พระเครื่อง

พระสมเด็จวัดระฆังพุทธคุณที่มีวัดด้วยค่านิยม๑๐๐ล้าน!

พระสมเด็จวัดระฆังพุทธคุณที่มีวัดด้วยค่านิยม๑๐๐ล้าน!

30 มิ.ย. 2557

พระสมเด็จวัดระฆังพุทธคุณที่มีวัดด้วยค่านิยม๑๐๐ล้าน! : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

               "พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม" เป็นพระที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เป็นผู้สร้างขึ้น กล่าวกันว่าท่านเริ่มสร้างขึ้นมาเมื่อปี ๒๔๐๙ ภายหลังจากโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น พระสมเด็จพุฒาจารย์ จึงเรียกขานพระเครื่องที่สร้างขึ้นว่า "พระสมเด็จ" และได้สร้างเรื่อยมาจนถึงปี ๒๔๑๕ โดยได้แจกจ่ายแก่บรรดาญาติโยมที่มาเยี่ยมเยียน และเมื่อครั้งออกบิณฑบาตในตอนเช้า ครั้นหมดก็สร้างใหม่ ปลุกเสกด้วยคาถาชินบัญชรที่ท่านได้มาจากเมืองกำแพงเพชร ผู้แกะพิมพ์ถวาย คือ หลวงวิจารณ์เจียรนัย ช่างทองในราชสำนัก

                "ตรียัมปวาย" หรือ "พ.อ.(พิเศษ)ประจน กิตติประวัติ" อดีตนายทหารประจำกองบัญชาการทหารสูงสุด ได้จัดทำเนียบชุดพระเครื่อง "เบญจภาคี" ขึ้นเมื่อปี ๒๔๙๕  โดยเมื่อแรกเริ่มยังคงเป็นเพียง "ไตรภาคี" คือ มีเพียง ๓ องค์เท่านั้น ประกอบด้วย "พระสมเด็จ" วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นองค์ประธาน ซ้ายขวาเป็น พระนางพญา จ.พิษณุโลก และพระรอด จ.ลำพูน หลังจากนั้นจึงได้ผนวก "พระกำแพงซุ้มกอ" กำแพงเพชร และ "พระผงสุพรรณ" สุพรรณบุรี เข้าเป็นชุดเบญจภาคี สุดยอดปรารถนาของนักสะสมพระเครื่องทั้งหลาย จากค่านิยมกันในหลักพันบาท และทะยานเข้าสู่หลักล้านในปัจจุบันนี้

                ทั้งนี้หากเมื่อมองย้อนกลับไปในครั้งนั้น พระเครื่องที่ได้รับความนิยมชมชอบมากเป็นพิเศษแล้ว คือ พระเครื่องที่มีพุทธคุณในด้าน "คงกระพันชาตรี" ซึ่งการจัดทำทำเนียบเบญจภาคีนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดความนิยมพระเครื่องทั้ง ๕ องค์ในชุดดังกล่าว อันล้วนเป็นพระเครื่องที่มีราคาการเช่าที่สูงๆ ทั้งสิ้น
 
                การเช่าการขายพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่ ที่มีชื่อเสียงอยู่ในระดับแถวหน้าเช่น "องค์เสี่ยหน่ำ" อย่าง "องค์ลุงพุฒ" "องค์ขุนศรี" "องค์เล่าปี่" "องค์กวนอู" "องค์บุญส่ง" "องค์เจ้แจ๋ว" "องค์เจ๊องุ่น" "องค์ครูเอื้อ" "องค์เสี่ยดม" และ "องค์มนตรี" ล้วนมีการเช่าการขายกันองค์ละหลายสิบล้านบาททั้งสิ้น โดยเฉพาะ "องค์ขุนศรี" หรือ "องค์มนตรี" ซึ่งนายมนตรี พงษ์พานิช นักการเมืองชื่อดังในอดีตได้ครอบครอง เป็น พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่ และพิมพ์ทรงเจดีย์ทั้งสององค์ เช่ากันเกือบ ๕๐ ล้านบาท

