
พ.อ.จิตติวัศร์ยึด'สมเด็จพระนเรศวรมหาราช'เป็นสรณะ
พ.อ.จิตติวัศร์ ศรสุวรรณ์ ยึด'สมเด็จพระนเรศวรมหาราช' เป็นสรณะ : พระเครื่องคนดัง เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
ราชการสงครามใน "สมเด็จพระนเรศวรมหาราช" หรือที่ชาวบ้านทั่วไปในครั้งนั้นเรียกว่า "พระองค์ดำ" เป็นประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งของชาติไทย พระองค์ได้กู้อิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก และทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทย อย่างกว้างใหญ่ไพศาล โดยเฉพาะสงครามยุทธหัตถี เมื่อเช้าของวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ.๒๑๓๕ สมเด็จพระนเรศวรทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะขวา สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง กลายเป็นประวัติศาสตร์การสู้รบแห่งชนชาติสยามไทยมาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อถึงวันที่ ๒๕ มกราคมของทุกๆ ปี เป็นวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ระลึกถึงพระองค์ผู้ทรงต่อสู้อริราชศัตรูและทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะพระมหาอุปราชา และทรงกอบกู้เอกราชประกาศอิสรภาพจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำพระนามของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไปตั้งเป็นชื่อสถานที่สำคัญ เช่น มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก และค่ายทหารต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ จ.พิษณุโลก ค่ายนเรศวร ที่ จ.ลพบุรี ค่ายนเรศวรมหาราช ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เป็นต้น ส่วนกรมตำรวจได้นำพระนามของพระองค์มาตั้งเป็นชื่อค่ายตำรวจตระเวนชายแดนที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรีว่า "ค่ายนเรศวร" ด้วยเช่นกัน
ด้วยความสามารถในราชการสงครามของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับ พ.อ.จิตติวัศร์ ศรสุวรรณ์ รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จ.ลำพูน จะแขวนและยึดถือ "เหรียญสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นสรณะทางใจ" มาตั้งแต่เริ่มรับราชการทาหารจนถึงปัจจุบัน โดยได้ให้เหตุผลสั้นๆ ว่า "พระองค์ท่านเป็นกษัตริย์นักรบ ผมเป็นทหาร ผมเป็นนักรบ ทำงานเพื่อรักษาและปกป้องผืนแผ่นดินไทย โดยมีพระองค์เป็นแบบอย่างของความรักชาติ"
พร้อมกันนี้ พ.อ.จิตติวัศร์ ยังบอกด้วยว่า เรื่องการขอพรกับบนบานศาลกล่าวต้องแยกแยะออกจากกัน คือ ถ้าเป็นเรื่องการขอพรจะไปขอจากพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หรือพระเกจิอาจารย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าเป็นเรื่องการบนบานสารกล่าวก็จะไปขอกับบูรพมหากษัตริย์ในอดีต โดยเฉพาะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือแม้กระทั้งพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (ต้นราชสกุลอาภากร) ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นที่รู้ดีในหมู่ทหารหาญว่า "หากบนขออะไรที่ไม่เกินตัวจะสมใจปรารถนาทุกประการ โดยเฉพาะตำแห่งหน้าที่การงาน"
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการสร้างพระบรมราชานุสรณ์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในหลายแห่งทั่วประเทศ เช่น พระบรมราชานุสรณ์ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ พระราชวังจันทน์ จ.พิษณุโลก, ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จ.พิษณุโลก, พระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จ.พิษณุโลก, พระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก, พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี, ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ริมหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู เมื่อมีโอกาส พ.อ.จิตติวัศร์ จึงได้รับเป็นประธานดำเนินงานสร้างพระรูปเหมือนสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประทับนั่งหลั่งทักษิโณทก ขนาดเท่าองค์จริง เพื่อประดิษฐานหน้าตึกกองกำลังนเรศวร ค่ายนเรศวร จ.ตาก
