พระเครื่อง

พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร

พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร

28 ก.ค. 2557

พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

                 "สมเด็จพระพุฒาจารย์" (โต พฺรหฺมรํสี) มีราชทินนามจารึกตามสุพรรณบัฏว่า  "สมเด็จพระพุฒาจารย์ เอนกปรีชา วิสุทธศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธุตคุณ สิริสุนทร พรตจาริก อรัญญิกคนฤศร สมณนิกรมหาปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลขันธ์ ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวงฯ"

                 สมณศักดิ์ดังกล่าวนี้นับเป็นสมณศักดิ์ชั้นสูงสุดและเป็นชั้นสุดท้ายที่ท่านได้รับตราบจนกระทั่งถึงวันมรณภาพ คนทั่วไปนิยมเรียกท่านว่า "สมเด็จโต" หรือ "สมเด็จวัดระฆัง" ส่วนคนในยุคร่วมสมัยกับท่านเรียกท่านว่า "ขรัวโต"
  
                 "พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม" เป็นพระที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เป็นผู้สร้างขึ้น กล่าวกันว่าท่านเริ่มสร้างขึ้นมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๙ ภายหลังจากโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นพระสมเด็จพุฒาจารย์ จึงเรียกขานพระเครื่องที่สร้างขึ้นว่า "พระสมเด็จ" และได้สร้างเรื่อยมาจนถึง พ.ศ.๒๔๑๕ โดยได้แจกจ่ายแก่บรรดาญาติโยมที่มาเยี่ยมเยียน และเมื่อครั้งออกบิณฑบาตในตอนเช้า ครั้นหมดก็สร้างใหม่ ปลุกเสกด้วยคาถาชินบัญชรที่ท่านได้มาจากเมืองกำแพงเพชร ผู้แกะพิมพ์ถวาย คือ หลวงวิจารณ์เจียรนัย ช่างทองในราชสำนัก
 
                 พระสมเด็จวัดระฆัง มีหลายพิมพ์ด้วยกัน แต่ที่นิยมได้แก่ พิมพ์พระประธาน พิมพ์เกศบัวตูม พิมพ์เจดีย์ พิมพ์ฐานแซม และพิมพ์ปรกโพธิ์ โดยเฉพาะพิมพ์พระประธาน หรือพิมพ์ใหญ่เป็นพิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในบรรดาพิมพ์พระทั้ง ๕ พิมพ์
 
                 พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูม เป็นพระพิมพ์ของวัดระฆังที่พบจำนวนน้อยที่สุดในบรรดาพระพิมพ์ทั้งหมด ลักษณะพิมพ์ทรง เป็นพระนั่งในระฆังคว่ำ พระพักตร์กลมป้อม พระเกศเป็นมุ่นมีลักษณะคล้ายดอกบัวตูม (เป็นที่มาของชื่อพิมพ์) อยู่เหนือพระเศียร และพุทธศิลปะจะแลดูสง่างาม ล่ำสัน ไม่อ่อนช้อยนัก ต่างจากพิมพ์อื่นตรงที่ปลายพระเกศไม่จรดเส้นซุ้ม องค์พระเป็นล่ำสัน มองเห็นเส้นสังคาฏิชัดเจน
 
                 "พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์เกศบัวตูม" จะไปละม้ายคล้ายกับ "พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์เกศบัวตูม" แล้ว ยังไปคล้ายกับ "พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์สังฆาฏิ" อีกด้วย หรือที่คนโบราณมักนิยมเรียก "พิมพ์ฏิ-ตูม" คือ พิมพ์สังฆาฏิบวกกับพิมพ์เกศบัวตูมนั่นเอง
 