                เมื่อหลายปีก่อนการเช่าซื้อพระสมเด็จในราคาหลัก ๑๐ ล้านบาท คนจำนวนไม่น้อยคิดว่าเป็นราคาที่แพงเกินจริงใครจะไปซื้อ แต่ปัจจุบันสมเด็จที่มีชื่อในอดีต อย่าง "องค์ลุงพุฒ" "องค์ขุนศรี" "องค์เล่าปี่" "องค์กวนอู" "องค์บุญส่ง" "องค์เจ้แจ๋ว" "องค์เจ๊องุ่น" "องค์ครูเอื้อ" "องค์เสี่ยดม" และ "องค์มนตรี" ราคาเกิน ๕๐ ล้านทุกองค์ โดยล่าสุด สมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ (องค์เฮียกุ่ย) มีการเปิดราคาไว้สูงถึง ๑๐๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ขึ้นชื่อว่าแพงที่สุดในขณะนี้ แม้ว่าจะเป็นราคาที่สูงเกินจริง แต่การเปิดราคาสูงเช่นนี้ส่งผลให้พระสมเด็จทุกองค์ราคาขยับขึ้นไปด้วย ส่วนจะมีการเช่าซื้อกันหรือไม่นั้นเป็นที่ทราบกันในวงการพระเครื่องเท่านั้น เนื่องเพราะการติดต่อเรื่องราคาอยู่ที่ผู้ขาย และผู้เช่าเท่านั้น

                สำหรับประโยคคำพูดที่ว่า “ดิน” สร้างพระสมเด็จเป็นดินที่โคตรแพงที่สุดในโลกนั้น  คงไม่ถูกทั้งหมดเพราะที่จริงแล้ว พระสมเด็จวัดระฆังไม่ได้ทำจากดิน หากทำขึ้นมาจากผงวิเศษต่างๆ ที่เจ้าประคุณสมเด็จโต ได้รวบรวมเอาไว้ กว่าจะได้แต่ละอย่าง แต่ละชนิด ล้วนยากลำบาก ต้องผ่านกรรมวิธีมากมายในการจัดสร้างวัตถุมงคลให้เข้มขลังเชื่อถือได้ ตามแบบโบราณ

                ทั้งนี้หากจะพูดถึงดินที่โคตรแพงที่สุดในโลก น่าจะเป็นดินที่ใช้สร้างพระรอด กรุวัดมหาวัน จ.ลำพูน ซึ่งก็เป็น ๑ ใน ๕ เบญจภาคี เพราะพระรอดลำพูน ทำจากดินในสมัยโบราณ ยุคพระนางจามเทวี ล่าสุดมีการซื้อขายกันในสภาพสวยๆ ถึงองค์ละเกือบ ๒๐ ล้านบาท 


"เสี่ยดม"ไม่เคยให้ใครเช่าพระ

                นายอุดม กวัสสราภรณ์ ที่คนในวงการนิยมเรียกว่า "เสี่ยดม" ปูชนียบุคคลของวงการพระเครื่อง เมื่อครั้งที่เขายังมีชีวิตอยู่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการพิจารณาพระเครื่องชุดเบญจภาคี โดยเฉพาะพระสมเด็จฯ ระดับครูบาอาจารย์ของคนในวงการเลยทีเดียว พระองค์เด่นองค์แชมป์ทั้งเบญจภาคี มีวัดระฆังพิมพ์ทรงเจดีย์ยากหาตัวจับเทียบได้ก็ยังอยู่ พระเนื้อชิน เนื้อดินยอดนิยมไม่น้อยไม่กระเด็นออกนอกบ้านรวมถึงพระบูชาสมัยเก่าๆ และส่วนมากจะมีอยู่ในหนังสือชาตรีของอาจารย์ประชุม กาญจนวัฒน์

                สำหรับที่มาของชื่อ "พระสมเด็จองค์เสี่ยดม" นั้น "เสี่ยดม" ได้นำพระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ วัดระฆัง เข้าเผยโฉมให้คนในวงการพระยุค ๒๐ ปีที่ผ่านมาเห็น เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความสมบูรณ์สวยงามเทียบชั้นพระสมเด็จฯ องค์ครูในยุคนั้นทุกองค์ เป็นเหตุให้นักนิยมพระสมเด็จฯ ในยุคนั้นเรียกชื่อติดปากว่า "พระสมเด็จองค์เสี่ยดม" กลายเป็นฉายานามประจำองค์พระมาถึงทุกวันนี้

