พระเครื่อง

พระสมเด็จเกศไชโยพิมพ์พระประธานเกตุทะลุซุ้มวัดเกศไชโย

พระสมเด็จเกศไชโยพิมพ์พระประธานเกตุทะลุซุ้มวัดเกศไชโย

25 ก.ค. 2557

พระสมเด็จเกศไชโยพิมพ์พระประธาน เกตุทะลุซุ้ม วัดเกศไชโย : พระองค์ครู เรื่อง/รูป ไตรเทพ ไกรงู

                วัดไชโยวรวิหาร เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นโท ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองประมาณ ๑๘ กิโลเมตร อยู่บนเส้นทางสายอ่างทอง-สิงห์บุรี ด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมชื่อ “ไชโย” เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยโบราณ สมเด็จโต อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆัง ได้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เรียกกันว่า “หลวงพ่อโต” ต่อมามีชื่อว่า “พระมหาพุทธพิมพ์” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มาก ซึ่งมีการจัดงานฉลองนับเป็นงานใหญ่ที่สุดของ จ.อ่างทอง ในสมัยนั้น
 
                องค์หลวงพ่อโตประดิษฐานอยู่ในพระวิหารที่มีความสูงใหญ่สง่างามแปลกตากว่าวิหารแห่งอื่นๆ พุทธศาสนิกชนจากที่ต่างๆ มานมัสการอย่างไม่ขาดสาย ติดกับด้านหน้าพระวิหาร มีพระอุโบสถก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมไทยอันงดงามหันด้านหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๕ ปัจจุบันวัดไชโยวรวิหารได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่จนมีความงามสมบูรณ์ยิ่ง

                มีการกล่าวว่า ในการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่เสร็จในครั้งแรกนั้น ยังไม่มีการบรรจุพระ ช่วงบูรณะครั้งที่ ๒ ประมาณ พ.ศ.๒๔๐๖-๒๔๐๗ สมเด็จโตได้สร้างพระพิมพ์สมเด็จแบบยกขอบกระจกบรรจุกรุที่วัดไชโย จ.อ่างทอง เหตุที่ “พระสมเด็จเกศไชโย” แตกกรุออกมาในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยารัตนบดินทร (บุญรอด กัลยาณมิตร) ที่สมุหนายกสำเร็จราชการกรมมหาดไทย ขึ้นมาเป็นแม่กองปฏิสังขรณ์วัดไชโยขึ้นใหม่ทั่วทั้งพระอาราม เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๐ มีการสร้างพระวิหารครอบองค์พระพุทธรูปใหม่ จึงจำเป็นต้องกระทุ้งฐานรากพระพุทธรูปองค์ใหญ่ เกิดแรงสั่นกระเทือนได้พังทลายลง พระสมเด็จเกศไชโย จึงแตกกรุออกมา
 
                “พระสมเด็จเกศไชโย” วัดไชโยวรวิหาร หรือเรียกกันติดปาก “พระสมเด็จวัดเกศไชโย” ทั้งที่ชื่อวัดไม่มีคำว่า “เกศ” ซึ่งน่าจะมาจากวัดแห่งนี้เป็นวัดที่สมเด็จโต สร้างขึ้นบนที่ดินของคุณตาของท่าน เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้โยมมารดาและโยมตา โดยนำชื่อของโยมมารดา “เกศ” และชื่อของตา “ชัย” มารวมเป็น “เกศไชโย”

                สำหรับภาพพระองค์ครูฉบับนี้เป็น "พระสมเด็จเกศไชโย ทองคำพิมพ์นิยมฐาน ๗ ชั้น หรือพิมพ์พระประธาน เกตุทะลุซุ้ม วัดเกศไชโย" มีผู้ใจบุญตระกูลนายตำรวจใหญ่ผู้หนึ่งเป็นผู้นำมาถวาย พระเทพญาณมงคล หรือหลวงป๋า เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี โดยได้ ปวารณาไว้ว่า “ถ้าผู้ใดร่วมเป็นเจ้าภาพทำบุญเป็นค่าก่อสร้างพระมหาเจดีย์สมเด็จฯ ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ในวงเงิน ๑๕๐ ล้านบาท จะมอบพระสมเด็จฯ (สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังษี) ทองคำพิมพ์นิยมฐาน ๗ ชั้น วัดเกศไชโย หรือพิมพ์พระประธาน เกตุทะลุซุ้ม ๑ องค์ 

                ด้วยความโดดเด่นของพิมพ์ทรงที่แตกต่างกับพระสมเด็จวัดระฆังฯ และพระสมเด็จบางขุนพรหม กรอปกับความตั้งใจของสมเด็จโตที่เตรียมสร้างไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.๒๔๐๔ ก่อนกำเนิดสมเด็จวัดระฆังฯ ซะอีก พระพิมพ์นี้จึงมากด้วยคุณค่าน่าสะสมยิ่ง ปัจจุบันพระสมเด็จเกศไชโย ๗ ชั้น พิมพ์นิยม สนนราคาค่านิยมหลักแสน ประสบการณ์สูงมากทางด้านคงกระพันชาตรี แคล้วคลาดปลอดภัย เมตตามหานิยม และโชคลาภ