พระเครื่อง

พระนำเอาปัจจัยจากกิจนิมนต์มาเป็นค่าใช้จ่ายลูกและภรรยา

พระนำเอาปัจจัยจากกิจนิมนต์มาเป็นค่าใช้จ่ายลูกและภรรยา

22 ต.ค. 2557

พระนำเอาปัจจัยจากกิจนิมนต์มาเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับลูกและภรรยาจะบาปไหม : ปุจฉา-วิสัชนากับพระไพศาล วิสาโล

                 ปุจฉา : นมัสการเจ้าค่ะพระอาจารย์ เมื่อปีที่แล้วพระน้องชาย ได้ประสบอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ชนแล้วต้องผ่าตัดหลัง เหล็กทำให้เดินตัวไม่ตรง ทำงานหนักลำบาก พระน้องชายมีลูกชายสองคน แต่พระน้องชายทำงานอะไรก็ไม่รุ่ง โยมเลยให้น้องบวชเพื่อปฏิบัติจะได้เรียนรู้พระธรรมก่อนออกมาดำเนินชีวิตใหม่ เพื่อเป็นพุทธบูชา ส่งบุญให้พ่อแม่ด้วยคะ เพราะว่าพระน้องเคยมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกับพ่อเป็นประจำ โยมรับผิดชอบเรื่องงานบวชและค่าใช้จ่ายของลูกเมียเขาสามเดือน ถ้าสึกออกมาจะให้เงินก้อนหนึ่งมาสร้างหลักฐาน พระน้องชายก็บวชมาจนได้หนึ่งพรรษา ตอนนี้ยังไม่ได้สึกออกมา พระน้องชายกับเจ้าอาวาสไม่อยากให้สึกออกมา เพราะว่าระหว่างที่บวชได้ปฏิบัติทำวัด พัฒนาสร้างวัดให้เจริญขึ้นมากมาย เพราะว่าพระน้องมีอาชีพรับเหมา ซ่อมแซม ซ่อมแซมวัดหลายอย่าง

                 โยมมีข้อสงสัยว่า พระน้องจะผิดหรือบาปหรือไม่เจ้าคะ ถ้าได้ทำกิจนิมนต์ของสงฆ์ แล้วได้ปัจจัยจากกิจนิมนต์ แล้วพระน้องนำมาเป็นค่าใช้จ่ายให้ลูกเมีย แล้วของที่ชาวบ้านนำมาบริจาคใส่บาตรแล้วพระน้องนำมาให้พ่อแม่รับประทานด้วยจะบาปไหมคะ ขอขอบพระคุณมากเจ้าค่ะ ที่จะให้ลูกและครอบครัวมีสัมมาทิฐิ จะได้ปฏิบัติให้ถูกไม่ต้องทำบาปต่อไป

                 วิสัชนา : ถ้าว่าตามพระวินัย การรับปัจจัยไม่ว่าจากกิจนิมนต์หรือจากเหตุใดก็ตาม ย่อมไม่ถูกต้องอยู่แล้ว แต่ทุกวันนี้พระและโยมส่วนใหญ่ถือว่าเป็นเรื่องที่พอรับได้ อย่างไรก็ตาม การนำเงินที่ได้จากกิจนิมนต์ไปให้แก่ภรรยาเก่านั้น คนทั่วไปคงรับไม่ได้ เพราะชวนให้เข้าใจว่าพระยังมีเยื่อใยกับอดีตภรรยา ไม่สมควรแก่การเป็นสมณะ แต่หากจะนำเงินไปช่วยลูกหรือสงเคราะห์พ่อแม่ก็ยังพอรับได้ หากว่าบุคคลเหล่านั้นอยู่ในฐานะที่ลำบากขัดสน

                 ในสมัยพุทธกาล พระนันทิยะได้ทราบว่าบิดามารดา ซึ่งเคยเป็นเศรษฐี ได้กลายเป็นขอทาน ท่านจึงกลับมาเยี่ยมบ้าน ระหว่างที่พักที่เชตวันท่านก็บิณฑบาตเลี้ยงบิดามารดา จนร่างกายผ่ายผอม เมื่อพระทั้งหลายทราบเข้าก็โจษขานว่าท่านเอาอาหารที่ได้จากบิณฑบาตไปเลี้ยงฆราวาส ถือเป็นการผิดพระวินัย แต่เมื่อพระพุทธองค์ทราบ กลับอนุโมทนาและตรัสว่า “ดีแล้ว ชอบแล้ว นันทิยะ เธอตั้งอยู่ในกตัญญูกติเวทิตาคุณอันควรสรรเสริญ”

ทำไมยิ่งอ่านหนังสือธรรมะ ยิ่งฟังธรรมมากขึ้น กลับยิ่งมีความยึดมั่นถือมั่นมากกว่าเดิม และการฝึกสมาธิภาวนาจะช่วยแก้ได้ไหม

                 ปุจฉา : หนูมีข้อสงสัยว่า ทำไมยิ่งอ่านหนังสือธรรมะ ยิ่งฟังธรรมมามากขึ้น กลับยิ่งมีความยึดมั่นถือมั่นมากกว่าเดิมคะ หรือเป็นเพราะหนูอ่านกับฟังอย่างเดียว แต่ไม่ได้นั่งสมาธิและฝึกภาวนาเลย ได้โปรดตอบข้อข้องใจนี้ให้แก่หนูในช่วงปุจฉาถามตอบได้ไหมคะ ขอขอบพระคุณมากค่ะ

                 วิสัชนา : คงเป็นเพราะยิ่งอ่านหนังสือ ยิ่งฟังธรรม ก็ยิ่งคิดว่าตนเองมีความรู้มาก ความคิดดังกล่าวทำให้เกิดทิฐิมานะได้ง่าย เช่น ทำให้มองคนอื่นว่ารู้น้อยกว่าตน หรือติดยึดในสิ่งที่ตนรู้มากขึ้น การนั่งสมาธิอาจจะช่วยให้คลายความยึดมั่นได้ แต่ถ้าวางใจไม่ถูก ก็จะเกิดทิฐิมานะเพิ่มขึ้นได้ เช่น มองคนที่ไม่ได้ทำสมาธิว่าต่ำกว่าตน สู้ตนไม่ได้ เกิดความยึดติดถือมั่นในการเป็น “นักปฏิบัติธรรม”

                 สิ่งที่จะช่วยคุณได้ก็คือ หมั่นมองตนอยู่เสมอว่า มีทิฐิมานะเพิ่มขึ้นไหม หลงตัวลืมตนหรือเปล่า การหมั่นสังเกตจิตใจของตนเองจะช่วยให้มีสติรู้เท่าทันความยึดติดถือมั่นและทิฐิมานะดังกล่าว พูดง่ายๆ คือรู้ทันกิเลสของตนได้ไวขึ้น ทำให้มันครอบงำจิตใจได้ยากขึ้น การเจริญสติ หากทำถูกต้อง ก็จะช่วยให้รู้ทันกิเลสของตนได้ดีขึ้น