
นวกะ-นวกภูมิ
นวกะ-นวกภูมิ : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์
ประเพณีไทยแต่โบราณนานมาแล้วไม่เรียกพิธีอุปสมบท ว่าบวชคนให้เป็นพระ แต่เรียกบวชนาค (ให้เป็นพระ) ในพระวินัยของพระพุทธเจ้าไม่มีเรื่องบวชนาค (ให้เป็นพระ) ฉะนั้นพิธีบวชนาคจึงไม่มีในชมพูทวีป (คืออินเดียโบราณ) แต่เป็นประเพณีพื้นเมืองของภูมิภาคอุษาคเนย์ โดยเฉพาะบริเวณผืนแผ่นดินที่เป็นพม่า (มอญ) เขมร ลาว และไทย
คำว่า "นวกะ" (อ่านว่า นะ-วะ-กะ) พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ ได้ให้วามหมายไว้ว่า ผู้ใหม่, ผู้บวชใหม่, พระใหม่ เรียกว่า พระนวกะ
นวกะ พระวินัยหมายถึงภิกษุที่มีพรรษายังไม่ครบ ๕
นวกะ เป็นพระที่นับว่ายังเป็นผู้ใหม่คือยังมีพรรษาไม่ครบ ๕ จึงยังต้องอยู่ในความปกครองดูแลของพระอุปัชฌาย์ ซึ่งพระวินัยเรียกว่ายังต้องถือนิสัยอยู่ (ดูเรื่องนิสัย)
พระนวกะ มีระเบียบว่าต้องศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยเพื่อรักษาตนทุกรูป สำหรับพระนวกะผู้อยู่จำพรรษาแรก เจ้าอาวาสและเจ้าคณะผู้ปกครองจะจัดการเรียนการสอนให้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ ก่อนออกพรรษาจัดให้มีการสอบด้วย เรียกว่า สอบชั้นนวกภูมิ หรือสอบนวกภูมิ
ส่วนคำว่า "นวกภูมิ" เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายไว้ว่า ชั้นหรือชั้นแห่งพระนวกะ คือ พระบวชใหม่ เป็นการจัดระดับความอาวุโสของพระตามวินัย ซึ่งกำหนดอายุพรรษาเป็นเกณฑ์
ตามพระธรรมวินัย ท่านกำหนดภูมิ หรือชั้น โดยการนับอายุพรรษาของพระสงฆ์ไว้ ๓ ระดับ คือ
ชั้นต้น ภิกษุผู้บวชใหม่ พรรษาตั้งแต่ ๑-๕ เรียกว่า "พระนวกภูมิ"
ชั้นกลาง ภิกษุที่มีอายุพรรษา ระหว่าง ๕-๑๐ พรรษา เรียกว่า "พระมัชฌิมภูมิ"
ชั้นผู้ใหญ่ ภิกษุที่มีอายุพรรษาเกิน ๑๐ พรรษาขึ้นไปแต่ยังไม่ถึง ๒๐ พรรษา เรียกว่า "พระเถรภูมิ" ส่วนภิกษุที่มีอายุพรรษาตั้งแต่ ๒๐ พรรษาขึ้นไป เรียกว่า "พระมหาเถระ"
ภิกษุผู้อยู่ระดับนวกภูมิต้องถือวิสัยอยู่ในความปกครองดูแลของพระอุปัชฌาย์เพื่อรับการฝึกฝนตามพระธรรมวินัย ด้วยถือว่ายังเป็นผู้ใหม่ไม่อาจปกครองตนเองได้
นอกจากนี้แล้ว คำว่า "นวกภูมิ" ยังใช้เป็นชื่อเรียกการเรียนการสอนที่เจ้าคณะผู้ปกครองจัดขึ้นสำหรับพระบวชใหม่ที่อยู่จำพรรษาโดยเฉพาะก่อนออกพรรษาจัดให้มีการสอนด้วย เรียกว่า สอบชั้นนวกภูมิ หรือสอบนวกภูมิ
---------/////---------
ID: 31656825-31656829 พิธีบวชพระใหม่