
เหรียญพระพุทธ-พระคณาจารย์หนังสือ'เหรียญยอดนิยมอมสยามเล่ม3'
เหรียญพระพุทธ-พระคณาจารย์ ในหนังสือ'เหรียญยอดนิยมอมตะแดนสยามเล่ม๓' : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
หนังสือ “เหรียญยอดนิยมอมตะแดนสยาม เล่ม ๑ และ เล่ม ๒” ที่ทำโดยนายอรรถวัติ ศิริสิทธิธงไชย หรือ บอย ท่าพระจันทร์ คณะกรรมการตัดสินเหรียญยอดนิยมของสมาคมพระเครื่องพระบูชาไทย ได้แนะนำเรื่องราวของเหรียญพระพุทธและเหรียญพระคณาจารย์รุ่นเก่าๆ มีนักสะสมและผู้อ่านหลายท่านที่อยากรู้ถึงที่มาของการจัดสร้างพระเหรียญอย่างละเอียดลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้เขียนเองก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการปูพื้นฐานเพื่อทำความเข้าใจและศึกษาวิธีการดูเหรียญพระพุทธและเหรียญพระคณาจารย์รุ่นเก่าๆ ต่อผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องราวของพระเหรียญมากยิ่งขึ้น
บอย ท่าพระจันทร์ บอกว่าว่า การจะศึกษาเหรียญแต่ละเหรียญด้วยการจดจำรายละเอียดที่สำคัญของตำหนิเหรียญทั้งหมด ซึ่งในพระเหรียญ ๑ เหรียญอาจจะมีจุดตำหนิให้จดจำมากถึง ๑๐ จุด นั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ยิ่งถ้าเราต้องเรียนรู้เหรียญ ๑๐๐ เหรียญ เราจะต้องจดจำตำหนิทั้งหมดถึง ๑,๐๐๐ จุด เลยทีเดียว
ดังนั้นแทนที่จะใช้วิธีการจดจำตำหนิทั้งหมด บอย ท่าพระจันทร์ จึงแนะนำว่า ให้เน้นการศึกษาเหรียญแต่ละเหรียญด้วยวิธีการที่ง่ายกกว่านั้น นั่นก็คือการศึกษาธรรมชาติของเหรียญโดยอาศัยหลักพื้นฐาน ๔ ประการ
๑.ความคมชัดของตัวหนังสือหรืออักขระยันต์
๒.พื้นผิวของเหรียญที่เรียบตึงไม่มีร่องรอยของการถอดพิมพ์ ไม่มีขี้กลาก
๓.การเจาะรูหูเหรียญต้องมีเนื้อปลิ้นเกินที่เป็นธรรมชาติ
๔.วิวัฒนาการของการตัดขอบเหรียญ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามเทคโนโลยีในแต่ละยุคสมัย
ทั้ง ๔ ประการนี้ถือเป็นจุดที่ใช้ในการพิจารณาเหรียญว่าแท้หรือปลอมได้ชัดเจนยิ่งกว่าการจดจำตำหนิ ที่สำคัญยังสามารถนำไปใช้ในการพิจารณาได้ทุกเหรียญไม่ว่าจะเป็นเหรียญในยุคสมัยใดก็ตาม เพราะถึงแม้ว่ากรรมวิธีการทำปลอมในปัจจุบันจะสามารถทำได้ใกล้เคียงกับของจริงแค่ไหน แต่ธรรมชาติของการผลิตเหรียญแต่ละยุค ย่อมมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการซื้อขายเหรียญในปัจจุบัน ผู้ชำนาญการจะใช้วิธีการพิจารณาด้านข้างของเหรียญเป็นบทสรุปว่าแท้หรือไม่ เพราะขอบด้านข้างของเหรียญเป็นสิ่งเดียวที่ยังไม่สามารถปลอมแปลงได้เหมือน เนื่องจากร่องรอยที่ด้านข้างของเหรียญนั้น คือร่องรอยที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากขั้นตอนการผลิตในแต่ละยุคสมัย
