
คมเลนส์ส่องพระ (เสาร์ที่ 31 ม.ค. 52)
30 ม.ค. 2552
** ซินเจียหยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้...ต้อนรับเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา ฐกร บึงสว่าง ผู้อาวุโสแห่ง บลจ.บัวหลวง เฮงสุดๆ ที่ได้พระยอดนิยมมาพร้อมๆ กัน ๒ องค์ องค์แรก พระเปิม เมืองลำพูน สีพิกุล องค์นี้สวยสมบูรณ์คมชัดมาก ใบโพธิ์ครบถ้วน เห็นหน้าตาชัดเจน มีราดำเกาะประปราย เสริมเสน่ห์ชวนมอง เป็นพระเนื้อดินเผา อายุกว่า ๑,๒๐๐ ปี สร้างในสมัย พระนางจามเทวี ครองเมืองหริภุญไชย พร้อมกับพระเนื้อดินเผา อื่นๆ อีกหลายพิมพ์ แล้วบรรจุเอาไว้ตามวัดต่างๆ ในเมืองนี้ อาทิ พระรอด พระคง พระเปิม พระบาง พระเลี่ยง ฯลฯ คำว่า เปิม มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า "เบิ้ม" แปลว่า ใหญ่ นั่นเอง พระเปิม จึงเป็นพระขนาดค่อนข้างใหญ่พระทั่วไป สมัยก่อนมีราคาค่อนข้างถูก เพราะเป็นพระขนาดใหญ่และมีจำนวนพบเห็นมาก แต่ทุกวันนี้ ราคาไม่ถูกอย่างที่คิด องค์สวยๆ เช่าหากันหลายหมื่นบาท และที่เป็นแสนขึ้นไปก็มี ** สุดยอดอีกของ ฐกร บึงสว่าง ที่นำมาให้ชมเป็นวิทยาทานวันนี้ คือ พระกรุวัดสามปลื้ม หรือ วัดจักรวรรดิราชาวาส ** โดยทั่วไป พระกรุวัดสามปลื้ม เป็นพระเนื้อผง มีพิมพ์ต่างๆ อาทิ พิมพ์กลีบบัวใหญ่ พิมพ์กลีบบัวเล็ก แต่ที่นำมาให้ชมวันนี้เป็นพระพิมพ์กลีบบัวใหญ่ เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง ซึ่งเป็นพระที่หายากมากๆ ขึ้นจากกรุเพียงแค่ไม่กี่สิบองค์เท่านั้น แต่องค์นี้สุดยอดตรงที่เป็นพระที่ได้ลงโชว์อยู่ในหนังสือ ๕ พระเนื้อผงยอดนิยม กรุงรัตนโกสินทร์ องค์ตรงกลางหน้าพอดี นอกจากนี้ยังมีหนังสือพระอีกหลายเล่มที่นำพระองค์นี้ไปลงพิมพ์เป็นวิทยาทาน เป็นพระมรดกตกทอดของผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ ฐกร บึงสว่าง เคารพนับถือมาก จึงยืนยันได้ว่าพระองค์นี้ไม่มีการเปลี่ยนมืออย่างแน่นอน ** วัดสามปลื้ม ตั้งอยู่ละแวกสำเพ็ง เขตสัมพันธวงศ์ กทม. เป็นวัดโบราณ มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเป็นวัดราษฎร์ ชื่อว่า วัดนางปลื้ม ต่อมาเปลี่ยนเป็น วัดสามปลื้ม เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๖๒ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แม่ทัพใหญ่ของไทยใน สมัยรัชกาลที่ ๓ ได้บูรณะวัดสามปลื้มขึ้นใหม่ทั้งหมด เมื่อแล้วเสร็จได้น้อมเกล้าฯ ถวายเป็น พระอารามหลวง ในรัชกาลที่ ๓ ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร จนถึงทุกวันนี้ ** พระกรุวัดสามปลื้ม จึงมีการสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นโดย พระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ผู้สถาปนาวัดนี้ขึ้นมาใหม่ พร้อมกับสร้างพระเครื่องบรรจุไว้เป็นการสืบพระศาสนา ** อีกกระแสหนึ่งก็ว่า เป็นการสร้างขึ้นโดย พระอาจารย์พรหม และ พระอาจารย์ช้าง ๒ พระเกจิอาจารย์ผู้เก่งกล้าคาถาวิทยาคมมาก ท่านมาอยู่ที่วัดนี้ในช่วงที่ พระธรรมานุกูล (ด้วง) เป็นเจ้าอาวาส เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ ต่อมามีการขุดพบพระกรุนี้เมื่อปี ๒๔๐๐ เป็นครั้งแรก และขุดพบต่อมาอีกหลายครั้ง เป็นพระเนื้อผงสีขาว เปราะบางแตกหักง่าย เนื้อละเอียด แก่น้ำมันตังอิ้ว และส่วนใหญ่จะมีการลงรักปิดทองมาจากกรุ นอกจากนี้ยังมีชนิดเนื้อผงดำผสมใบลานเผา และ เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง แต่มีน้อยมาก ในส่วนของพระเนื้อผง มีพิมพ์ต่างๆ อาทิ พิมพ์กลีบบัวใหญ่-กลีบบัวเล็ก (เศียรโล้น-เศียรแหลม) พิมพ์ห้าเหลี่ยม พิมพ์บัวฟันปลา พิมพ์สามเหลี่ยมใหญ่-กลีบบัวเล็ก ฯลฯ ** หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง จ.