พระเครื่อง

'มอญ เขมร ไทย ไท พม่า ลาว  ญวน'พี่น้องกัน

'มอญ เขมร ไทย ไท พม่า ลาว ญวน'พี่น้องกัน

20 ก.ค. 2557

'มอญ เขมร ไทย ไท พม่า ลาว ญวน' ใช่อื่นไกลคือพี่น้องกัน : สำราญ สมพงษ์รายงาน

                ปากน้ำสมุทรปราการเป็นแหล่งรวมบุคคลนานาชาติพันธุ์และอารยธรรมที่หลากหลาย แต่ละยุคแต่ละสมัยก็มีโซ่คล้องอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกแตกต่างกันไป ในจำนวนนั้นมีทั้งมอญ เขมร ไทย ไท ญวน และก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลัดกันเป็นผู้นำการปกครอง

                ทั้งนี้เฟซบุ๊ก"รามัญคดี - MON Studies" ได้มีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับชาติพันธุ์ในภูมิภาคนี้และมีผลรายงานออกมาเป็นระยะอย่างเช่นล่าสุดเรื่อง

 

"มอญ-เขมรศึกษา(ระดับพื้นผิว)"


                ในทางภาษาศาสตร์จัดให้กลุ่มคนที่พูดภาษามอญและเขมรอยู่ในตระกูลเดียวกัน นั่นคือตระกูล "มอญ-เขมร" (Mon-Kkmer) หรือออสโตรเอเซียติก (Austro-Asiatic) ที่ไม่แค่มอญและเขมรเท่านั้น ยังมีกลุ่มชนอื่นๆ อีกราว 25 กลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ปะหล่อง (ดาละอั้ง) ละว้า ขมุ (กำมุ) มลาบรี (ผีตองเหลือง) เวียดนาม ชอง กะซอง ซัมเร เขมร กูย กวย (ส่วย) เญอ มอญ ญัฮกุร (ชาวบน) และ มานิ (เงาะ ซาไก) ซึ่งมีความใกล้เคียงกันทางภาษาและวัฒนธรรมบางอย่าง

                ก่อนเดินทางไปกัมพูชา ผู้เขียนได้ข้อมูลจากคนรอบข้างว่าเคยได้พูดคุยกับคนมอญในกัมพูชา แต่ไม่มีรายละเอียดเรื่องถิ่นฐานความเป็นมา บางท่านระบุว่าเคยพบเห็น "เสาหงส์" ที่วัดในกัมพูชา สงสัยจะเป็นวัดมอญ?...เมื่อผู้เขียนไปถึงจึงได้ทราบว่า ชาวเขมรนิยมสร้างเสาหงส์ทั้งในวัดและบ้านเรือน เป็นสัญลักษณ์ซึ่งความสุข ความเจริญ ตามความเชื่อทางศาสนาฮินดู ต่างจากคติแบบมอญที่นิยมสร้างขึ้นในวัดเท่านั้น แม้คติของไทยนิยมใช้ "หงส์" ในงานศิลปกรรมตกแต่งพุทธสถานที่สืบทอดมาจากคติพราหมณ์ฮินดู แต่ไม่นิยมสร้างเสาหงส์ ปัจจุบันแทบจะกล่าวได้ว่าวัดในเมืองไทยที่มีเสาหงส์เป็นวัดมอญ ด้วยมอญนับถือหงส์ทั้งในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ นอกจากจะเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นต้นตำนานเมือง "หงสาวดี"

                จากการค้นหาข้อมูลเอกสารก่อนเดินทางพบเพียงว่า มีชุมชนพม่าในเมืองไพลิน ทิศตะวันตกของกัมพูชา ด้านติดจังหวัดจันทบุรีของไทย ขึ้นชื่อเรื่องพลอยไพลินสีน้ำเงินคุณภาพ การตื่นไพลินเมื่อ 100 ปีก่อนดึงดูดคนพม่าโดยเฉพาะจากรัฐฉานเข้าไปเสี่ยงโชค กระทั่งทิ้งร่องรอยวัฒนธรรมเอาไว้ นั่นคือ ผู้คนและเจดีย์ทรง "มอญ" ในวันนี้ ซึ่งผู้เขียนยังไปไม่ถึงจึงยังไม่มีข้อมูลว่า เขาเหล่านั้นประกอบด้วยผู้คนและวัฒนธรรมแบบใด

                จากข้อมูลของมัคคุเทศก์และพนักงานร้านพลอยไพลินในเมืองเสียมเรียบ ทำให้ได้รับข้อมูลใหม่ว่า มีชุมชนมอญขนาดใหญ่อยู่ในเมืองรัตนคีรี เป็นชุมชนทำพลอยสีฟ้า (เพทาย) ที่มีชื่อเสียงของกัมพูชา เมืองนี้อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา ด้านติดกับประเทศลาว ที่ผู้เขียนยังไปไม่ถึงเช่นกัน

