พระเครื่อง

ยันต์หลังพระหลวงปู่ศุขวัดปากคลองมะขามเฒ่าอ.วัดสิงห์

ยันต์หลังพระหลวงปู่ศุขวัดปากคลองมะขามเฒ่าอ.วัดสิงห์

03 พ.ย. 2557

ยันต์หลังพระหลวงปู่ศุขวัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท : ชั่วโมงเซียนโดย อ.โสภณ

               "พระหลวงปู่ศุขนั้นให้พุทธคุณ ทั้งด้านเมตตามหานิยม และด้านแคล้วคลาด คงกระพัน"

               ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นคติความเชื่อในพุทธคุณของพระเครื่องที่จัดสร้างโดยพระครูวิมลคุณากร หรือที่รู้จักกันในนามหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ปัจจุบันยังมี  ลูกหลานของท่านอยู่ที่บ้านใต้วัดปากคลองมะขามเฒ่าอีกหลายคน หรือแม้แต่ร้านค้าขายภายในบริเวณวัดเองก็ยังมี

               มีผู้กล่าวว่า หลวงปู่ศุขมีวิชาอาคมเวทย์มนต์เก่งมาก สามารถเสกใบไม้ให้เป็นตัวต่อ ตัวแตน เสกหัวปลีให้เป็นกระต่าย เสกก้านกล้วยให้เป็นงูได้ และเรื่องอภินิหารของขลัง คงกระพันชาตรี มีอีกมาก จนถึงกับพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ (ต้นราชสกุล อาภากร) หรือเสด็จเตี่ย ได้มาทดลองดู เห็นจริงจึงได้ยอมมอบตัวเป็นศิษย์ตั้งแต่นั้นมา และได้วาดภาพพุทธประวัติด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ที่อุโบสถด้านในหน้าอุโบสถ ซึ่งปรากฏจนทุกวันนี้

               หลวงปู่ศุข ท่านมีเมตตามากจึงมีศิษย์เป็นอันมากที่มาเรียนวิชาเหล่านี้ ท่านได้รับสมณศักดิ์ เป็นพระครูวิมลคุณากร และเป็นเจ้าคณะแขวง (ปัจจุบันเรียกว่าเจ้าคณะอำเภอ) เป็นองค์แรกของอำเภอวัดสิงห์ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเมื่อใด ท่านมรณภาพเมื่อ เดือน ๑ ปีกุน พ.ศ. ๒๔๖๖ ไม่ปรากฏวันที่ที่แน่นอน คำนวณอายุได้ ๗๖ ปี วันสวดพระพุทธมนต์ทำศพอยู่ ๗ วัน ๗ คืน จึงประชุมเพลิง

               สำหรับยันต์ที่ปรากฏบน "พระหลวงปู่ศุขพิมพ์บัวตุ่ม  ๕ เม็ด เนื้อทองคำ" คือ หัวใจธาตุ ๔ ที่ว่า "นะ(ธาตุน้ำ) มะ (ธาตุดิน) พะ(ธาตุไฟ) ธะ (ธาตุลม)"(อ่านจากมุมขวา)  หรือ น้ำ ดิน ไฟ ลม แต่คนมักท่องว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ ส่วนยันต์ตรงกลางในวงกลม คือ อะระหัง โดยใช้ตัว อะ กับ อัง ซ้อนกันอยู่ วงกลมใช้แทน ตัวนิคหิต ซึ่งเป็นคาถายอดหัวใจพระนิพพาน มักจะต่อด้วย "สุ คะ โค ภควา" เรียกว่า "หัวใจนวโลกุตรธรรม" วงกลมอีกนัยหนึ่งอาจหมายถึง วัฏฏสงสาร คือ การเวียนว่ายต่ายเกิดของสัตว์โลกนั่นเอง

               ส่วนยันต์บน "พระหลวงปู่ศุขพิมพ์บัวเล็บช้างทองคำ ๒๔๖๐" คือ คาถาพระเจ้า ๕ พระองค์ หรือ แม่ธาตุใหญ่ ที่ว่า "นะ โม พุ ธา ยะ" เป็นพระคาถาเก่าแก่มาแต่โบราณกาล ที่มีพุทธคุณครอบจักรวาล