                นายสุขธรรม ปานศรี ประธานบริษัท แม็กกา อาร์.ดี. (กรุ๊ป) จำกัด เจ้าของธุรกิจจำหน่ายรถยนต์นำเข้าอิสระ หรือเกรย์ มาร์เก็ต หรือที่คนในวงการรถยนต์รู้จักในชื่อ “เฮียกุ่ย” ซึ่งที่สนิทชิดเชื้อคบค้ากับเสี่ยดมมานานกว่า ๔๐ ปี ก่อนจะปิดฉากตำนานเซียนใหญ่ ทั้งนี้เฮียกุ่ย ได้รับช่วงพระเครื่องจำนวนหนึ่งมาจากเสี่ยดม บอกว่า ใครที่บอกว่าเคยเช่าหรือซื้อพระเครื่องมาจากเสียดมได้นั้นไม่ใช่เรื่องจริง เพราะเสี่ยดมท่านไม้เคยขายหรือให้ใครเช่าพระเลยสักองค์ เมื่อครั้งที่เสี่ยดมมีชีวิตอยู่ใครทั้งเซียนเล็ก เซียนใหญ่ นักการเมือง รวมทั้งข้าราชการผู้ใหญ่มักจะไปมาหาสู่กับเสี่ยดมเป็นพระจำ ใครที่พูดว่า "เสี่ยดมขอเช่าพระหน่อย" จะถูกไล่กลับออกมาไม่เป็นท่าทุกราย ใครอยากได้พระจากเสี่ยดมต้องบอกว่า "ขอแบ่ง" เท่านั้นจึงจะได้พระจากเสี่ยดมมาครอบครอง


พระสมเด็จวัดระฆัง ๕ พิมพ์นิยม

                พระสมเด็จวัดระฆัง มีหลายพิมพ์ด้วยกัน แต่ที่นิยมได้แก่ พิมพ์พระประธาน พิมพ์เกศบัวตูม พิมพ์เจดีย์ พิมพ์ฐานแซม และพิมพ์ปรกโพธิ์ พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์พระประธาน หรือ พิมพ์ใหญ่เป็นพิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในบรรดาพิมพ์พระทั้ง ๕ แม่พิมพ์

                พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์พระประธาน มีทั้งเนื้อละเอียด เนื้อหยาบ เนื้อแก่น้ำมันตังอิ๊ว หรือเนื้อสังขยา และเนื้อแก่ปูน ลักษณะ พิมพ์ทรง เป็นรูปสมมุติของพระพุทธเจ้านั่งในระฆังคว่ำ องค์พระแลดูนั่งเอียงไปทางขวา ปลายพระเกศสะบัดเอียงไปทางซ้าย ในบางองค์อาจทะลุซุ้มด้านบน แลเห็นหูพระด้านซ้ายเป็นแนวจางๆ ยาวลงมา ไหล่ซ้ายดูยกสูงกว่าไหล่ขวา มองเห็นปลายพระบาท ยื่นเล็กน้อย ฐานขั้นล่างสุดเหมือนสี่เหลี่ยมคางหมู

                พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูม เป็นพระพิมพ์ของวัดระฆังที่พบจำนวนน้อยที่สุดในบรรดาพระพิมพ์ทั้งหมด ลักษณะพิมพ์ทรงเป็นพระนั่งในระฆังคว่ำ พระพักตร์กลมป้อม พระเกศเป็นมุ่นมีลักษณะคล้ายดอกบัวตูม (เป็นที่มาของชื่อพิมพ์) ต่างจากพิมพ์อื่น ตรงที่ปลายพระเกศไม่จรดเส้นซุ้ม องค์พระเป็นล่ำสัน มองเห็นเส้นสังคาฏิชัดเจน

                พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เจดีย์ ลักษณะพิมพ์เป็นพระนั่งในระฆังคว่ำ แลเห็นตั้งแต่พระเกศจรดฐานชั้นล่างสุดเรียงเสมอเป็น แนวรูปทรงเจดีย์ ลักษณะลำตัวพระแลดูหนากว่าทุกพิมพ์

                พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ฐานแซม ลักษณะพิมพ์เป็นพระนั่งในระฆังคว่ำ หูเป็นแบบบายศรี มีเส้นแซมระหว่างใต้องค์พระ กับ ฐานชั้นบนสุด และ ใต้ฐานชั้นบนสุด กับ ฐานชั้นกลาง

                พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ปรกโพธิ์ ลักษณะพิมพ์เป็นพระนั่งในระฆังคว่ำคล้ายพิมพ์ฐานแซม เหนือพระเกศและหัวไหล่ปรกคลุมด้วยใบโพธิ์