลายท่านนั่งปรกปลุกเสกตลอดทั้งวันทั้งคืน
ในครั้งนั้น ทางวัดนำออกให้ทำบุญเช่าบูชาองค์ละ ๑,๐๐๐ บาท ซึ่งในสมัยนั้นนับว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างสูงมาก
การเททองหล่อ พระกริ่งอรหัง วัดราชาฯ เป็นการเทแบบหล่อตันทั้งองค์ แล้วจึงนำมาเจาะรูด้วยสว่านใต้ฐาน บรรจุเม็ดกริ่งภายหลัง แล้วอุดรูด้วยทองชนวน พร้อมกับตอกโค้ดคำว่า "อรหัง"
เป็นอักขระขอมแบบตัวบรรจง เส้นตัวตอกจะลึกคมชัด
เนื้อของพระกริ่งอรหัง วัดราชาฯ นี้ จะออกไปทางเนื้อสัมฤทธิ์ คล้ายกับเนื้อพระบูชาเชียงแสนสิงห์สาม องค์นี้สภาพสวยแชมป์ผิวเดิมๆ สีเหลืองทองทั้งองค์ สวยงามมาก ในทุกวันนี้พระ
สวยสภาพนี้หาของแท้ได้ยากยิ่ง
ขอขอบคุณ “เอ พระราหู” เจ้าของพระองค์นี้ พร้อมกับข้อมูลประกอบ