พระเครื่อง

'อานาปานสติ'ประเสริฐสำหรับเด็กจำเป็นสำหรับทุกคน

'อานาปานสติ'ประเสริฐสำหรับเด็กจำเป็นสำหรับทุกคน

04 ก.ค. 2557

'อานาปานสติ'ประเสริฐสำหรับเด็กจำเป็นสำหรับทุกคน : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยพิสุทธิ์ เกรียงบูรพา

               เด็กเอ๋ย เด็กน้อย ...   'สมาธิ' เรายังด้อย เริ่มฝึกฝน

               เมื่อเติบใหญ่ จึงจะได้เป็นยอดคน  คืออดทน ฉลาด สืบศาสนา

               ได้ประโยชน์ หลายสถาน เพราะอานาฯ  มี 'สติ' แก่กล้า ตามปรารถนา

               ไม่ติดกับ ความฟุ้งเฟ้อ เพ้อเงินตรา  ด้วยอานา- ปานสติ พาสุขใจ
 
               ควันหลงจากงานล้ออายุท่านอาจารย์พุทธทาส ชาตกาล ๑๐๘ ปีที่ผ่านมา ณ สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ผู้เขียนมีโอกาสเป็นวิทยากรรับเชิญนำธรรมะสู่เด็กน้อยทั้งหมดเกือบ ๙๐๐ คน จากการบรรยายทั้งหมด ๖ รอบใน ๓ วัน แม้จะเหนื่อยแต่ก็รู้สึกคุ้มค่า เพิ่งรู้สึกจากก้นบึ้งจิตใจก็ครั้งนี้แหละ มันเป็นจริงอย่างท่านอาจารย์ฝากไว้ก่อนดับขันธ์ ว่า ... ศีลธรรมของยุวชนคือสันติภาพของโลก

               เพราะการฝากธรรมะไว้กับเด็กนี่เอง ที่จะได้อรรถประโยชน์สูงสุด และเป็นที่หวังได้ว่า เมล็ดพันธุ์จะงอกงาม เติบโต ออกดอกออกผล เป็นพลเมืองที่ดีของโลกในอนาคตได้จริงๆ ตลอดการบรรยายในแต่ละรอบ วิทยากรแต่ละท่านก็จะให้ความรู้ ประวัติท่านพุทธทาส และสวนโมกข์จนครบ ก่อนส่งต่อมาถึงผมซึ่งประจำอยู่ที่ฐาน 'สระมะพร้าวนาฬิเกร์' ท่ามกลางบรรยากาศห้องเรียนธรรมชาติเช่นนี้ หน้าที่ของผม ก็คือการขยายข้อธรรม ผ่านบทเพลงกล่อมน้องโบราณ อันซ่อนปริศนาธรรมไว้ คุณยายต้อย วัย ๘๖ ปราชญ์โบราณ ซึ่งเราเชิญมาร้องบทกล่อมน้อง 'มะพร้าวนาฬิเกร์' version ดั้งเดิม อันสวยงามตามแบบชาวใต้ ...

               เอ้อน้องเอย ... มะพร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน กลางเล (*) ขี้ผึ้ง

               ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง   อยู่กลางเลขึ้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญเอยฯ ...

               (*) … ภาษาใต้ เรียกทะเล ว่า เล

               ปริศนาคือ นิพพานนั้นอยู่ท่ามกลางสังสารวัฏ นั่นเอง ปัญหาอยู่ตรงนั้น หนทางแก้ปัญหาก็อยู่ตรงนั้น ผู้มีปัญญาเท่านั้น จึงหาสุขได้จากทุกข์

               ไม่น่าเชื่อนะครับ ว่าเด็กๆ วัยตั้งแต่ ป.๔ จนถึง ม.๒ จะพอเข้าใจธรรมะที่ลึกซึ้งแบบนี้ได้ เสร็จแล้วผมก็จะนำเด็กๆ เดินจงกรมรอบสระมะพร้าวนาฬิเกร์อันศักดิ์สิทธิ์ด้วยความสำรวม

              
               ทุกครั้งเวลาที่เราเริ่มอบรมกับเด็กจำนวนเป็นร้อย บางทีก็น่าปวดหัว เหมือนจับปูใส่กระด้งเลย ผมไม่เห็นอุบายไหนจะดีเท่ากับให้เด็กๆ ทุกคนลองนั่งสมาธิดู คนละ ๑๐ นาที พร้อมๆ กันทั้งคณะ เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่สุดท้ายอุบายนี้กลายเป็นไฮไลท์อันทรงคุณค่าของการอบรมเลยทีเดียว

               “เอ้า ... หนูๆ ทุกคน พวกเราหากไม่รู้จักการทำอานาปานสติ ก็เท่ากับยังมาไม่ถึงสวนโมกข์นะ”

               เด็กเริ่มสนใจฟัง แล้วเราก็เริ่มแนะนำให้เด็กนั่งจัดระเบียบร่างกาย เตรียมเข้าสู่การทำอานาปานสติ หากกล่าวกันตามแบบฉบับที่ท่านพุทธทาสสั่งสอนไว้ ก็เป็นตามนี้;