เมื่อถามถึงหลักธรรมที่ใช้ปกครองผู้ใต้บังคับบัญชา พ.อ.จิตติวัศร์ บอกว่า ทำงานด้วยความเป็นธรรม เป็นเจ้านายไม่ได้หมายความว่าทำงานเก่งกว่าลูกน้องเสมอไป ต้องคิดอยู่เสมอว่าลูกน้องให้เป็น "เพื่อนร่วมงาน" ไม่ใช่คนที่จะสั่งให้ทำงานทุกอย่างทุกเรื่อง ที่สำคัญคือ ยินดีรับฟังข้อเสนอต่างๆ น้อมรับคำตำหนิที่สร้างสรรค์ อธิบายถึงเหตุผลและรายละเอียดต่างๆ ว่าทำไมไม่เห็นด้วยกับวิธีการหรือแนวทางที่ลูกน้องนำเสนอ นอกจากนี้แล้วต้องสนใจสภาพความเป็นไป สภาพความเป็นอยู่ อารมณ์ ความรู้สึกของลูกน้องแต่ละคน และจะพยายามเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือภายในขอบเขตที่พอจะช่วยได้ ขณะเดียวกันเขาจะติดตามงานต่างๆ จากลูกน้อง หากคนใดทำงานติดขัดหรือทำไม่ได้ เขาจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา ให้คำแนะนำ
สร้างพระเพื่อเป็นขวัญ"ทหารหาญ"
พ.อ.จิตติวัศร์ บอกว่า วัตถุมงคล “รุ่น ๑ บารมี ๒ มหาราช” จัดสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ ๑.เพื่อหารายได้จัดพิธีเททองหล่อรูปเหมือนสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ขนาดเท่าองค์จริง ประทับนั่งหลั่งทักษิโณทก เพื่อประดิษฐานหน้าตึกกองกำลังนเรศวร ค่ายนเรศวร จ.ตาก พร้อมจัดทำวัตถุมงคลมอบให้กำลังพลหน่วยกองกำลังนเรศวร และพื้นที่ปฏิบัติการในการป้องกันชายแดน ๒.เพื่อหารายได้เททองหล่อรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย เพื่อประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.ลำพูน ๓.เพื่อหารายได้เททองหล่อองค์พระธาตุหริภุญชัย จำลอง เพื่อใช้ในงานพิธีสรงน้ำของวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.ลำพูน
๔.สนับสนุนการจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาสำหรับสถานศึกษา โรงเรียนแม่ตืนวิทยา อ.ลี้ จ.ลำพูน ๕.สนับสนุนการก่อสร้างห้องเอกซเรย์ให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ต.แม่ตืน อ.ลี้ จ.ลำพูน ๖.สนับสนุนกิจกรรมของกิ่งกาชาดจังหวัดลำพูน
วัตถุมงคล “รุ่น ๑ บารมี ๒ มหาราช” จัดสร้างขึ้นโดย วัดพระธาตุหริภุญชัย ร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดลำพูน ทั้งนี้ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๗ เวลา ๐๙.๐๙ ได้มีพิธีเททองหล่อพระรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย และรูปเหมือนพระนเรศวรมหาราช เท่าองค์จริง พร้อมด้วยพิธีมหาพุทธาภิเษกวัตถุมงคล “รุ่น ๑ บารมี ๒ มหาราช” อธิษฐานจิตเดี่ยว โดยพระครูสิริศีลสังวร (ครูบาน้อยเตชะปญฺโญ) วัดศรีดอนมูล ต.ชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เวลา ๑๐.๐๙ น. และเวลา ๑๓.๑๙ น. พิธีเททองหล่อ และพิธีมหาพุทธาภิเษก โดยครูบาอาจารย์ดังภาคเหนือร่วมพิธี เช่น
พระธรรมมังคลาจารย์ (หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล) วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ประทานจุดเทียนชัย และประธานเททองหล่อ หลวงปู่ครูบาครอง ขตฺติโย วัดท่ามะเกว๋น ต.แม่ปะ อ.เถิน จ.ลำปาง ครูบาสายทอง (กันคุ้ม) วัดท่าไม้แดง ต.วังหิน อ.เมือง จ.ตาก หลวงปู่ครูบาออ ปณฺฑิต๊ะ สำนักสงฆ์พระธาตุดอยจอมแวะ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป วัดอรัญวิเวก (บ้านปง) อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ พระครูวิบูลภาวนานุศาสก์ (หลวงพ่อครูบาสนิท) วัดห้วยบง อ.ลี้ จ.ลำพูน เจ้าอธิการบุญต่อ อุปลวณฺโณ วัดศรีสว่าง (วัวลาย) ต.หารแก้ว อ.หางดง จ.เชียงใหม่
โดยมีพระธรรมคุณาภรณ์ (พิมพ์ญาณวีโร ป.ธ.๗, M.A.) รองเจ้าคณะภาค ๗ เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคาราชวรมหาวิหาร ประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ พระราชปัญญาโมลี (จำรัส ทตฺตสิริ, ปธ.๗) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร, เจ้าคณะจังหวัดลำพูนประธานจัดสร้างฝ่ายสงฆ์ พลโทสาธิตพิธรัตน์ แม่ทัพน้อยที่ ๓ ประธานในพิธี นายสุวรรณ กล่าวสุนทร ผู้ว่าราชการจังหวัดลําพูน ประธานจัดสร้าง ฝ่ายฆราวาส
ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญสามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.naresuanmaharaj.comwww.taksinmaharaj.com และ www.krubasrivichai.com หรือสอถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร.๐๙-๒๒๕๒-๐๙๒๒