                 ในหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เล่ม ๑ เรื่อง พระสมเด็จ พ.อ.ผจญ กิตติประวัติ หรือ อ.ตรียัมปวาย ผู้ขนานนาม "พระเครื่องชุดเบญจภาคี" ได้เขียนถึงขนาดของพระสมเด็จว่า “เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดขนาดพระสมเด็จเป็นมาตรฐาน เพราะพระสมเด็จนั้นถูกสร้างด้วยพิมพ์หลายพิมพ์ ซึ่งแต่ละพิมพ์ก็มีขนาดแตกต่างออกไปบ้าง ขณะเดียวกันส่วนผสมของเนื้อไม่ได้เกณฑ์มาตรฐาน บางชนิดเวลาผ่านไปเนื้ออาจจะฟูขึ้น บางชนิดกลับหดตัวลง รวมทั้งการตัดพิมพ์บางคนก็ตัดชิด บางคนก็เหลือปีกไว้มาก ส่วนขนาดความหนาก็เอาความแน่นอนไม่ได้บางคนมือหนักบางคนมือเบา

                 การเช่าพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่ ที่มีชื่อเสียงอยู่ในระดับแถวหน้าเช่น 'องค์เสี่ยหน่ำ' 'องค์ลุงพุฒ' 'องค์ขุนศรี' 'องค์เล่าปี่' 'องค์กวนอู' 'องค์บุญส่ง' 'องค์เจ๊แจ๊ว' 'องค์เจ๊องุ่น' 'องค์ครูเอื้อ' 'องค์เสี่ยดม' และ 'องค์มนตรี' ล้วนมีการเช่าการขายกันองค์ละหลายสิบล้านบาททั้งสิ้น มีการประมาณค่าไว้ที่องค์ละไม่ต่ำกว่า ๕๐ ล้านบาท การเช่าซื้อราคาจริงเป็นที่ทราบกันในวงการพระเครื่องเท่านั้น 

                 สำหรับค่านิยมพระสมเด็จ "๕๐ ล้านบาท" คนนอกวงการพระเครื่องอาจจะคิดว่าสูง แต่ล่าสุด นายสุขธรรม ปานศรี หรือที่คนในวงการรถยนต์รู้จักในชื่อ “เฮียกุ่ย” นักสะสมพระหลวงพ่อทวดมานานกว่า ๑๐ ปี เจ้าของพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ ที่มีชื่อตามตัวว่า "องค์เฮียกุ่ย" โดยได้มีการตั้งราคาสูงถึง ๑๐๐ ล้านบาท นอกจากนี้แล้วเฮียกุ่ยยังมีพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ องค์ที่ขึ้นชื้อว่าสวยแชมป์ในความครอบครองอีกหลายองค์


ตำรับแห่งหนังสือพระสมเด็จ 

                 หนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ เล่ม ๑ เรื่อง พระสมเด็จ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ ซึ่งเป็นต้นตำรับแห่งหนังสือพระสมเด็จ เรียบเรียงโดย ตรียัมปวาย หรือ พ.อ.ผจญ กิตติประวัติ ผู้บัญญัติศัพท์เบญจภาคี อันโด่งดัง เป็นหนังสือเชิงวิชาการรวบรวมชีวประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์" (โต พฺรหฺมรํสี)  ตำนานการสร้างพระสมเด็จอย่างละเอียด เช่น ศิลปะสร้างพระพิมพ์ แยกแยะพิมพ์ทรง เนื้อหามวลสาร ฯลฯ พร้อมด้วยรูปภาพประกอบ (ขาว-ดำ) หนา ๖๗๗ หน้า

                 โดยหนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ ส่วนครั้งที่ ๖ พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๐ อาจกล่าวได้ว่าเป็นหนังสือพระเครื่องในยุคแรกของเมืองไทย แม้จะเป็นหนังสือยุคเก่าแต่ก็เป็นแหล่งข้อมูลชั้นเลิศ ทรงคุณค่าเเก่การอนุรักษ์ และสามารถใช้อ้างอิงได้จนถึงปัจจุบัน