               ในกรณีปกติ ให้นั่งตัวตรง (ข้อกระดูกสันหลัง จดกันสนิท เต็มหน้าตัด ของมันทุกๆ ข้อ) ศีรษะตั้งตรง ตามองไปที่ปลายจมูกให้อย่างยิ่ง จนไม่เห็นสิ่งอื่น จะเห็นอะไรหรือไม่เห็น ก็ตามใจ ขอให้จ้องมองเท่านั้น พอชินเข้า ก็จะได้ผลดีกว่าหลับตา และไม่ชวนให้ง่วงนอน ได้ง่ายด้วย มือปล่อยวาง ไว้บนตัก ซ้อนกัน ตามสบาย ขาขัด หรือซ้อนกัน โดยวิธีที่จะ ช่วยยัน น้ำหนักตัว ให้นั่งได้ถนัด และล้มยาก ขาขัด อย่างซ้อนกัน ธรรมดา หรือจะขัดไขว้กัน นั่นแล้วแต่ จะชอบ ที่เรียกขัดสมาธิเพชร แต่หากใครรู้สึกว่าทำได้ยาก ก็ไม่จำเป็นต้องฝืน แต่ขอให้นั่งคู้ขามา เพื่อรับน้ำหนักตัว ให้สมดุล ล้มยากก็พอแล้ว … แล้วรวมความนึก หรือความรู้สึก หรือเรียกภาษาวัดว่า สติ ไปกำหนด จับอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกของตัวเองได้ ... คนธรรมดาจะรู้สึกลมหายใจ กระทบปลาย จะงอยจมูก ให้ถือเอาตรงนั้นเป็นที่สุดข้างนอก (หรือเอาที่ปลายริมฝีปากบน ก็ได้) ...

               แล้วเด็กๆ ทุกคนก็ทำตาม จนห้องทั้งห้องในอาคารเรือนั้นกลับสู่ความสงบอีกครั้ง ... การทำสมาธิอย่างง่ายๆ สำหรับเด็กๆ ที่บางคนเพิ่งจะเคยนั่งสมาธิเป็นครั้งแรกด้วยแล้วนั้น ถือว่าประสบผมสำเร็จ

               ระหว่างที่เด็กๆ กำลังจับจ้อง อยู่ตรงความรู้สึกที่ปลายจะงอยจมูกก็ดี หรือที่ปลายริมฝีปากบนก็ดี พวกเขากำลังจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าและออกอยู่นั่นเอง ผมก็บรรยายเสริมไปว่า ... ระบบความคิดทั้งหมดของเราตอนนี้ Shutdown ลงชั่วขณะ ไม่มีความคิดแม้แต่จะคิดว่าให้เราหยุดคิดเลย ... สมาธิเราไปจดจ่อ Focus อยู่แต่เพียง ลมหายใจที่สูดเข้าลึกๆ ปล่อยออกยาวๆ ... เมื่อหายใจเข้าก็รู้ว่าเข้า ออกก็รู้ว่าออก, เมื่อหายใจยาวก็รู้ว่ายาว สั้นก็รู้ว่าสั้น, ไม่ว่าจะสบายแต่ไหน ในยามหายใจเข้าไปแล้ว เราก็จำเป็นต้องหายใจออก โดยไม่อาจฝืนไว้ได้อยู่ดี หรือ เมื่อยามหายใจออกจนหมด รู้สึกโล่งปลอดโปร่งเพียงใด เราก็ต้องหายใจเข้าไปใหม่ ต่อเนื่องเช่นนี้เรื่อยๆ ไป เพราะแม้แต่ลมหายใจเข้าก็ไม่เที่ยง หายใจออกก็ไม่เที่ยง ล้วนเป็นอนิจจังทั้งสิ้น ... ฯลฯ

               หากใครทำเป็นแล้ว ให้หนูๆ จดจำความรู้สึก และ กระบวนการเหล่านี้เอาไว้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ในยามว้าวุ่นใจ ก็ให้กลับสู่ลมหายใจเข้า-ออก, ในยามประสบปัญหาชีวิต ก็ให้ทำอานาปานสติ เช่นนี้ หนูจะเป็นเด็กฉลาด สมาธิไม่สั้น, เป็นเด็กที่สุขุม ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้, เป็นที่รักของเพื่อนๆ คุณครู พ่อแม่ และเป็นที่รักของเทวดา ... หมั่นทำให้ทุกวัน วันละ ๑๐-๒๐ นาที ก็ยังดีนะครับ

               ลุงพจน์ ยังพลขันธ์ วิทยากรอาวุโสวัยเฉียด ๘๐ ได้กล่าวปิดท้ายแก่เด็กๆว่า ...

               “ให้ลูกหลานจดจำวิธีการเหล่านี้ไว้ให้ดีๆ เพราะมันจะเป็นเครื่องมือที่เราต้องใช้ไปจนตลอดชีวิต แม้แต่ลุงเอง อายุป่านนี้แล้ว ก็ยังจำเป็นต้องทำอานาปานสติอยู่ การทำสมาธิ จึงจำเป็นสำหรับลูกหลานมาก”

               ครับ ... อานาปานสติ ประเสริฐสำหรับเด็กๆ จำเป็นสำหรับทุกคน เห็นผลได้ด้วยตัวท่านเอง โดยเริ่มจากความว่างชั่วคราว ถือเป็นการพักผ่อนทางจิตวิญญาณที่สุขสงบจริงๆ ที่ไม่ต้องใช้ตังค์สักบาท ... กระทั่งถือ ความว่างอย่างถาวร อันเป็นที่สุดแห่งทุกข์ล่ะ