                สิ่งที่พบจากการเดินทางครั้งนี้คือ มอญและเขมรมีภาษาที่ใกล้เคียงกันอย่างน่าสนใจ (เท่าที่มัคคุเทศก์แปลให้ฟัง) เช่น ตาว (ร้อน) โกน (ลูก) ปซา (ตลาด) จังร่อด (จิ้งหรีด) เมาะ/ถมอ (หิน) และการนับเลข หมั่ว/มวย (1) บา/ปี (2) ป็อย/เบ็ย (3) โปน/บวน (4) และ ปะซอน/ปรำ (5) ฯลฯ

                ในภาพ ธงผืนผ้ายาวแขวนบูชาพระ วัดพระองค์ธม บนเทือกเขาพนมกุเลน คนเขมรในกัมพูชาเรียกว่า "อะโลก" ใช้บูชาพระพุทธรูป เทพ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ส่วนเพื่อนเชื้อสายเขมรสุรินทร์บอกผู้เขียนว่า แถบสุรินทร์ศรีษะเกษเรียกว่า "ตวงตาโลก" น่าจะแปลว่า ธง(บูชา)พระ ขณะที่คนเขมรสุรินทร์ศรีษะเกษไม่ใช้บูชาพระ แต่ใช้ประดับตกแต่งสถานที่จัดงาน ทั้งงานมงคลและอวมงคล ดูเหมือนจะเป็นเพื่อการบ่งบอกอาณาบริเวณที่จัดงานเสียมากกว่าเพื่อการบูชาสักการะ

                อย่างไรก็ตาม ธงหรือตุงหรือตวงของเขมรดังกล่าว นับว่าใกล้เคียงกับ "โหน่" หรือ "ธงตะขาบ" ของมอญ ทั้งหน้าตาและการใช้งาน คนมอญจะร่วมใจกันจัดทำ "โหน่" ขึ้นแห่แหนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แล้วชักขึ้นแขวนบนยอดเสาหงส์เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า

                การมีเป้าพิจารณาหรือสมมุติฐานบางอย่างล่วงหน้า ดีตรงที่ทำให้ผู้เขียนมองเขม้นหา อาจเป็นไปตามคาดหรือเป็นไปในทางตรงกันข้าม ก็ถือว่าได้ผลการวิจัยขนาดเล็กส่วนตัว อย่างน้อยก็มีประโยชน์ในแง่ของอุปกรณ์ช่วยเล็ง


"มอญลำพูนกับมอญหงสาวดี"


                ชุมชนมอญหนองดู่-บ่อคาว ต.บ้านเรือน อ.ป่าซาง ลำพูน ไม่มีบันทึกประวัติศาสตร์เป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีตำนานเรื่องเล่ามุขปาฐะและวิถีวัฒนธรรมมอญ ที่ผูกพันกับตำนานพระนางจามเทวี และความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมกับล้านนา แสดงถึงความเป็นมาของมอญที่นี่ซึ่งต่างจากมอญในภาคกลางและส่วนอื่นๆ ของไทย

                ดังปรากฏร่องรอยในพงศาวดารเมืองเหนือ ตำนานพื้นเมืองหลายฉบับกล่าวตรงกัน สอดคล้องกับความเป็นมาของตำนาน "ลอยฮะม่ด" (ลอยกระทง) ของมอญลำพูน ที่สืบเนื่องจากเมื่อครั้งเกิดโรคห่าหรืออหิวาตกโรคระบาดในเมืองหริภุญชัยเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 16 นานร่วม 6 ปี ผู้คนอพยพไปอาศัยยังเมืองสะเทิมและหงสาวดี พงศาวดารเมืองเหนือระบุถึงความสัมพันธ์ของคนทั้งสองเมืองว่า

                "ชาวพระนครหริภุญชัยกับชาวพระนครหงสาวดีก็เกิดพิศวาสคุ้นเคยรักใคร่กันเป็นอันมาก ถึงภาษาของคนทั้ังสองพวกนี้ก็พูดเป็นภาษาเดียวกัน คำใดคำหนึ่งจะแตกต่างกันบ้างนั้นก็ไม่มี..."

