พระเครื่อง

พระครูมงคลรังษี(หลวงปู่ครูบาก๋ง)วัดศรีมงคลน่าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระครูมงคลรังษี(หลวงปู่ครูบาก๋ง)วัดศรีมงคล อ.ท่าวังผา จ.น่าน : สายตรงพระล้านนา โดยไก่ สวนดอก

                ชาติภูมิ พระครูมงคลรังสี นามเดิม "พรมา ไชยปาละ" บิดาชื่อ ธนะวงศ์ มารดาชื่อ อูบแก้ว เกิดเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๔๔๕ ณ บ้านดอนมูล ต.ศิลาเพชร อ.ปัว จ.น่าน

                การศึกษา หลวงปู่เข้าศึกษาที่โรงเรียนประชาบาลบ้านดอนมูล จบชั้น ป.๓ จากนั้นได้เรียนหนังสือไทยล้านนา และไทยกลาง ณ วัดดอนมูล จนสามารถอ่านออกเขียนได้คล่อง

                บรรพชาเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๕๙ ขณะอายุ ๑๔ ปี โดยมี พระอิทธิยศ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ศึกษาพระธรรมวินัย และจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านดอนมูล

                เมื่ออายุครบ ๒๑ ปี ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดดอนมูล โดยมี พระอิทธิยศ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระพรหมวาท เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอินต๊ะวงศ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้นามฉายาว่า “มงคโล ภิกษุ”

                เมื่ออุปสมบทแล้วหลวงปู่ได้ศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐาน และถวายตัวเป็นศิษย์ ครูบาหลวงพุทธวงศ์, ครูบาอุปละ, ครูบาญาณะ วัดสวนดอก, ครูบาก๋าอาธะ วัดไฮ่สบบั่ว, ครูบากิตต๊ะวงศ์, ครูบาอินต๊ะ, ครูบาบ้านส้าน, ครูบาขัตติยะ ได้ศึกษาและปฏิบัติอยู่เป็นเวลา ๒ ปี จึงอำลาครูบาและพระอุปัชฌาย์ เพื่อออกไปบำเพ็ญเพียรด้วยตนเอง ตามป่าเขาลำเนาไพร จ.น่าน แล้วออกทะลุป่าดงใหญ่ไปยัง จ.เชียงราย เชียงตุง แล้ววกกลับมาทางเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ ตามป่าเขาอันเงียบสงบ และในป่าช้า ใช้หลุมฝังศพเป็นที่ปฏิบัติธรรมอยู่เป็นเวลา ๖ ปี

                เนื่องจากหลวงปู่ปฏิบัติตนอยู่ในศีลในธรรมอย่างเคร่งครัด ในปี ๒๔๓๒ คณะศรัทธาชาวบ้านก๋งในขณะนั้น มีจำนวน ๑๕ หลังคา ได้ส่งตัวแทนไปนิมนต์หลวงปู่มาอยู่ประจำที่วัดบ้านก๋ง เพราะเป็นวัดร้าง ไม่มีพระภิกษุและสามเณรจำพรรษา ให้ชาวบ้านได้ทำบุญสุนทาน ด้วยบุญบารมีแห่งเมตตาธรรมของหลวงปู่ที่ได้อบรมชาวบ้านทุกวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ แต่มีชาวบ้านบางคนยังขาดความสามัคคี เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น พกแต่ความโลภะ โทสะ และโมหะ หลวงปู่จึงสร้างพระพุทธรูป และประกาศแก่ชาวบ้านให้ทุกคนนำปอยผมของแต่ละคนมามอบให้ แล้วหลวงปู่ก็นำเอาปอยผมของทุกคนบรรจุไว้ในฐานพระ

                ในพิธีบรรจุปอยผม ไม่ว่าเด็กเล็กชายหญิง คนหนุ่มคนสาว คนเฒ่าคนแก่ มาพร้อมเพรียงกันทุกคน แล้วหลวงปู่ก็ประกาศว่า...ต่อแต่นี้ไป ชาวบ้านก๋งผู้ใดขืนกระทำความชั่ว พระพุทธรูปจะไม่ให้ความคุ้มครองเป็นอันขาด แต่ถ้าผู้ใดทำความดี ละความชั่ว ให้หมั่นเข้าวัด รักษาศีล ฟังธรรม พระพุทธรูปจะให้ความคุ้มครองแก่เขาเหล่านั้น ให้มีแต่ความสุข ความเจริญ อายุยืนนาน

                ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปรากฏว่า หมู่บ้านก๋ง เริ่มเป็นดินแดนแห่งความร่มเย็น ชาวบ้านต่างมีเมตตาธรรม มีความสามัคคี รักใคร่กลมเกลียว เลิกอบายมุขทั้งหลายจนหมดสิ้น ทั้งกลับมาฝึกกรรมฐานกันทั้งหมู่บ้าน จนทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของหลวงปู่ขจรขจายไปทุกหมู่บ้าน ทั่วทั้ง จ.น่าน

                เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๔๗๘ หลวงปู่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น พระอุปัชฌาย์ หลวงปู่ต้องเดินทางไปทำหน้าที่บรรพชาและอุปสมบทให้ลูกหลานชาวบ้านในหลายท้องที่ ซึ่งเป็นป่าเขาลำเนาไพร ทุรกันดาร ด้วยความลำบากตรากตรำมาก

                ต่อมา เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๓ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตร ชั้นตรี ที่ "พระครูมงคลรังสี" และเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๓ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระครูชั้นโท ในราชทินนามเดิม และเป็นเจ้าคณะตำบลยม

                การทะนุบำรุงวัด เนื่องจากวัดศรีมงคลเป็นวัดร้างมาหลายสิบปี เมื่อหลวงปู่ได้รับนิมนต์อยู่จำพรรษาแล้ว ท่านได้เริ่มปลูกฝังจิตใจ ฟื้นฟูสภาพจิตใจของชาวบ้านก่อน ต่อมาเมื่อชาวบ้านคลายความรุ่มร้อน มีศีลมีธรรม มีเมตตาต่อกัน มีหลวงปู่เป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน หลวงปู่ก็ชักชวนชาวบ้านบูรณะซ่อมแซม และสร้างกุฏิ วิหาร อุโบสถ ชาวบ้านช่วยกันบริจาคทรัพย์และร่วมแรงกันก่อสร้าง โดยหลวงปู่จะบริจาคทรัพย์ส่วนตัวสมทบทุนในการก่อสร้างบูรณะซ่อมแซมอยู่เสมอ มิได้หวังสะสมไว้เป็นของส่วนตัว จนกระทั่งในบั้นปลายชีวิต บรรดาสานุศิษย์ต่างมีความประสงค์จะให้หลวงปู่ได้พักผ่อน ทุกคนได้ร่วมมือกันสร้างกุฏิหลังใหม่ สร้างเจดีย์บรรจุพระธาตุ เป็นการน้อมถวายหลวงปู่ เพื่อเป็นบุพการีบูชา อยากให้หลวงปู่มีชีวิตยาวนาน เป็นมิ่งขวัญของสานุศิษย์ทั่วหน้า

                หลังจากคณะศิษย์สร้างกุฏิถวายหลวงปู่แล้ว มีการสร้างเจดีย์บรรจุพระธาตุ ซึ่งหลวงปู่ได้ทะนุถนอมไว้เป็นเวลาอันยาวนาน พิธีบรรจุได้กระทำพร้อมกับวันสืบชะตาอายุครบ ๘๗ ปี ของหลวงปู่ เสร็จการจัดงานสักการะพระธาตุแล้ว หลวงปู่เริ่มมีอาการป่วยเกี่ยวกับหลอดลม และความชราภาพ (คำว่า "หลวงปู่ครูบาก๋ง" เป็นการเรียกชื่อหลวงปู่ ตามชื่อหมู่บ้าน "ก๋ง" ที่ชาวล้านนาเมืองน่าน นิยมเรียกกัน)

                พระอาจารย์มนตรี ธมฺมเมธี ได้พาไปรับการตรวจรักษาหลายครั้ง จนเกินขีดความสามารถของแพทย์ที่จะเยียวยารักษาได้ แต่หลวงปู่ก็มิได้แสดงอาการเจ็บปวดหรือบ่นแม้แต่น้อย คงมีสุขภาพจิตสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา

                วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๓๒ หลวงปู่ได้เรียกศิษย์ผู้ใกล้ชิด พร้อมกับสั่ง พระอาจารย์มนตรี ไว้ทุกประการ โดยขอมอบสังขารให้สานุศิษย์เก็บไว้ที่วัดศรีมงคล

                ต่อมา เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ เวลา ๐๑.๓๐ น. หลวงปู่ได้มรณภาพด้วยอาการอันสงบ ต่อหน้าสานุศิษย์ทั้งหลาย วัตถุมงคล เหรียญครูบาก๋ง รุ่นแรก ออกที่วัดต้นฮ่าง อ.ท่าวังผา เมื่อปี ๒๕๑๔ ในงานฉลองวิหาร เพื่อสมนาคุณผู้ที่ร่วมทำบุญ ทำพิธีปลุกเสกที่วิหารวัดต้นฮ่าง โดยมี ครูบาดอนตัน ครูบาก๋ง ครูบาวงศาภิวัตร ครูบาสุเทพ วัดชนะไพรี ฯลฯ ร่วมพิธีปลุกเสก คนที่ใกล้ชิดกับ ครูบาก๋ง กล่าวว่า เหรียญรุ่นนี้ตอนที่ ครูบาก๋ง ได้ไปร่วมปลุกเสก เหรียญครูบาดอนตัน รุ่นแรก นั้น ท่านได้นำเหรียญรุ่นนี้ไปเข้าพิธีปลุกเสกด้วย

                จากนั้นได้มอบเหรียญให้วัดต้นฮ่าง เพื่อมอบให้ผู้ที่มาร่วมทำบุญฉลองวิหาร โดยส่วนใหญ่แล้วเหรียญรุ่นนี้แจกให้คณะผ้าป่าจากกรุงเทพฯ ที่มาร่วมงาน เหรียญรุ่นนี้จึงไม่ค่อยพบในพื้นที่เลย เป็นเหรียญทองแดงรมดำทั้งหมด จัดสร้างไม่เกิน ๑,๐๐๐ เหรียญ ถือว่าจัดสร้างน้อยมาก

                นอกจากนี้ยังมี พระเนื้อผง ปี ๒๕๑๔, รูปหล่อโบราณปี ๒๕๑๕, เหรียญวัดศรีมงคล ปี ๒๕๑๕, เหรียญระฆัง รุ่นธนูไฟ ปี ๒๕๑๘ และ ผ้ายันต์อิติปิโส ๑๐๘ ปี ๒๕๑๘ จากนั้นท่านก็ไม่ได้จัดสร้างพระเหรียญหรือเนื้อผงขึ้นอีกเลย (ยกเว้นผ้ายันต์แจกงานโดดร่ม)

                หลังจาก ครูบาดอนตัน มรณภาพ ปี ๒๕๒๓ พระเกจิอาจารย์ของท่าวังผาก็เหลือแต่ ครูบาก๋ง ทางลูกศิษย์จึงขออนุญาต ครูบาก๋ง จัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นมาอีกครั้ง คือ เหรียญครูบาก๋ง หลังเจ้าหลวงภูคา ปี ๒๕๒๖ เนื้อทองแดงรมดำ และกะไหล่ทอง

                ต่อมาได้จัดสร้าง เหรียญเจ้าหลวงภูคา รุ่นแรก ปี ๒๕๒๘ โดยมี ครูบาก๋ง เป็นผู้ปลุกเสก รวมทั้งพระผงและเหรียญอีก ๓-๔ รุ่น ที่จัดสร้างขึ้น จนถึงปี ๒๕๓๒ ท่านก็ได้มรณภาพ

                สำหรับเครื่องรางที่ท่านทำไว้ตอนมีชีวิตอยู่นั้น ที่เด่นๆ คือ ยันต์หนีบ ยันต์ ๑๐๘ ผ้ายันต์ดาบหลี๋กั๋นจัย

                วัตถุมงคลของท่านโดดเด่นทางด้านป้องกันคุ้มภัย แคล้วคลาด คงกระพัน ครบสูตรตามแบบเบ้าโบราณล้านนา

                ผขอขอบคุณ ข้อมูลจาก เพจท่องเที่ยวเมืองน่าน, น่านมีดีกว่าที่คุณคิด และข้อมูลจาก คุณวังผา www.pralanna.com)
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