               ในขณะที่ "เหรียญหลวงปู่ศุขนื้อทองคำ ปี ๒๔๖๖  ยันต์กลับ" ยันต์ที่เขียนรอบๆ เหรียญมี ๒ ชุด ด้านบนไม่ใช้คาถา แต่เป็นคำให้พรที่ว่า "อา ยุ วัน โณ สุข ขัง พลัง" โดยเขียนเป็นตัวขอม ส่วนด้านล่างเป็นคาถาพระเจ้า ๕ พระองค์ หรือแม่ธาตุให่มี่ว่า ที่ว่า "นะ โม พุ ธา ยะ" เช่นเดียวกับ ยันต์บน "พระหลวงปู่ศุขพิมพ์บัวเล็บช้างทองคำ ๒๔๖๐"

               ยันค์รูป ๓ เหลี่ยม คือ หัวใจปิฎก เรียกว่า ตรีปิฎกธรรมชันธา หมายถึง ธรรมอันยิ่งใหญ่ ๓ ประการ หรือพระไตรปิฎกนั่นเอง ใช้ว่า "มะ อะ อุ"

               ขอบคุณภาพ จาก “www.soonpraratchada.com"  นอกจากนี้แล้วยังมีภาพรวมทั้งพระองค์ที่ขึ้นชื้อว่าสวยแชมป์ สามารถเข้าชมความงามของพุทธศิลป์ของพระเนื้อทองคำชุดอื่นๆ ได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง


ยันต์นูน คือ นะ มหานิยม


               พระหลวงปู่ศุข พิมพ์หลังยันต์นูน นี้มีลักษณะของแม่พิมพ์คล้ายกับพิมพ์ตัดชิดมาก สังเกตดูพิมพ์จะตื้นกว่าพิมพ์ตัดชิดเล็กน้อย สันนิษฐานได้ว่าอาจจะนำแม่พิมพ์ของพิมพ์ตัดชิดมาถอดพิมพ์อีกที  ส่วนกรรมวิธีการหล่อคงจะเหมือนกัน  เพราะหล่อเป็นแผง  มีรอยประกบข้างเช่นเดียวกัน  เอกลักษณ์ของพระพิมพ์นี้ก็คือ  มีอักขระ "นะขึ้นยอด"  หรือ  "นะทรหด"  อยู่ที่ด้านหลัง 

               พระหลวงปู่ศุขพิมพ์นี้สร้างขึ้นในราวปลายปี ๒๔๖๓-๒๔๖๔ เพื่อฉลองงานยกมณฑป ซึ่งวัดปากคลองมะขามเฒ่าเริ่มสร้างมาตั้งแต่ปี ๒๔๕๖ (คงใช้เวลาหลายปีกว่าจะสร้างมณฑปเสร็จ)  เชื่อกันว่าพระพิมพ์นี้จำนวนที่สร้างคงจะเป็นหลักพันองค์ แต่เดิมค่อนข้างหายากมาก แต่เมื่อปี ๒๕๒๗ ได้มีการพบพระพิมพ์นี้บรรจุอยู่ในกล่องไม้ ใต้ฐานพระประธานโบสถ์วัดดอนตาล อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท จำนวนหนึ่ง

               ยันต์นูน ที่ว่า คือ "นะ มหานิยม"

               นะ มหานิยม ซึ่งเป็น ๑ ใน ๑๐๘ นะ ที่เหลาสาบรรดาเกจิโบราณท่านใช้ลงหลังเหรียญ ผ้ายันต์ต่างๆ ซึ่งเป็นการย่อมาจาก "นะ เมตตา โม กรุณา พุท ปรานี ธา ยินดี ยะเอ็นดู สารพัดศัตรู วินาสสันตุ อิติปิ โส ภาคะวา เห็นหน้าวาจา เอ็นดูด้วย นะโม พุทธายะฯ อุปเท่ห์การใช้ คือ ใช้ภาวนาคาถาก่อนออกจากบ้าน จะทำให้คนที่พบเจอมีความรู้สึกที่ดี การติดต่อใดๆก็จะราบรื่นไม่ติดขัด

