พระเครื่อง

เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่๙

เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่๙

05 พ.ค. 2557

เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่๙ : พระองค์ครู โดยไตรเทพ ไกรงู

               พิธีราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทยเรียกว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ปรากฏหลักฐานเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ คือ ศิลาจารึกวัดศรีชุมของพญาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย กล่าวคือ พ่อขุนผาเมือง อภิเษกพระสหาย คือ พ่อขุนบางกลางท่าว ให้เป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ผู้ครองกรุงสุโขทัย แต่ก็ไม่มีรายละเอียดการประกอบพระราชพิธีว่ามีขั้นตอนอย่างใด

               กระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ ทรงประกอบพระราชพิธีนี้อย่างสังเขป เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ ครั้งหนึ่งก่อน แล้วทรงตั้งคณะกรรมการ โดยมีเจ้าพระยาเพชรพิชัย ซึ่งเป็นข้าราชการในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นประธาน สอบสวนแบบแผนโดยถี่ถ้วน ตั้งขึ้นเป็นตำรา แล้วทรงทำบรมราชาภิเษกเต็มตำราอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ และได้ใช้เป็นแบบแผนในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน

               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเครื่องบรมราชาภิเษกพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ระหว่างวันที่ ๔-๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๓

               การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๓ ทางราชสำนักได้ยึดการบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เป็นหลัก แต่ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองที่ยังไม่อุดมสมบูรณ์ เพราะเพิ่งผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ และเพื่อให้เหมาะสมกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย แบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญด้วย

               พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระปฐมบรมราชโองการ พระราชทานอารักขาแก่พสกนิกรชาวไทยทั้งหลายว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"

               สำหรับเหรียญที่ระลึกในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.๒๔๙๓ นับเป็นเหรียญที่สำคัญและหายากมากที่สุดในบรรดาเหรียญในหลวงรัชกาลที่ ๙ หากใครพอจะทราบ ถึงพระราชพิธีดังกล่าว ย่อมตระหนักดีว่า ของทุกอย่างทุกชิ้นที่จะใช้หรือพระราชทานในพิธีนั้น ต้องทำพิธีพุทธาภิเษกให้มงคลก่อนนำมาใช้ทั้งสิ้น ไม่ต่ำกว่า ๓ วัน ๓ คืน ก่อนงานพระราชพิธีจะเริ่ม ตามประวัติ การสร้างไม่มีระบุชัดเจนว่าสร้างมาจำนวนเท่าไหร่ แต่ทราบกันว่า เหรียญนี้จะพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และทหาร ข้าราชบริพาร ที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธีในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๓
 
               ลักษณะ เป็นรูปเสมา ขอบเรียบ ด้านบนมีห่วง ตามบันทึก สร้างด้วยโลหะเงิน และเงินกะไหล่ทอง ขนาดกว้าง ๒๗ มิลลิเมตร ยาว ๓๕ มิลลิเมตร ด้านหน้าของเหรียญเป็นพระบรมรูปในหลวง พระพักตร์ตรง ทรงเครื่องเต็มยศพลเรือน ด้านหลังเป็นอักษรพระปรมาภิไธย "ภปร" อยู่เหนือข้อความ "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒๔๙๓" ปกติมักพบ ชนิด เนื้อเงินกะไหล่ทอง