นนทบุรี นับเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังผู้ทรงพุทธาคมอีกท่านหนึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ร่วมสมัยเดียวกับ หลวงพ่อจาด จง คง อี๋ ซึ่งในบางครั้งก็มีชื่อของ หลวงพ่อแฉ่ง รวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะพิธีพุทธาภิเษกพระเครื่องดังๆ เช่น พิธีที่วัดราชบพิธ ปี ๒๔๘๑ พิธีพุทธาภิเษกพระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ ปี ๒๕๐๐ เป็นต้น โดยเฉพาะพิธีพุทธาภิเษกพระกริ่ง ท่านเจ้าคุณศรีฯ (สนธิ์) วัดสุทัศนฯ จะต้องนิมนต์ หลวงพ่อแฉ่ง ร่วมปลุกเสกด้วยเสมอ ตามประวัติ ท่านได้เล่าเรียนพุทธาคมจากพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าหลายท่าน โดยเฉพาะ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา ดังจะเห็นได้ว่า ท่านได้สร้างพระบางพิมพ์คล้ายกับพระของ หลวงพ่อปาน ที่มีสัตว์ต่างๆ อยู่ข้างล่าง ** วัตถุมงคลของ หลวงพ่อแฉ่ง มีมากมายหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น พระผงน้ำมัน เหรียญ พระกริ่ง พระสิวลี พระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร ตะกรุด ผ้ายันต์ธง ทรายเสก ฯลฯ ล้วนมีพุทธคุณดีเยี่ยมในทุกด้าน อย่างองค์ที่เห็นในภาพนี้ เรียกว่า พระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร เป็นพระหล่อแบบโบราณ แล้วนำมาเชื่อมติดกับ เหรียญพระพุทธ เป็นรูปแบบพิเศษ ที่ ภูมิพัทธ บุนนาค นักสะสมพระยอดนิยมคนหนึ่งของวงการพระ (โดยทั่วไปพระพิมพ์นี้ที่เป็น เหรียญปั๊ม ก็มี) ** หลวงพ่อแฉ่ง ท่านเกิดปี ๒๔๒๘ มรณภาพปี ๒๕๐๒ ท่านเป็นเจ้าอาวาส วัดบางพัง (วัดศรีรัตนาราม) ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านคลองบางพัง ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นวัดเก่า สร้างครั้งสมัยอยุธยาตอนปลาย ราวปี ๒๓๐๕ ที่ชาวบ้านนิยมเรียกชื่อ วัดบางพัง ก็เพราะน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยากัดเซาะพื้นดินริมตลิ่ง พังเข้ามาเป็นบริเวณกว้างนั่นเอง วัดนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทุกวันนี้มีทางรถยนต์ตัดเข้าถึงวัดได้แล้ว ทำให้การเดินทางสะดวกสบายยิ่งขึ้น ** ชลบุรี นับเป็นเมืองที่มีพระเกจิอาจารย์ผู้โด่งดังทางพระเครื่องมาก และส่วนใหญ่พระเครื่องของท่านล้วนเป็นที่นิยมแสวงกันอย่างกว้างขวาง เป็นที่น่ายินดีที่ขณะนี้ ยุวพุทธิกสมาคม จ.ชลบุรี ได้จัดทำ หนังสือรวมภาพวัตถุมงคล และประวัติพระเกจิคณาจารย์ของ จ.ชลบุรี เอาไว้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วนที่สุด โดยพิมพ์สี่สีอย่างดี หนากว่า ๒๐๐ หน้า ขณะนี้หนังสือจัดพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ ยุวพุทธิกสมาคม จ.ชลบุรี โทร.