อย่างไรก็ตาม การศึกษาเหรียญต่างๆ ตามข้อสังเกต ๔ ข้อข้างต้นนั้น จะต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อไปเช่าหาเหรียญมาศึกษา อีกทั้งเหรียญที่เป็นที่นิยมของวงการล้วนแล้วแต่เป็นเหรียญที่มีราคาแพงตั้งแต่หลักหมื่น ไปจนถึงหลักล้านแทบทั้งสิ้น
“จึงเสนอแนะแนวทางที่ประหยัดกว่า และน่าสนใจสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาแต่มีทุนน้อย นั่นก็คือ ให้ใช้วิธีไปเช่าเหรียญเก่าที่วงการไม่นิยมและมีราคาไม่แพงแทน เพื่อนำมาศึกษาธรรมชาติของเหรียญที่เกิดจากวิวัฒนาการในการปั๊มและการตัดขอบเหรียญ เพราะเหรียญที่ออกมาในยุคสมัยที่ใกล้เคียงกัน ย่อมจะมีขั้นตอนการผลิตที่คล้ายคลึงกัน อาจจะแตกต่างกันก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น” บอย ท่าพระจันทร์ กล่าว
เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น บอย ท่าพระจันทร์ ยังบอกเล่าที่มาที่ไปของขั้นตอนการผลิตพระเหรียญไว้ ณ ที่นี้ด้วย โดยขั้นตอนที่นำมาเล่าสู่กันฟังนี้เป็นขั้นตอนการผลิตเหรียญยุคปัจจุบัน เพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้ผู้อ่านได้เข้าใจคำว่า “ธรรมชาติของเหรียญ” ที่มักมีการพูดกล่าวอ้างถึงในวงการพระเครื่องอยู่บ่อย ๆ อีกทั้งยังสามารถนำมาแยกแยะว่า “เหรียญใดเป็นเหรียญแท้ และเหรียญใดเป็นเหรียญเก๊” ได้อีกด้วย ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นขั้นตอนใหญ่ ๆ ได้ประมาณ ๖ ขั้นตอน
ขั้นตอนการสร้างพระเหรียญที่ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยใดก็ต้องทำเหมือนกันทั้งหมด โดยผู้จัดสร้างจะต้องให้ผู้ออกแบบที่มีฝีมือร่างแบบเป็นรูปภาพว่าจะให้เหรียญที่ออกมานั้นเป็นรูปทรงใด อาทิ รูปไข่, รูปทรงกลม, ทรงเสมา เป็นต้น พร้อมกับออกแบบรายละเอียดบนเหรียญ ไม่ว่าจะเป็นภาพของพระเกจิคณาจารย์ หรือพระพุทธ ตลอดจนอักขระยันต์และลวดลายต่างๆ บนพื้นเหรียญ ทั้งด้านหน้า-ด้านหลัง ให้สมบูรณ์ โดยการออกแบบนั้นจะออกแบบให้มีขนาดใหญ่กว่าขนาดจริงประมาณ ๘ เท่า เพื่อให้เห็นรายละเอียดที่ชัดเจนและไปผ่านกระบวนการต่อไปได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน
จากยุคสมัยของการจัดสร้างเหรียญ มาถึงขั้นตอนการจัดสร้างเหรียญพระพุทธและเหรียญพระคณาจารย์ยุคปัจจุบันอย่างคร่าวๆ ที่ผู้เขียนได้นำมาอธิบายไว้ในหนังสือ “เหรียญยอดนิยมอมตะแดนสยาม เล่ม ๓” นี้ ผู้เขียนหวังว่า นี้จะเป็นการปูพื้นฐานเพื่อทำความเข้าใจต่อการศึกษาพระเหรียญไม่มากก็น้อย
ยุคและอายุของเหรียญ
ทั้งนี้เพื่อให้ง่ายต่อการศึกษาทำความเข้าใจ ผมจึงจำแนกเหรียญต่างๆ ตามกรรมวิธีการปั๊มตัดข้างเหรียญ โดยแบ่งออกเป็นออก ๓ ยุคสำคัญ
ยุคที่ ๑. ประมาณพ.ศ. ๒๔๔๐-พ.ศ. ๒๔๘๕
ยุคที่ ๒. ประมาณพ.ศ. ๒๔๘๖-พ.ศ. ๒๔๙๙
ยุคที่ ๓. ประมาณพ.ศ. ๒๕๐๐-ปัจจุบัน
