
'เหรียญพ่อท่านคล้าย'วัดสวนขันสุดยอดแห่งความนิยมมานานปี
'เหรียญพ่อท่านคล้าย'วัดสวนขันสุดยอดแห่งความนิยมมานานปี : ปกิณกะพระเครื่องโดยตาล ตันหยง
พระเครื่องเมืองใต้ นอกจาก หลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ที่โด่งดังมาเป็นอันดับหนึ่งแล้ว ก็ยังมี พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ วัดสวนขัน จ.นครศรีธรรมราช อีกด้วย
พระเครื่องพ่อท่านคล้าย โด่งดังมานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว มีหลายรุ่นหลายพิมพ์ ที่วงการพระเครื่องนิยมกันอย่างกว้างขวาง อาทิ พระรูปหล่อโบราณ พิมพ์ก้นอุ, พระรูปเหมือนปั๊ม, พระขึ้นรูปด้วยชานหมาก และเหรียญประเภทต่างๆ
สนนราคา เช่าหาอยู่ที่หลักพันถึงหลักหลายแสนขึ้นไป ในปัจจุบัน ทั้งนี้ราคาค่านิยมขึ้นอยู่กับว่า เป็นรุ่นหรือพิมพ์นิยมขนาดไหน
คอลัมน์ "ปกิณกะ พระเครื่อง" วันนี้จะกล่าวเฉพาะเหรียญที่เป็นที่นิยมกันมาก (เฉพาะเหรียญรูปไข่และรูปทรงกลม ส่วนเหรียญรูปทรงอื่นจะกล่าวในโอกาสต่อไป) กล่าวคือ เหรียญรุ่นแรก ปี ๒๔๙๘ และเหรียญนิยมรุ่นอื่นๆ สำหรับเหรียญรุ่นแรก ปี ๒๔๙๘ แยกได้ตามระดับค่านิยมออกเป็น ๔ พิมพ์ คือ
๑.เหรียญรุ่นแรก พิมพ์สองขอบ (เหรียญโชว์ที่ ๑ ภาพหลีด) ๒.เหรียญรุ่นแรก พิมพ์สองขอบ มีไฝแตก ๓.เหรียญรุ่นแรก พิมพ์ขอบเดียวธรรมดา (แบ่งย่อยเป็นพิมพ์ยันต์สูง และพิมพ์ยันต์ต่ำ) ๔.เหรียญรุ่นแรก พิมพ์ขอบเดียวธรรมดา ไฝแตก (เหรียญโชว์ที่ ๒)
สำหรับ เหรียญพ่อท่านคล้าย รุ่นแรก พิมพ์สองขอบ จัดเป็นเหรียญหลักยอดนิยมสูงสุดเหรียญหนึ่งของพระคณาจารย์สายใต้ เหรียญสวยๆ ทะลุหลักครึ่งล้านไปแล้ว (มีผู้ชำนาญการบางท่านกล่าวว่า เฉพาะเหรียญรูปไข่ พิมพ์สองขอบ เท่านั้นที่สร้าง ปี ๒๔๙๘)
จุดสังเกต คือ ด้านหลังของเหรียญมีรอยเส้นซ้อน อันเนื่องจากการปั๊ม บริเวณขอบเหรียญด้านล่างอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกรณีเหรียญที่ไม่สึก
ส่วนด้านหน้าของเหรียญทั้ง ๔ พิมพ์นี้ มีรายละเอียดจุดสังเกตที่เหมือนกัน ยกเว้นตรงที่ ไฝ ของพ่อท่านคล้าย มีความต่างกันตรงที่ ไฝแตก และ ไฝไม่แตก
ส่วนเหรียญรุ่นอื่นๆ (ในชุดนี้ที่แต่เขียนว่า "รุ่นแรก" เหมือนกัน) ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากนักสะสมพระเครื่องมาก เนื่องจาก เหรียญรุ่นแรก ปี ๒๔๙๘ หายาก และราคาเช่าหาไกลเกินเอื้อม อาทิ เหรียญรุ่นแจกแม่ครัว ปี ๒๕๐๒ (เหรียญโชว์ที่ ๓) เหรียญรุ่นสร้างสะพานคลองมินทร์ ปี ๒๕๐๓ (เหรียญโชว์ที่ ๔) เหรียญรุ่นวัดสมัคยาราม ปี ๒๕๐๓ (เหรียญโชว์ที่ ๕)
ตัวอย่างเหรียญที่โชว์ ตั้งแต่เหรียญที่ ๓-๕ มีผิวหลายประเภท เช่น ผิวไฟ ผิวรมดำ ผิวกะไหล่ทองและเงิน เป็นต้น
ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า...ด้านหลังของเหรียญยังมีบล็อกพิมพ์ย่อยๆ หลายอัน และบางเหรียญด้านหลังเรียบไม่มียันต์ หรือข้อความใดๆ ก็มี แต่เจอน้อย ซึ่งนักสะสมพระหลักจะเข้าใจเรื่องนี้ดี
เนื่องจากคอลัมน์นี้มีเนื้อที่จำกัด จึงขอกล่าวเฉพาะประเด็นหลักๆ ประกอบกับภาพเหรียญที่สวยงามคมชัดอย่างที่เห็น หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อย
ส่วนอีกเหรียญหนึ่งที่น่าสนใจมาก และพบเจอได้น้อย คือ เหรียญพ่อท่านคล้าย พิมพ์เกลียวเชือก หรือที่ส่วนใหญ่เรียกกันว่า เหรียญเกลียวเชือกแจกปีนัง ตามประวัติกล่าวว่า สร้างพร้อมกับ เหรียญรุ่นแรก ที่เรียกว่า เหรียญสองขอบ ซึ่งสร้างเมื่อปี ๒๔๙๘
นักสะสมพระเครื่องคนรุ่นเก่า บอกไว้ว่า เหรียญเกลียวเชือก นี้ส่วนใหญ่ พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ จ.ปัตตานี ได้นำไปแจกที่ วัดไทยไชยมังคลาราม เมืองปีนัง ซึ่งเป็นรัฐหนึ่งทางทิศตะวันตกของประเทศมาเลเซีย ทำให้เราพบกระแสหมุนเวียนของเหรียญนี้ในเมืองไทยน้อยมาก
ลักษณะสำคัญของ เหรียญเกลียวเชือก คือ ด้านนอกสุดของเหรียญที่อยู่ถัดจากเม็ดไข่ปลาโดยรอบเหรียญ จะมีลักษณะเป็น "เส้นขีดไขว้กัน" คล้ายกับเครื่องหมายคูณ (หรือตัว X) ติดต่อกันรอบเหรียญ ดูผิวเผินๆ คล้ายกับ "เส้นเชือก" ที่ล้อมรอบขอบเหรียญ อันเป็นที่มาของชื่อ เหรียญเกลียวเชือก
เหรียญเกลียวเชือก รุ่นนี้แยกได้เป็น ๒ พิมพ์ย่อย คือ ๑.เหรียญเกลียวเชือก พิมพ์รูปไข่ มีทั้งเนื้อทองแดงกะไหล่เงิน และกะไหล่ทอง แต่เหรียญกะไหล่เงินจะได้รับความนิยมมากกว่ากะไหล่ทอง
๒.เหรียญเกลียวเชือก พิมพ์กลม (เหรียญโชว์ที่ ๖ ภาพหลีด) ที่พบส่วนใหญ่เป็นเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง และเหรียญผิวไฟ เนื่องจากเป็นเหรียญที่หายาก จึงมีการทำ เหรียญปลอม รุ่นนี้มานานแล้ว จุดสังเกต เหรียญแท้ และเหรียญเก๊ ของเหรียญพ่อท่านคล้าย ก็ใช้หลักการดูเหมือนเหรียญพระเกจิอาจารย์ทั่วๆ ไป คือ พิมพ์ทรงถูกต้อง ความคมชัดของตัวอักษร ธรรมชาติของเส้นเสี้ยนกระจาย เนื่องจากการปั๊ม คอหูเหรียญ รอยตัดขอบเหรียญ
และจุดสำคัญที่ควรจดจำให้แม่น คือ ธรรมชาติของผิวเหรียญ กรณีผิวกะไหล่ ต้องดูให้ออกว่า มีธรรมชาติความเก่าหรือไม่ หรือกรณีเป็น เหรียญแท้ ต้องดูว่าเป็นผิวกะไหล่เดิม หรือกะไหล่ใหม่
เหรียญโชว์ทั้งหมด ๖ เหรียญที่เห็นในภาพนี้เป็น เหรียญสภาพสวยแชมป์ ที่คงความสวยงาม และสมบูรณ์คมชัด ตามสภาพเหรียญเก่าเก็บ หลายองค์มีผิวไฟกระจายทั่วทั้งเหรียญ
เหรียญทั้งหมดนี้เป็นของ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ชำนาญการพระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ และพระสายใต้ที่โด่งดังอีกหลายพระคณาจารย์ และเป็นผู้ให้ข้อมูลเชิงเทคนิคประกอบคอลัมน์นี้ ซึ่งผู้เรียบเรียงบทความนี้ต้องขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง มา ณ โอกาสนี้ด้วย