พระเครื่อง

เหรียญเม็ดแตงหลวงพ่อทวดเนื้อทองคำลงยาหน้าผาก ๔ เส้น พ.ศ.๒๕๐๖

เหรียญเม็ดแตงหลวงพ่อทวดเนื้อทองคำลงยาหน้าผาก ๔ เส้น พ.ศ.๒๕๐๖

27 ต.ค. 2557

เหรียญเม็ดแตงหลวงพ่อทวดเนื้อทองคำลงยาหน้าผาก ๔ เส้น พ.ศ.๒๕๐๖ : พระองค์ครู

                อาจารย์ทิม ธัมมธโร หรือ พระครูวิสัยโสภณ หรือ พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ เป็นผู้สร้างตำนานพระเครื่องหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ทั้งนี้ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ พระอาจารย์ทิม และนายอนันต์ คุณารักษ์ มีโอกาสพบกัน ณ วัดช้างให้ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดพระเครื่องหลวงพ่อทวดขึ้นเป็นครั้งแรก ตามภาพนิมิตเป็นรูปพระภิกษุชรานั่งขัดสมาธิบนดอกบัว มีองค์พระดำ นับแต่นั้นมาพระพิมพ์นี้ก็เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายสืบมาจนถึงปัจจุบัน


                เมื่อครั้งที่ พระอาจารย์ทิม ไปอยู่ที่วัดช้างให้ใหม่ๆ นั้น วัดช้างให้อยู่ในสภาพที่ถูกทิ้งร้างทรุดโทรม อาจารย์ทิมริเริ่มตกแต่งสถูปที่บรรจุอัฐิหลวงปู่ทวดให้เป็นที่น่าเคารพบูชา พระครูวิสัยโสภณดำริที่จะสร้างพระอุโบสถ โดยท่านได้ร่วมกับนายอนันต์จัดสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวด โดยทำพิธีปลุกเสก มี พระครูวิสัยโสภณ หรือ อาจารย์ทิม วัดช้างให้ เป็นประธานในพิธีและนั่งปรก ได้เงินจากผู้มีจิตศรัทธาที่มาเช่าพระเครื่องหลวงปู่ทวด ได้เงินมาสร้างพระอุโบสถและปรับปรุงบริเวณวัดช้างให้

                พระเครื่องชุดเล็กในตระกูล พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ที่ทันยุค พระอาจารย์ทิม ปลุกเสกมี ๒ ชุดหลัก คือ ชุดพระกลีบบัว และชุดเหรียญเม็ดแตง ปัจจุบันวงการนักสะสมพระเครื่องถือว่าพระชุดเหรียญเม็ดแตงจัดเป็นเหรียญที่มีกระแสมาแรงมาก เป็น เหรียญหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ที่มีขนาดเล็กที่สุด ส่วนใหญ่ที่พบเห็นเป็นเหรียญเนื้ออัลปาก้า ชุบนิกเกิล นอกจากนี้ยังมีเหรียญกะไหล่ทอง และเหรียญเนื้อทองคำ ซึ่งมีจำนวนสร้างน้อยมาก

                เหรียญเม็ดแตง หลวงพ่อทวด วัดช้างให้ จัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๖ ในปีนี้มีการจัดสร้างขึ้น ๒ ครั้ง ครั้งแรกสร้างเป็นเม็ดแตงหน้าผาก ๓ เส้น หนังสือเลยหู เส้นคอ ๕ เส้น สร้างจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากพระหลวงพ่อทวดเป็นที่นับถือของพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ทำให้เหรียญเม็ดแตงหน้าผาก ๓ เส้น หนังสือเลยหู เส้นคอ ๕ เส้นนี้ หมดไปจากวัดในเวลาที่รวดเร็วมาก และประชาชนทั่วไปที่ยังไม่มีเหรียญเม็ดแตงไว้บูชาเรียกร้องให้จัดสร้างขึ้นอีก หลังจากนั้นไม่กี่เดือนท่านอาจารย์ทิมจึงจัดสร้างขึ้นอีกครั้งหนึ่ง สร้างเป็นเหรียญเม็ดแตง หน้าผาก ๔ เส้น หนังสือเลยหู และสร้างมากกว่าครั้งที่สร้างเม็ดแตงหน้าผาก ๓ เส้น หนังสือเลยหู เส้นคอ ๕ เส้น  

                เหรียญเม็ดแตงนี้ผ่านการปั๊มจากหลายแม่พิมพ์ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ขณะเดียวกันก็มีการปั๊มจากแม่พิมพ์ที่สลับไขว้กัน ทั้งแม่พิมพ์ด้านหน้าและด้านหลัง โดยมีการตั้ง “ชื่อพิมพ์” ตามลักษณะทางกายภาพของเหรียญทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เช่น พิมพ์หน้าผาก ๔ เส้น หนังสือเลยหู นิยมที่สุด เรียกกันว่า “ราชาเม็ดแตง” ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็น ๒ พิมพ์, พิมพ์หน้าผาก ๓ เส้น หนังสือเลยหู แบ่งย่อยได้อีกหลายพิมพ์, พิมพ์ ณ (เณร) แตก หนังสือเลยหู และไม่เลยหู และพิมพ์ธรรมดา ซึ่งแบ่งย่อยอีกหลายพิมพ์ เป็นต้น

                สำหรับภาพพระองค์ครูฉบับนี้ เป็น "เหรียญเม็ดแตงหลวงพ่อทวด เนื้อทองคำลงยาหน้าผาก ๔ เส้น" ที่ขึ้นชื่อว่า "หากยากสุดๆ ในชุดเหรียญเม็ดแตง" ของ นายสุขธรรม ปานศรี หรือที่คนในวงการรถยนต์รู้จักในชื่อ “เฮียกุ่ย” นักสะสมพระหลวงพ่อทวดมานานกว่า ๑๐ ปี