พระเครื่อง

เหรียญเสมา'หลวงพ่อทวด'รุ่น๓บล็อกลงยาปี๒๕๐๔

เหรียญเสมา'หลวงพ่อทวด'รุ่น๓บล็อกลงยาปี๒๕๐๔

26 ต.ค. 2557

เหรียญเสมา'หลวงพ่อทวด'รุ่น๓บล็อกลงยาปี๒๕๐๔ : ปกิณกะพระเครื่อง โดยตาล ตันหยง

               เป็นที่ทราบกันดีว่า ในบรรดา เหรียญหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ทุกรุ่นทุกพิมพ์ พบว่า เหรียญรุ่น ๓ ส่วนใหญ่สร้างเป็นพิมพ์ทรงเสมา เหรียญรูปไข่ก็มี แต่มีน้อย นับได้ว่า เหรียญรุ่น ๓ เป็นเหรียญที่มีจำนวนสร้างมากที่สุด หลายครั้ง หลายพิมพ์ และหลายเนื้อ อาทิ เนื้อทองแดงรมดำ หรือลงกะไหล่ หรือผิวไฟ, เนื้ออัลปาก้า, เนื้อเงิน (ลงยาและไม่ลงยา) และเนื้อทองคำ เป็นต้น
 
               นอกจากนี้ เหรียญรุ่น ๓ ยังมีพิมพ์ย่อยๆ แยกออกไปอีกมากมายหลายพิมพ์ และหลายตัวตัดขอบ เมื่อเปรียบเทียบกับเหรียญรุ่นอื่นๆ
 
               วันนี้...คอลัมน์ ปกิณกะพระเครื่อง ขอเสนอข้อมูลพิเศษ เกี่ยวกับ เหรียญหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ รุ่นที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน ตอนที่ ๔ โดยได้ความอนุเคราะห์จาก ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ซึ่งให้ทั้งภาพและข้อมูลเชิงเทคนิคประกอบคอลัมน์นี้อีกเช่นเคย
 
               ที่พิเศษกว่าครั้งใดๆ ก็คือ ในวันนี้จะเสนอข้อมูลเนื้อหาของ พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ รุ่นที่ทัน พระอาจารย์ทิม ปลุกเสก ซึ่งหาชมได้ยากที่สุด ในลำดับต้นๆ ของ พระชุดหลวงพ่อทวด ทั้งหมด นั่นคือ เหรียญเสมา หลวงพ่อทวด รุ่น ๓ บล็อกลงยา ปี ๒๕๐๔ พร้อมกับได้นำเสนอ เหรียญบล็อก หรือรุ่นอื่นที่มีความเกี่ยวเนื่องกันกับ เหรียญบล็อกลงยา นี้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีการเผยแพร่กันน้อยมาก พร้อมกับภาพประกอบของเหรียญสภาพสวยแชมป์ ราคาหลักแสนถึงหลักล้าน ให้ท่านผู้อ่านได้ชมทั้งภาพและข้อมูลในคราวเดียวกันรวม ๕ เหรียญ เรียกว่าคุ้มค่ากับเงินสิบบาท ที่ซื้อ นสพ.คม ชัด ลึก ฉบับนี้
 
               เหรียญเสมา หลวงพ่อทวด รุ่น ๓ บล็อกลงยา ปี ๒๕๐๔ ตามประวัติการสร้าง แบ่งออกเป็น ๔ เนื้อหลัก คือ เนื้อทองคำ, เนื้อเงิน (เหรียญโชว์ที่ ๑), เนื้อทองแดง และเนื้ออัลปาก้า โดยที่ เนื้อทองคำและเนื้อเงิน มีการลงยาบริเวณพื้นที่ด้านหน้าของเหรียญเท่านั้น (ด้านหลังไม่ได้ลงยาแต่อย่างใด) ซึ่งมีทั้ง ลงยาสีแดง และ สีเขียว (สังเกตตัวอักษรมีการตะไบเพื่อลดความนูน สันนิษฐานว่า เพื่อให้เกิดการยึดเกาะของ "ยา" ที่ลงกับพื้นเหรียญดีและเรียบร้อยขึ้น)
 
               ขณะเดียวกันจะมีเหรียญเนื้อเงินบางเหรียญที่ไม่มีการลงยา ซึ่งพบเจอน้อย (ส่วนเนื้อทองคำที่ไม่ลงยา ยังไม่ปรากฏให้พบเห็นในวงการ)
 
               ส่วนเนื้อทองแดง มีทั้งรมดำเหมือนทั่วๆ ไป และกะไหล่ทอง (เหรียญโชว์ที่ ๒) และกะไหล่เงิน (เจอน้อย)
 
               นอกจากนี้ บล็อกลงยา ยังแบ่งออกเป็นประเภทเหรียญที่ มีวงเดือน และ ไม่มีวงเดือน (เส้นวงเดือนที่พาดผ่านบริเวณคำว่า "วิสัยโสภณ" และ "ทิม" ซึ่งมีทั้งประเภทติดชัดและไม่ชัด)
 
               เท่าที่ปรากฏส่วนใหญ่ของ เหรียญเนื้อทองคำลงยา และเหรียญเนื้อเงินลงยา จะเห็น เส้นวงเดือน ที่ว่านี้ ส่วนเนื้ออื่นๆ จะมีหรือไม่มี ก็ได้ ไม่ตายตัว
 
               ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอย่างน่าสนใจว่า วิธีสังเกตว่า เหรียญบล็อกไหนที่เป็นบล็อกลงยา ปี ๒๕๐๔ ที่ว่านี้ ให้สังเกตจุดสำคัญหลักๆ ดังนี้
 
               ๑.ด้านหน้าเหรียญตรงแถบซุ้ม ที่มีอนุกรมของช่องสี่เหลี่ยมโย้ ที่ซ้อนทับกัน จะสังเกตเห็นช่องสี่เหลี่ยมโย้มีแค่ครึ่งเดียว ในแถบด้านซ้ายและขวาสุดของมือเรา โดยที่ด้านซ้ายจะดูลักษณะเส้นบนหุบเข้า และด้านขวาเส้นบนอ้าออก (เหรียญเก๊ส่วนใหญ่เส้นนี้จะหุบเข้าเหมือนด้านซ้าย)
 
               ๒.ตรงมุมล่างของเส้นสังฆาฏิ ตรงบริเวณเชื่อมต่อกับมุมบนของรัดประคด จะเกิด "รอยบุ๋ม" อย่างชัดเจน
 
               ๓.ตรงหัว "ช้าง" ที่หมอบข้างเข่าขวาของหลวงพ่อทวด บริเวณใกล้ตาช้าง จะสังเกตเห็นเม็ดกลมๆ ๒ เม็ด ซึ่งจะเกิดขึ้นกับบล็อกนี้เท่านั้น...(ขอขอบคุณ คุณอำพร กาเลี่ยง ที่ให้ข้อมูลประกอบข้อนี้)
 
               ๔.เม็ดตาขวาของหลวงพ่อทวด เห็นชัดกว่าตาซ้าย
 
               ๕.บริเวณด้านบนของหูซ้ายพระอาจารย์ทิม จะมีเส้นซ้อนที่โค้งสั้นๆ เกิดขึ้น
 
               ๖.ที่ใต้ตัว "น" จะมีเส้นแตกสั้นๆ คล้ายๆ ติ่งแหลม
 
               และ ๗.จะปรากฏ "แพ" ของเส้นซ้อน ตรงบริเวณโหนกแก้มข้างๆ จมูกทั้ง ๒ ฝั่ง ซึ่งจะมีทั้งแบบติดชัดและไม่ชัด เช่นเดียวกันกับเส้นซ้อนที่เกิดขึ้นเหนือเปลือกตาขวา ของพระอาจารย์ทิมและเส้นวงเดือน ที่กล่าวก่อนหน้านี้
 
               เท่าที่สังเกตจะติดชัดมากในเหรียญเนื้ออัลปาก้า ซึ่งสันนิษฐานว่า ความชัดหรือไม่ชัดนี้ อาจจะเกิดขึ้นจากการปั๊มขึ้นรูปก่อนหรือหลังของแต่ละเนื้อ หรือแต่ละบล็อกย่อย และเนื่องจากพื้นฐานโลหะวิทยาของแต่ละเนื้อ ซึ่งมีความแข็งไม่เท่ากัน
 
               ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ได้กล่าวเพิ่มเติมต่อไปอีกว่า...ยังมีเหรียญบล็อกหรือรุ่นอื่น ที่มีความเกี่ยวเนื่องกันกับ เหรียญบล็อกลงยา นี้ กล่าวคือ ด้านหลังของเหรียญมาจากพื้นฐานของบล็อกแม่พิมพ์ปั๊มอันเดียวกัน (ตามที่อธิบายในข้อ ๕-๗ ข้างต้น) และที่พบเห็นในวงการบ่อยๆ คือ ๑.บล็อกหน้าผากสามเส้นครึ่ง (เหรียญโชว์ที่ ๓) ๒.บล็อกตื้นหรือบล็อกก้อนเมฆ (เพราะที่เหนือศีรษะ หลวงพ่อทวด มีทิวเนื้อเหมือนก้อนเมฆที่ลอยอยู่
 
               ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ จุดในช่องเหลี่ยมกลางของแถบซุ้ม จะมีลักษณะกลวงและมักปรากฏเส้นวงเดือนในบล็อกนี้ (เหรียญโชว์ที่ ๔)
 
               และบล็อกสองกระเดือกในที่นี้หมายถึง หลวงพ่อทวด มีสองกระเดือก (เหรียญโชว์ที่ ๕)
 
               เหรียญโชว์ทั้งหมดนี้เป็นเหรียญเก่าเก็บ สภาพสวยแชมป์ และถือเป็น เหรียญแท้องค์ครู เหรียญสวยองค์จริง ที่ท่านผู้อ่านสามารถศึกษาและจดจำพิมพ์เอาไว้เป็นตัวอย่างได้เลย ขอขอบพระคุณ คุณทิณกร ผ่องลักษณา ผอ. สำนักบริหารยุทธศาสตร์ กระทรวงอุตสาหกรรม เจ้าของ เหรียญเสมา หลวงพ่อทวด รุ่น ๓ เนื้อเงินลงยา เหรียญนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในเหรียญแชมป์ของวงการ (เหรียญโชว์ที่ ๑)
 
               และขอขอบพระคุณ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต เจ้าของ เหรียญหลวงพ่อทวด ทั้ง ๔ เหรียญ (เหรียญโชว์ที่ ๒-๕) และเป็นผู้ให้ข้อมูลเชิงเทคนิคประกอบคอลัมน์นี้