
หลวงปู่ทวดพิมพ์กลักไม้ขีดมีผู้ต้องการมากที่สุด
หลวงปู่ทวดพิมพ์กลักไม้ขีดสุดยอดของพระเครื่องที่มีผู้ต้องการมากที่สุด : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
“หลวงพ่อทวด” เป็นพระเครื่องบูชาที่สูงทั้งพุทธคุณและราคาความนิยม ไม่เฉพาะคนในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยเท่านั้น ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศล้วนปรากฏความนิยมและเลื่อมใสในอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อทวดที่ช่วยปัดเป่าสิ่งร้าย และบันดาลความสำเร็จ จนเกิดเป็นคำปวารณาว่า “จะเอาอะไรให้ขอ”
นับตั้งแต่พระครูวิสัยโสภณ หรือพระอาจารย์ทิม ธัมมธโร แห่งวัดช้างให้ ได้สร้างสุดยอดแห่งรูปเคารพในรูปแบบของพระเนื้อว่านเป็นองค์หลวงปู่ทวด ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๗ อันลือลั่น ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้สาธุชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศยังไม่ลดละความพยายามพากันเสาะแสวงหาเพื่อบูชาติดตัวพร้อมอาราธนาบทพุทธคุณ "นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภควา" เพื่อให้แคล้วคลาดจากภยันตรายและเจริญด้วยสิริสวัสดิ์ทั้งหลายทั้งปวง
การสร้างพระเนื้อว่านชุดนี้ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายสงฆ์และฆราวาสอย่างกว้างขวาง เช่น ท่านอาจารย์นอง วัดทรายขาว, คุณอนันต์ คณานุรักษ์ คหบดีเจ้าของเหมืองทางใต้ ส่งผลให้การดำเนินงานราบรื่น สามารถสร้างพระพิมพ์ได้ถึง ๖๕,๐๐๐ องค์ จากที่ตั้งเป้าไว้ตามจำนวนพระธรรมขันธ์ ๘๔,๐๐๐ องค์ ซึ่งเท่ากับจำนวน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
ในระยะแรกมีความเป็นห่วงถึงความคงทนของเนื้อพระ เนื่องจากเป็นการผสมโดยมีดินกากยายักษ์สีดำเป็นมวลสารหลัก ผสมกับว่านประเภทต่างๆ แต่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันว่า องค์พระรูปหลวงปู่ทวดมีความคงทนแม้จะหดตัวตามอายุธรรมชาติเล็กน้อย แต่ไม่มีการปริแตก ระเบิด หักเปราะ หรือแม้แต่ถูกแมลงที่เรียกว่า "ตัวกินพระ" กัดกินก็ไม่มี (ขนาดพระสมเด็จฯ ยังมีแมลงดังกล่าวกัดกินตัวองค์พระ)
กลิ่นของหลวงปู่ทวดเนื้อว่านจะไม่มีความฉุนของน้ำมันตั้งอิ้ว หรือว่านยา นอกจากองค์ที่มีผู้บูชาประพรมน้ำอบน้ำหอม ก็จะมีกลิ่นดอกมะลิตามปกติ นอกจากนี้ยังมีน้ำหนักถ่วงมือไม่เบาโหวงเหมือนพระที่ทำขึ้นใหม่
จุดประสงค์แรกเริ่มจะสร้างขึ้นสามพิมพ์คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก แต่เนื่องจากต้องกดพิมพ์เป็นจำนวนมากโดยใช้ผู้กดมากมายหลายคน จึงขยายแม่พิมพ์ออกไป มีทั้งพิมพ์กลักไม้ขีด พิมพ์กรรมการ พิมพ์พระรอด พิมพ์ต้อ และพิมพ์อื่นๆ