               การต่อท้ายด้วย "นะ มะ อะ อุ" หมายถึง แก้ว ๔ ดวงใช้หนุนคาถาตัวอื่นๆ ให้มีความเข้มขลังขึ้น ถ้าต้องการให้เป็น "มหาอุด" ต้องเขียน ให้หางชนหัวปิด โดยเขียนด้านในว่า "มะ อะ อุ"

               การหนุนธาตุนั้นท่านให้หนุนด้วยแก้ว  ๔ ดวง ซึ่งแต่ละตัวมีความหมายดังนี้

               นะ คือ แก้วมณีโชติ

               มะ คือ แก้วไพฑูรย์

               อะ คือ แก้ววิเชียร

               อุ คือ แก้วปัทมราช


ความหมายแห่ง "อุ" ข้างยันต์กลับ


               พระหลวงปู่ศุขพิมพ์ประภามณฑล  "อุ" ข้างยันต์กลับ หมายถึง อุณาโลมใหญ่ ไม่ใช่ตัว "อุ" ที่ใช่ "ม ะ อะ อุ" หรือมช "มะ อุ อะ"

               อุณาโลม เป็นเครื่องหมายที่เกิดขึ้นเหนือหว่างคิ้วบริเวณหน้าผาก มีลักษณะเป็นทักษิณาวัตร (เวียนขวา) รูปก้นหอย ถือเป็นมหาปุริสสลักษณะอย่างหนึ่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครับ ดังนั้นอุณาโลมหมายถึง เครื่องหมายแห่งการตรัสรู้ หรือสัญลักษณ์แห่งพระพุทธเจ้านั่นเอง อุณาโลมนี้ขึ้นกับผู้เขียนเลขยันต์จะทำเป็น ๕ หยักหรือ ๙ หยักก็ได้

               ในขณะเดียวกันแต่โบราณมาก็นิยมใช้อักขระขอมตัว อุ แทนอุณาโลม หรือแทนพระพุทธองค์ ยันต์อุณาโลมรูปตัวอุตามอักขระขอม นับเป็นเครื่องหมายประจำชาติมีความสำคัญอย่างที่สุดในความเป็นไทยและแสดงถึงความผูกพันอย่างแนบสนิทของชาติและศาสนา เมื่อรัชสมัย ร.๑ ครั้งสงคราม ๙ ทัพ ขณะที่ประชุมพลเตรียมรับมือศึกใหญ่ที่สุดที่จะตัดสินความอยู่รอดของประเทศ ทหารจากที่ต่างๆ ก็เกิดการคุยทับถมกันเรื่องเครื่องรางของขลังของตน ตีกันนัวทั้งกองทัพ ร.๑ และกรมพระราชวังบวรฯ จึงเรียกเก็บริบเครื่องรางของขลังมาทั้งหมด แล้วทำพิธีพุทธาภิเษกผ้ายันต์อุณาโลมแจกให้เหมือนกันทั้งกองทัพ เป็นเหตุให้กองทัพไทยมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สามารถตีกองทัพพม่าที่มีกำลังมากกว่าแตกพ่ายได้ชัยชนะเป็นเด็ดขาด

               อักขระตัว อุ จึงนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าอุณาโลม และเป็นสัญลักษณ์หน้าหมวกของกองทัพบก ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของตราประจำหน่วยงานต่างๆ ของกองทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นส่วนหนึ่งของตราประจำรัชกาลที่ ๑ "มหาอุณาโลม" เป็นตรางา ลักษณะกลมรูปปทุมอุณาโลม มีอักขระ "อุ" อยู่ตรงกลาง ("อุ" มีลักษณะ เป็นม้วนกลม คล้ายลักษณะความหมายของพระนามเดิมว่า "ด้วง") ตรามหาอุณาโลมนี้ หมายถึงตาที่สามของพระอิศวร ซึ่งถือเป็นปฐมฤกษ์ในการตั้งพระบรมราชจักรีวงศ์  ล้อมด้วยกลีบบัว ซึ่งเป็นพฤกษชาติที่เป็นสิริมงคล ทางพระพุทธศาสนา