๐-๓๘๒๗-๖๓๓๐ ** หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ วัดเขาถ้ำบุญนาค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เป็นพระเกจิอาจารย์อีกท่านหนึ่งที่โด่งดังคู่กันมากับ หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค ซึ่งมีวัดอยู่ในละแวกเดียวกัน และเมื่อมรณภาพแล้ว สรีระของท่านก็ไม่เน่าเปื่อย แต่กลับแห้งไปเฉยๆ เช่นเดียวกัน ทุกวันนี้ทางวัดก็ยังเก็บรักษาสรีระของท่านอยู่เหมือนเดิม หลวงปู่สี เป็นผู้มีอายุยืนมาก พระเครื่องของ หลวงปู่สี จึงมีการจัดสร้างขึ้นมาหลายรุ่น แต่ละรุ่นล้วนเป็นนิยมแสวงหาของบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ทุกวันนี้มีพระหลายรุ่นที่ยังมีราคาไม่แพง และบางรุ่นก็เช่ากันเป็นหมื่นขึ้นไปก็มี อาทิ เหรียญอายุยืน พิมพ์รูปไข่ ที่ออกในโอกาสทำบุญอายุ ๑๒๕ ปี เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ ที่เห็นในภาพนี้เป็นเหรียญของ ลั้ง พรหมประทาน ชั้น ๓ ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน สายตรงพระหลวงพ่อพรหม-หลวงปู่สี อาศัยที่ว่าเป็น ชาวตาคลี มาโดยกำเนิด ทำให้ ลั้ง มีความใกล้ชิดกับวัดทั้ง ๒ นี้มาก และได้เห็นถึงปฏิปทาอันศรัทธาเลื่อมใสของ ๒ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังนี้มาโดยตลอด จึงได้ติดตามเช่าหาและสะสมพระสายนี้เป็นส่วนใหญ่ ใครต้องการแบ่งปันก็ยินดีเท่าที่พอจะแบ่งให้ได้ สอบถามที่โทร.๐๘-๑๗๕๔-๙๙๐๑, ๐๘-๓๑๓๐-๓๓๑๑ ** และเป็นที่น่ายินดี ที่ขณะนี้มีศิษย์สายนี้ร่วมกันจัดทำ หนังสือรวมภาพพระเครื่อง และประวัติหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค เป็นหนังสือขนาดมาตรฐาน ปกแข็ง หนา ๓๓๖ หน้า ภาพสีทั้งเล่ม พิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตอย่างดี ภาพและข้อมูลมากที่สุด และถูกต้องที่สุด สั่งจองเล่มละ ๘๐๐ บาท (ราคาปก ๑,๒๐๐) รายได้หักค่าใช้จ่ายแล้ว ผู้จัดทำจะนำไปบูรณะมณฑปที่ตั้งสรีระของ หลวงปู่สี และซ่อมแซมหลังคาที่ชำรุดทรุดโทรมต่อไป (ใครได้ร่วมทำบุญในส่วนนี้ ชีวิตย่อมมีแต่ความสุข ความร่มเย็นไปตลอดชีวิต) ** นิตยสาร มรดกพระเครื่อง ของ จ่าทวี วงษ์สิทธิ์ ฉบับใหม่ ปก เหรียญหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง เนื้อทองคำฉลุ บล็อกหน้ายันต์ห้า บล็อกหลังยันต์สี่ สี่จุด หายากสุดๆ พร้อมกับเรื่องราวของหลวงปู่เอี่ยม ในฉบับนี้อย่างครบถ้วนทั้งในส่วนของประวัติ และภาพพระเครื่องหลากหลายชนิดของท่าน...คุ้มค่ายิ่ง ** นิตยสาร ลานโพธิ์ ฉบับใหม่ ปก พระปิดตาหลวงปู่เฮี้ยง วัดป่า จ.ชลบุรี พร้อมเรื่องในฉบับ และอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ อาทิ หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาวหลวงพ่อเกษม เขมโก ฯลฯ ** ขอเชิญร่วมงานบุญปิดทอง หลวงพ่อวงษ์ อดีตเจ้าอาวาส วัดปริวาสราชสงคราม ในระหว่างวันที่ ๖-๘ กุมภาพันธ์นี้ โอกาสนี้ทางวัดได้จัดสร้าง ผ้ายันต์พยัคฆราชคำราม (สุริยัน-จันทรา) สมนาคุณแก่ผู้ร่วมทำบุญ ผืนละ ๑๐๐ บาท เพื่อนำรายได้สมทบทุนก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ติดต่อสอบถามได้ที่ พระบุญเรือง ปุญญวโร วัดปริวาสฯ ถนนพระราม ๓ (ซอย ๓๐) เขตยานนาวา กทม.๑๐๒๔๐ ธนาณัติสั่งจ่าย ปท.สาธุประดิษฐ์ **
"แล่ม จันท์พิศาโล"