พิมพ์ใหญ่จะแยกเป็นหูขีด เรียกพิมพ์ เอ พิมพ์ลึก เรียกพิมพ์ บี พิมพ์ไหล่จุด เรียกพิมพ์ ซี แต่ละพิมพ์เนื่องจากพิมพ์ที่ทำจากครั่งมีรอยปริทำให้แยกออกเพิ่มเติมอีก ส่วนพิมพ์ใหญ่กรรมการ เนื้อจะออกเป็นสีดำกว่าพิมพ์อื่น เนื่องจากผสมดินกากยายักษ์มาก และจะมีความลึกชัดกว่าพิมพ์อื่น ให้สังเกตความลึกจากรอยพับจีวรบนท่อนแขนซ้ายขององค์พระ
สีของหลวงปู่ทวดเนื้อว่าน พ.ศ. ๒๔๙๗ นั้นมีหลายสี หากเป็นกรรมการจะออกสีดำ หากเป็นพิมพ์ทั่วไปจะออกสีเทานวล แต่จะพบเห็นมีสีแดงนวลบ้างเข้าใจว่าเป็นเพราะผสมว่านสบู่เลือดลงไปมาก
พระหลวงปู่ทวดเนื้อว่าน พ.ศ.๒๔๙๗ ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดของพระเครื่องที่มีผู้ต้องการมากที่สุดประเภทหนึ่งของเมืองไทย แต่ด้วยการแยกออกเป็นหลายแม่พิมพ์ทำให้ต้องพึ่งพาความชำนาญอย่างมาก ดังนั้นการเสาะหาบูชาจึงต้องรอบคอบและเข้าใจถึงสภาพมวลสารขององค์พระและแม่พิมพ์ ซึ่งแยกย่อยไปอย่างหลากหลายจึงจะได้ของแท้มาครอบครองสมดังใจปรารถนา
หลวงปู่ทวดพระเครื่อง“อมตะ”
อาจารย์ทิม เป็นผู้สร้างตำนานพระเครื่องหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ประวัติหลวงปู่ทวดที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกัน เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ โดยร่วมกับนายอนันต์ คุณารักษ์ ได้มีโอกาสพบกัน ณ วัดช้างให้ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดพระเครื่อง หลวงพ่อทวดขึ้นเป็นครั้งแรก ตามภาพนิมิตเป็นรูปพระภิกษุชรานั่งขัดสมาธิบนดอกบัว มีองค์พระดำ นับแต่นั้นมาพระพิมพ์นี้ก็เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายสืบมาจนถึงปัจจุบัน
นับจาก พ.ศ.๒๔๙๗ พระอาจารย์ทิมมีส่วนร่วมสร้างทั้งในนามวัดช้างให้และวัดอื่นๆ ตราบจนกระทั่งมรณภาพมีหลายต่อหลายรุ่น ล้วนแต่เป็นที่นิยมสะสมกันอย่างกว้างขวางเป็นพระเครื่องที่ “อมตะ” ไม่มีวันดับหายไปจากความศรัทธาของเหล่านักพระเครื่องและประชาชนโดยทั่วไป อีกทั้งเรื่องพุทธคุณประสบการณ์ที่มีมาตลอด เรื่องราวการจัดสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดว่านรุ่นแรกนั้น ว่านที่นำมาเป็นส่วนผสมมีทั้งหมดกว่า ๒๐๐ ชนิด ส่วนคำว่า ๑๐๘ มิใช่ว่าน ๑๐๘ ชนิด แต่เป็นเรื่องพุทธคุณที่มีถึง ๑๐๘ คำว่า ๑๐๘ ก็คือ “ได้ทุกสิ่งอะไรก็ได้ศักดิ์สิทธิ์” คำว่าศักดิ์สิทธิ์ เป็นคำพูดที่ครอบจักรวาลนั่นเอง คนเขามักจะนิยมเอามาพูดกัน
พระหลวงปู่ทวดพิมพ์กล่องไม้ขีด หรือที่นิยมเรียกว่า หลวงปู่ทวดพิมพ์กลักไม้ขีด ด้านหลังรูปเจดีย์สถูป สร้างจากเนื้อว่าน ๑๐๘ และว่านดินกากยายักษ์ สีสันและวรรณะสีน้ำตาลอมดำมากเนื่องจากแก่ว่านดินกากยายักษ์มาก เนื้อจัดมันวาว ผิวปรากกฏคราบไข (ราขาว) งอกปูดออกมาอยู่ทั่วบริเวณขององค์พระอย่างจัดเจน
