พระเครื่อง

พระสมเด็จจิตรลดาปี๐๙ขลังทุกอณูแคล้วคลาด

พระสมเด็จจิตรลดาปี๐๙ขลังทุกอณูแคล้วคลาด

21 ต.ค. 2557

พระสมเด็จจิตรลดาปี๐๙เข้มขลังทุกอณูโดดเด่นทางด้านแคล้วคลาดและค้าขาย : พระองค์ครู เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

             “มีพระสมเด็จจิตรลดาถือว่ามีพระบารมีในหลวงคุ้มครองตัว มีความเข้มขลังทุกอณู โดดเด่นทางด้านแคล้วคลาดและค้าขาย ไม่ต้องแขวนเต็มองค์เพียงแค่ชิ้นส่วน หรือฝุ่นผงที่กะเทาะจากองค์พระใครมีไว้ครอบครองก็ถือว่าสุดยอดแห่งความเป็นมหามงคล ไม่บ่อยครั้งนักของการจัดสร้างวัตถุมงคลที่เส้นพระเกศาของในหลวงเป็นมวลสารศักดิ์สิทธิ์”

             ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นคติความเชื่อในพุทธคุณของ "พระสมเด็จจิตรลดา" หรือ "พระกำลังแผ่นดิน" นั้น เข้าใจว่าท่าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จะเป็นผู้ขนานพระนามตามพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คำว่า "ภูมิ" แปลว่า "แผ่นดิน" ส่วนคำว่า "พล" แปลว่า "กำลัง" จึงเป็นที่มาของพระนาม "พระสมเด็จจิตรลดา" ว่า "พระกำลังแผ่นดิน"

             พระสมเด็จจิตรลดา เป็นพระเครื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ทั้งพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็กประมาณ ไม่เกิน ๓,๐๐๐ องค์ พระราชทานแก่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และพลเรือน ตั้งแต่ใน พ.ศ.๒๕๐๘ จนสิ้นสุดใน พ.ศ.๒๕๑๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานด้วยพระหัตถ์พระองค์เอง มีเอกสารส่วนพระองค์ (ใบกำกับพระ) ซึ่งแสดงชื่อ นามสกุล วันที่รับพระราชทาน หมายเลขกำกับทุกองค์ โดยทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้รับพระราชทานว่า "ให้ปิดทองที่หลังองค์พระปฏิมาแล้วเอาไว้บูชาตลอดไป ให้ทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ"

             พระสมเด็จจิตรลดา เป็นพระเครื่องทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ขอบองค์พระด้านหน้าทั้ง ๓ ด้าน เฉียงป้านออกสู่ด้านหลังเล็กน้อย มี ๒ พิมพ์ คือ ๑.พิมพ์เล็ก กว้าง ๑.๒ ซม. สูง ๑.๙ ซม. และ ๒.พิมพ์ใหญ่ กว้าง ๒ ซม. สูง ๓ ซม. โดยประมาณ

             พุทธลักษณะพระสมเด็จจิตรลดา เป็นพระปางสมาธิ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พระพักตร์ทรงผลมะตูม องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบ ประทับนั่งเหนือบัลลังก์ดอกบัว ประกอบด้วย กลีบบัวบานทั้ง ๙ กลีบ และเกสรดอกบัว ๙ จุดอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว มีลักษณะละม้ายคล้ายกับพระพุทธนวราชบพิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานประจำทุกจังหวัดและหน่วยทหาร แต่ต่างกันที่พระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระปางมารวิชัย

             มวลสารของพระสมเด็จจิตรลดา ประกอบด้วยเรซิน และผงพระพิมพ์ โดยทรงนำมาบดเป็นผง รวมกับเส้นพระเจ้า คลุกกับกาวเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วกดเป็นองค์พระด้วยพระหัตถ์ โดยทรงใช้เวลาตอนดึกหลังทรงงาน มีเจ้าพนักงาน ๑ คน คอยถวายพระสุธารส และหยิบสิ่งของถวาย ทั้งนี้ มีศาสตราจารย์ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการบำนาญกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ผู้เป็นผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในงานด้านประติมากรรม เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ถวาย เพื่อทรงพระราชวินิจฉัย แก้ไข จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย

             ปัจจุบันที่มี่การเช่าซื้อพระสมเด็จจิตรลดา มีทั้งให้เช่าทั้งที่มีใบกำกับพระ และไม่มีใบกำกับพระ ทั้งนี้ หากขายพระสมเด็จจิตรลดาพร้อมๆ กับใบกำกับพระจะได้ราคาสูงกว่า อย่างกรณี "พระสมเด็จจิตรลดา ปี ๐๙" ที่นำมาเป็นพระองค์ครู อยู่ในความครอบครองของนายชาญชัย มานิตทวีผล หรือที่รู้จักกันในนาม "อ้วน ลอยฟ้า" ซึ่งได้เช่ามาพร้อมใบกำกับพระเมื่อเร็วๆ นี้