๑.ช่วงพ.ศ. ๒๔๔๐-๒๔๘๕ เป็นช่วงที่นิยมสร้างเหรียญลักษณะรูปทรงกลม รูปไข่ รูปทรงอาร์มและทรงเสมา ซึ่งรูปทรงเหรียญทั้งสี่ชนิดนี้สามารถแยกตามกรรมวิธีการสร้างได้เป็น ๒ ชนิด คือ เหรียญชนิดปั๊มข้างเลื่อยและเหรียญชนิดปั๊มข้างกระบอก
โดยเหรียญชนิดปั๊มข้างเลื่อย ก็คือการนำแผ่นโลหะที่มีขนาดใหญ่กว่าขนาดของเหรียญมาปั๊มให้ได้ตามลักษณะรูปทรงที่ต้องการ จากนั้นจึงนำไปเลื่อยฉลุให้สวยงามออกมาเป็นเหรียญตามรูปทรงนั้นๆ
๒.เหรียญชนิดปั๊มข้างตัด (ปั๊มตัดยุคเก่า) เป็นยุคที่เริ่มพัฒนากรรมวิธีการจัดสร้างเหรียญด้วยการนำเครื่องจักรที่ทันสมัยมากขึ้นมาใช้แทนกรรมวิธีแบบเก่าที่ใช้การเข้ากระบอก และต้องเลื่อยขอบออกเพื่อตบแต่งในขั้นตอนสุดท้าย ด้านข้างของเหรียญจะมีลักษณะมนๆ ไม่ค่อยมีริ้วรอยมากนัก
๓.เหรียญปั๊มตัดยุค พ.ศ. ๒๕๐๐-ปัจจุบัน ในยุคนี้ได้มีการพัฒนาตัวตัดข้างเหรียญที่ทันสมัยเพื่อความสะดวกในการตัดเหรียญในจำนวนมากๆ ตัวตัดยุคนี้จึงค่อนข้างคมชัด
ผู้สร้างตำนานหนังสือพระเหรียญแพง
บอย ท่าพระจันทร์ บอกว่า “พระไม่ได้เล่นยากอย่างที่คิด แต่ผู้เล่นต้องรู้จักและเข้าใจพระ” สิ่งหนึ่งที่ทำให้ชื่อชั้นของ บอย ท่าพระจันทร์ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางก็คือ การเป็นเซียนพระที่ไม่หวงวิชาดังจะเห็นได้จากการที่เขาได้จัดทำหนังสือชี้ตำหนิเหรียญ “เหรียญยอดนิยม อมตะแดนสยาม เล่ม ๑” ขึ้นมา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยหนังสือเล่มนี้ได้ระบุรายละเอียดที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณ “ข้างเหรียญ” ออกมา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาและเรียนรู้เรื่องราวของพระเหรียญอย่างละเอียด แบบที่ไม่เคยมีใครในวงการกล้าทำ ! จนทำให้หนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือพระเหรียญที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์วงการพระเครื่องอีกด้วย
หนังสือ “เหรียญยอดนิยมอมตะแดนสยาม เล่ม ๑" ออกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐ เล่ม ๑ จอง ๑,๘๐๐ บาท ปก ๒,๕๐๐ ปัจจุบันราคาเล่มละ ๒๕,๐๐๐ บาท ต่อมา พ.ศ. ๒๕๕๒ บอย ท่าพระจันทร์ ออกในหนังสือ “เหรียญยอดนิยมอมตะแดนสยาม เล่ม ๒ จอง ๑,๘๐๐ บาท ปก ๒,๕๐๐ ปัจจุบันราคาเล่มละเกือบ ๑๐,๐๐๐ บาท
ด้วยคุณภาพและจากกระแสความเรียกร้อง พ.ศ. ๒๕๕๗ บอย ท่าพระจันทร์ ออกหนังสือเหรียญยอดนิยมอมตะแดนสยามเล่ม ๓ สามารถจองได้แล้วนะครับ ราคาจองเพียง ๒,๒๐๐ บาท จากหน้าปก ๓,๐๐๐ บาท ๐๘-๕๙๔๔-๔๔๒๓ จืด มรดกไทย พิมพ์จำนวนจำกัด ๔๐๐ กว่าหน้า ๒๐๐ กว่าเหรียญ รูปขนาดใหญ่พิเศษ ทุกๆ ขั้นตอน และทุกๆ รายละเอียด
ดูรายละเอียดทางเฟซบุ๊ก :จืด มรดกไทย หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ จืด มรดกไทย โทร.๐๘-๕๙๔๔-๔๔๒๓