พระหลวงพ่อทวดเป็นพระศักดิ์สิทธิ์มาก เพียงท่องคาถาบูชาท่านก็ใช้ได้แล้ว ในช่วงหลังๆ มา พระหลวงพ่อทวดยิ่งได้รับความนิยมมาก เซียนพระทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ต่างก็ตามหาเก็บเข้ากรุสะสมทั้งนั้น ที่นิยมมากก็เช่น พระหลวงพ่อทวดพิมพ์ใหญ่ เนื้อว่าน หรือพระหลวงพ่อทวดหลังเตารีด แต่ที่ราคาแพงมากและหายากมากๆ เลยจะเป็นหลวงพ่อทวดทรงสี่เหลี่ยม รุ่นกลักไม้ขีด พ.ศ.๒๔๙๗ ว่ากันว่าราคาเช่าหากันหลักสิบล้าน!!! กันเลยทีเดียว
เช่าพระจากรัง "เสี่ยดม"
เมื่อครั้งที่นายอุดม กวัสสราภรณ์ ที่คนในวงการนิยมเรียกว่า "เสี่ยดม" ยังมีชีวิตอยู่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการพิจารณาพระเครื่องชุดเบญจภาคี โดยเฉพาะพระสมเด็จฯ ระดับครูบาอาจารย์ของคนในวงการเลยทีเดียว พระองค์เด่นองค์แชมป์ทั้งเบญจภาคี มีวัดระฆังพิมพ์ทรงเจดีย์ยากหาตัวจับเทียบได้ก็ยังอยู่ พระเนื้อชิน เนื้อดินยอดนิยมไม่น้อยไม่กระเด็นออกนอกบ้านรวมถึงพระบูชาสมัยเก่าๆ และส่วนมากจะมีอยู่ในหนังสือชาตรีของอาจารย์ประชุม กาญจนวัฒน์
ในจำนวนพระในรังของเสี่ยดมนั้น มีอยูองค์หนึ่งได้ถูกขนานนามว่า "พระสมเด็จองค์เสี่ยดม" "เสี่ยดม" ได้นำพระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ วัดระฆัง เข้าเผยโฉมให้คนในวงการพระยุค ๒๐ ปีที่ผ่านมาเห็น เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความสมบูรณ์สวยงามเทียบชั้นพระสมเด็จองค์ครูในยุคนั้นทุกองค์ เป็นเหตุให้นักนิยมพระสมเด็จในยุคนั้นเรียกชื่อติดปากว่าองค์ "เสี่ยดม" กลายเป็นฉายาประจำองค์พระมาถึงทุกวันนี้
นายสุขธรรม ปานศรี ผู้จัดการใหญ่ บริษัท แม็กกา อาร์.ดี. (กรุ๊ป) จำกัด เจ้าของธุรกิจจำหน่ายรถยนต์นำเข้าอิสระหรือเกรย์ มาร์เก็ต หรือที่คนในวงการรถยนต์รู้จักในชื่อ “เฮียกุ่ย” นักสะสมพระหลวงพ่อทวดมานานกว่า ๑๐ ปี บอกว่า พระสมเด็จองค์แรกได้มาจาก "เสี่ยดม" โดยได้รู้จักกับท่านมาเกือบ ๔๐ ปี แล้ว ตอนรู้จักกับท่านใหม่ๆ ได้เห็นคนทั้งที่มาขายพระให้เสี่ยดมรวมทั้งขอแบ่งเช่าพระจากเสี่ยดมอีกหลายองค์
อย่างไรก็ตามเพื่อเผยแผ่ความรู้เกี่ยวกับพระหลวงปู่ทวดชุดทองคำ “เฮียกุ่ย” ได้จัดนิทรรศการเปิดกรุพระเครื่องหลวงปู่ทวด "โชว์พระทองคำให้หยิบส่ององค์จริงได้" ไม่ค่อยปรากฏในวงการพระเครื่องบ่อยนัก ณ อาคารปานศรี ซอยรัชประชา ๓ ถนนรัชดาภิเษก เชิงสะพานรัชโยธิน กทม.ให้ชมพุทธศิลป์ และได้สัมผัสชื่นชมพระเครื่องหลวงปู่ทวด ด้วยการส่องด้วยแว่นส่องพระที่ท่านติดตัวไปได้ทุกเนื้อ ทุกพิมพ์ โดยเฉพาะพระชุดเนื้อทองคำที่มีอยู่กว่า ๘๐๐ องค์ มาโชว์ ชนิดที่เรียกว่า "ไม่มีเจ้าของรังพระและคนในวงการพระเครื่องคนไหนใจถึงทำมาก่อน"
สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาพระเนื้อทองคำ รวมทั้งพระองค์ที่ขึ้นชื้อว่าสวยแชมป์ของ “เฮียกุ่ย” สามารถเข้าชมความงามของพุทธศิลป์ของพระที่ www.soonpraratchada.com