พระเครื่อง

'พระสมเด็จวัดนก'จ.อ่างทองเนื้อเขียวหลังจารเปียก

'พระสมเด็จวัดนก'จ.อ่างทองเนื้อเขียวหลังจารเปียก

08 พ.ค. 2557

'พระสมเด็จวัดนก'จ.อ่างทองเนื้อเขียวหลังจารเปียก : ปกิณกะพระเครื่อง โดยกร หลักสี่

                 จ.อ่างทอง มีชื่อ "วัดนก" ถึง ๓ วัดด้วยกัน คือ ๑.วัดนก (ราชปักษี) อ.เมือง ๒.วัดนก (ราชสกุณา) อ.วิเศษไชยชาญ และ ๓.วัดนก (สกุณาราม) อ.ไชโย
 
               ข้อมูลจากหนังสือ "เมืองอ่างทอง" จัดพิมพ์เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายในศุภวารมงคลสมัยที่ "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" ทรงเจริญพระชนมาพรรษา ๓ รอบ พ.ศ.๒๕๓๔ ได้กล่าวถึง สำหรับ "วัดนก สกุณาราม" อ.ไชโย ว่า....ตั้งอยู่เลขที่ ๑ บ้านสกุณา หมู่ ๕ ต.ไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง ที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่มติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา อาคารเสนาสนะต่างๆ ประกอบด้วยพระอุโบสถ สร้างใหม่ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดกว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร พระวิหารคอนกรีตและไม้กว้าง ๕ เมตร ยาว ๙ เมตร ศาลาการเปรียญเป็นไม้ กว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๓๐ เมตร กุฏิสงฆ์ ๗ หลัง
   
               วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาคงถูกทิ้งร้างไป จนกระทั่งในปี ๒๔๑๖ ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง ปัจจุบันมีเนื้อที่ทั้งหมด ๖๐ ไร่ ๑ งาน ๑ ตารางวา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗
  
               โบราณวัตถุประกอบด้วย พระเจดีย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระอุโบสถ เป็นพระเจดีย์ทรงกลมที่มีฐานสูง ที่ก้านฉัตรไม่มีเสาหาร อายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ตอนปลายได้ แต่คงได้รับการซ่อมแซมในตอนกลางของพุทธศตวรรษที่ ๒๕ อีกครั้ง
   
               ที่วัดนก (สกุณาราม) แห่งนี้ มีกรุพระเครื่องเลื่องชื่อซึ่งอดีตเจ้าอาวาสวัดนาม "หลวงปู่เฟื่อง" เป็นผู้สร้างขึ้นมาเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๖๐-๒๔๗๐ ในสมัยนั้นนอกเหนือจาก "หลวงปู่เฟื่อง" แล้ว วัดนก (สกุณาราม) ยังมีพระเกจิอาจารย์เลื่องนามอีกรูปหนึ่งคือ "หลวงพ่อทอง" เป็นพระลูกวัด

               พระสมเด็จวัดนก ที่พบเห็นส่วนมากเป็นพระสมเด็จ ฐาน ๓ ชั้น ขนาดกว้างประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร สูงประมาณ ๒.๓ เซนติเมตร องค์พระพุทธปฏิมากรปางสมาธิ ประทับบนอาสนะฐาน ๓ ชั้น ภายในซุ้มประภามณฑล ๒ ชั้น ระหว่างชั้นมีขีดคั่น ที่เรียกกันว่า "ซุ้มประภามณฑลมีรัศมี" แบบเดียวกับ "พระเครื่องหลวงปู่ศุข" วัดปากคลองมะขามเฒ่า เข้าใจว่าถ่ายทอดแบบกันออกมา

               องค์พระมีพระพักตร์คมโตนูน เกศจะเป็นเกศสูง ๒ ชั้น ปรากฏรอยผ้าสังฆาฏิอย่างชัดเจน ในส่วนของด้านหลังเรียบ และปรากฏรอยจารอักขระลงไปในเนื้อพระ เป็นตัว "อุ" บ้าง ตัว "เฑาะว์" บ้าง หรือตัว "อุณาโลม" บ้าง
  
               พระสมเด็จวัดนก มีหลายพิมพ์ทรง ที่พบเห็นกัน อาทิ พระสมเด็จฐาน ๓ ชั้น ข้างอุ, พระสมเด็จฐานบัว ๒ ชั้น ฯลฯ เนื่องจากเป็นพระเครื่องที่ได้รับการบรรจุกรุ จึงปรากฏรอยคราบกรุให้เห็น

               แต่เดิมทีนั้น พระสมเด็จวัดนก (สกุณาราม) ไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก ปรากฏว่า มีการนำพระสมเด็จวัดนก (สกุณาราม) นี้ไปยัดเป็นของพระเกจิอาจารย์อื่นๆ ก็มี จนเมื่อข่าวคราวของชาวบ้านที่พกพระสมเด็จวัดนก (สกุณาราม) นี้ไว้ในกล่องยาสูบ ไปเหยียบงูแมวเซาเข้าโดนกัดแต่ไม่เข้า....นอกจากนี้ยังมีอีกข่าวหนึ่ง คือ เด็กในตลาดวิเศษไชยชาญ คล้องพระสมเด็จวัดนก (สกุณาราม) เลี่ยมขอบเงิน ไปโดนหมากัดชนิดเสื้อขาดกระจุย ตามเนื้อตัวมีรอยเขี้ยวเต็มไปหมด แต่หาเข้าเนื้อไม่....ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชื่อเสียงของพระสมเด็จวัดนก (สกุณาราม) โด่งดังขึ้นในท้องถิ่นทันที

               อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า...พระสมเด็จวัดนก (สกุณาราม) เป็นพระเนื้อผงน้ำมัน มีหลายสี อาทิ สีเขียว สีเทา สีดำ สีขาว สร้างขึ้นเมื่อปี ๒๔๕๓ โดย "หลวงพ่อแก้ว" ซึ่งเป็นเพื่อนกับ "หลวงปู่ศุข" วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท....ท่านได้สร้างพระพิมพ์นี้เรื่อยมาจนถึงปี ๒๔๗๕ โดยนิมนต์ "หลวงปู่ศุข" ร่วมปลุกเสกด้วย
 
               พระสมเด็จวัดนก มีการสร้างกัน ๒ ยุค คือ ยุคแรกจัดสร้างโดย "หลวงพ่อแก้ว" ประมาณปี ๒๔๕๓ ถึง ๒๔๗๕ พระยุคแรกจะมีสีเขียวกับสีเทา โดยชาวบ้านมักจะเรียกกันว่า "เนื้อหินลับมีดโกน" และได้มีการบรรจุกรุ เพื่อสืบต่อพระศาสนาเอาไว้ด้วย
  
               ต่อมาเมื่อสิ้นยุค "หลวงพ่อแก้ว" แล้ว "พระปลัดเฟื่อง" ได้สร้างขึ้นสืบต่อมาอีก เพราะแม่พิมพ์ยังไม่ได้ทำลาย พระปลัดเฟื่อง ได้สร้างตามแบบฉบับหลวงพ่อแก้วทุกประการ แต่สร้างด้วยเนื้อสีขาวกับสีดำ