                หลังโรคร้ายสงบ มอญหริภุญชัยก็อพยพกลับ ด้วยความผูกพัน กับมอญเมืองสะเทิมและหงสาวดี จึงมีการจัดพิธีลอยฮะม่ด ลอยกระทงเพื่อรำลึกถึงญาติมิตรและบรรพชนมอญที่เอื้อเฟื้อเมื่อยามยาก มิได้ลอยเพื่อขอขมาแม่คงคาอย่างไทยภาคกลาง

                ส่วนประเพณีลอยกระทงของมอญทั่วไปนั้น ผูกพันอยู่กับตำนานพระอุปคุต หนึ่งหมู่บ้านจะช่วยกันต่อเรือขึ้นหนึ่งลำ ตกแต่งด้วยธงทิว แพรพรรณ ข้าวสารอาหารแห้ง ดอกไม้ธูปเทียน บ้างก็ตัดผมบนศีรษะใส่ลงไปด้วย เข็นเรือออกสู่ทะเล เพื่อบูชาพระอปคุตที่จำศีลอยู่ ณ กลางสะดือมหาสมุทร

                นอกจากนี้ ยังมีการไปมาหาสู่กันระหว่างมอญในเมืองเมาะตะมะ หงสาวดี กับชุมชนลำพูนไม่เคยขาด เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดหนองดู่ภายหลังบูรณะขึ้นใหม่ก็มาจากเมืองเมาะตะมะ มีสายสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับหลวงพ่ออุตตมะ แม้กระทั่งเช้าวันที่ผู้เขียนเดินทางไปถึง (23 มิถุนายน 2550) คณะสงฆ์จากเมืองมะละแหม่ง 10 รูป ก็ได้เดินทางมาเยี่ยมเยียนวัดเกาะกลางในฐานะผู้มีภาษาวัฒนธรรมเดียวกัน

                จะว่าไปแล้ว เมืองสะเทิมและหงสาวดีในยุคนั้น เป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญของชาวหริภุญชัย ที่สามารถติดต่อกับเอเชียกลาง เอเชียใต้ คาบสมุทรมะละกา และยุโรป รวมทั้งเมืองเมาะตะมะ และมะละแหม่ง ก็เป็นเส้นทางการค้าสำหรับหัวเมืองเหนือของไทยมาแต่โบราณ กระทั่งทุกวันนี้ ตลอดจนวันที่ประชาคมอาเซียนจะเปิดตลาดการค้าเสรี มะละแหม่งก็ยังเป็นเส้นทางการค้าสำคัญที่พ่อค้าไทยและนานาชาติก้าวตามมะกะโทไปไม่ห่าง

 


สันติศึกษามจรมอบอุปกรณ์การศึกษาแก่มูลนิธิรามัญรักษ์


                เนื่องจากกลุ่มคนที่อาศัยที่ปากน้ำสมุทรปราการมีความหลากหลาย การจะอาศัยภาครัฐเข้ามาดูแลอย่างเดียวคงไม่ทั่วถึง ต้องอาศัยภาคเอกชนหรือผู้มีจิตอาสาเข้ามามีส่วนร่วม จำนวนนั้นก็มีมูลนิธิรามัญรักษ์ภายใต้การนำของนายอุทัย มนี  โปรดิวเซอร์รายการทีวี สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย อดีตพระมหาเปรียญ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)  ที่ดูแลเด็กและแรงงานต่างชาติอยู่ประมาณ 500 คน โดยอาศัยจิตเมตตาจากสาธารณชนทั้งหลายร่วมบริจาคอุปกรณ์การเรียนการสอนถึงสามารถดำเนินการอยู่ด้วย

                เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมานายอุทัยพร้อมเจ้าหน้าที่เดินทางไปที่ มจร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยาเพื่อรับของบริจาคจากสถาบันภาษา มจร ร่วมกับ โครงการปริญญาโท หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสันติศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มจร ร่วมสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอนให้กับมูลนิธิรามัญรักษ์ ในโครงการ "ศูนย์พัฒนาภูมิปัญญาไทย-มอญ" เพื่อเด็กและแรงงานต่างชาติสำหรับใช้ในการศึกษาเล่าเรียนให้เด็กที่ด้อยโอกาส เป็นจำนวนมาก

                โดยมีการมอบอุปกรณ์การศึกษา จำนวน 1,000 ชุด ซึ่งมี สมุด ปากกา ไม่บรรทัด กระเป๋าผ้า ซองเอกสาร และ และเงินทุนสนับสนุน เพื่อใช้ในโครงการของงมูลนิธิรามัญรักษ์ เป็นจำนวน เงิน 8,700 บาท

                นี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของน้ำใจที่มอบให้กับบุคคลหรือหน่วยงานที่มีจิตอาสาที่เห็นมนุษย์ร่วมโลกเป็นทุกข์แล้วทนอยู่ไม่ได้ต้องเข้าไปช่วยเหลือให้เขาอยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุข  เพราะมนุษย์ทั้งผองคือพี่น้องกัน เป็นเพราะภูมิประเทศต่างหากทำให้มนุษย์แตกต่างและคิดแตกแยก ดังนั้นมนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างอย่างมีความสุขอย่างไร