                 การจัดพระชุดเบญจภาคี เริ่มมีการจัดชุดขึ้นในประมาณ พ.ศ.๒๔๙๐ ซึ่งในขณะนั้นสนามพระ หรือแหล่งที่พบปะของผู้นิยมสะสมพระเครื่องอยู่ที่บริเวณข้างๆ ศาลแพ่ง โดยมีร้านขายกาแฟของมหาผัน ซึ่งนักนิยมพระเครื่องทั้งหลายมักเรียกกันว่า 'บาร์มหาผัน' เป็นจุดนัดพบปะของผู้นิยมสะสมพระเครื่องพระบูชา

                 มีอยู่ครั้งหนึ่งมีการคิดจัดชุดห้อยพระกัน ซึ่งผู้นิยมสะสมพระเครื่องทั่วๆ ไปก็มักจะจัดชุดพระห้อยคอกันตามอัธยาศัย ท่านอาจารย์ตรีฯ ท่านคิดจะจัดชุดพระที่มีความสำคัญๆ ซึ่งเป็นพระยอดนิยม โดยมีพระสมเด็จ เป็นประธาน ก็สนทนาปรึกษากันว่าจะห้อยพระอะไรบ้างจึงจะเหมาะสมสวยงาม โดยเลือก พระสมเด็จ เป็นองค์แรก เนื่องจากมีผู้เคารพศรัทธาในองค์เจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์" (โต พฺรหฺมรํสี)  เป็นอย่างมาก อีกทั้งพุทธคุณนั้นก็ครอบจักรวาล ด้วยพระคาถาที่ปลุกเสก คือชินบัญชรคาถา พระสมเด็จนั้นมีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า และมีขนาดพอสมควรน่าจะนำมาไว้เป็นพระองค์กลาง


อานุภาพแห่งพระคาถาชินบัญชร


                 สมเด็จพระพุฒาจารย์" (โต พฺรหฺมรํสี)  วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานคร เป็นอมตมหาเถระ ที่มีเกียรติคุณเป็นที่ปรากฏอย่าน่าอัศจรรย์ มีปัญญาเฉียบแหลมแตกฉานในทางธรรม เป็นเลิศทั้งด้านสมถะและวิปัสสนา พระคาถาที่ทรงอานุภาพยิ่งของท่าน คือ คาถาชินบัญชร

                 พระคาถาชินบัญชร (ชิ-นะ หรือ ชิน-นะ-บัน-ชอน) เป็นหนึ่งในบทสวดมนต์ที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมสวดมากที่สุด สันนิษฐานว่าพระเถระชาวล้านนาเป็นผู้แต่งขึ้น และเป็นพระคาถาสำคัญในพิธีกรรมตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพิธีจักรพรรดิราชาธิราช ต่อมาได้ปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ขึ้นโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์" (โต พฺรหฺมรํสี)  วัดระฆังโฆสิตาราม สมเด็จพระพุฒาจารย์องค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (สมัยรัชกาลที่ ๔) บทสวดชินบัญชรนี้ยังพบในประเทศพม่าและศรีลังกาอีกด้วย

                 มีคติความเชื่อว่า อานุภาพแห่งพระคาถาชินบัญชร สำหรับผู้ใดที่ได้สวดภาวนาพระคาถาชินบัญชรนี้ เป็นประจำอยู่สม่ำเสมอ จะทำให้เกิดความสิริมงคลสมบูรณ์พูนผล ศัตรูหมู่พาลไม่กลํ้ากราย ไปทางใด ย่อมเกิดเมตตามหานิยม เกิดลาภผลพูนทวี ขจัดภัยจากภูตผีปีศาจ ตลอดจนคุณไสยต่างๆ ทำน้ำมนต์รดแก้วิกลจริตแก้สรรพโรคภัยหายสิ้น เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต มีคุณานุภาพตามแต่จะปรารถนา ดังคำโบราณว่า "ฝอยท่วมหลังช้าง" จะเดินทางไปที่ใด ๆ สวด ๑๐ จบ แล้วอธิษฐานจะสำเร็จสมดังใจ