พระเครื่อง

คำวัด : อาบัติ ปาราชิก

คำวัด : อาบัติ ปาราชิก

02 พ.ค. 2557

คำวัด : อาบัติ ปาราชิก : โดย...พระธรรมกิตติวงศ์

 
                          นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีอดีตพระยันตระ เดินทางกลับประเทศไทยหลังหนีคดีไปนานกว่า ๒๐ ปี ว่าจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า คดีหมิ่นสมเด็จพระสังฆราช ได้หมดอายุความลงไปแล้ว ส่วนคดีไม่ทำตามคำสั่งมหาเถรสมาคม ที่ให้สึกจากความเป็นพระ เนื่องจากปาราชิก พระสงฆ์ที่ต้องปาราชิกแล้วจะไม่สามารถกลับมาบวชใหม่ ในพระพุทธศาสนาได้ตลอดชีวิต ตามที่พระธรรมวินัยได้กำหนดไว้
 
                          คำว่า "อาบัติ" พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙) ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้ให้ความหมายไว้ว่า โทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทหรือข้อห้ามแห่งพระภิกษุ ใช้เรียกความผิดทางพระวินัยของพระภิกษุว่า ต้องอาบัติ มี ๗ อย่าง แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
 
                          ๑.ครุกาบัติ หมายถึง อาบัติหนัก อาบัติที่มีโทษร้ายแรง มี ๒ อย่างคือ อาบัติปาราชิก อาบัติสังฆาทิเสส
 
                          ๒.ลหุกาบัติ หมายถึง อาบัติเบา อาบัติที่มีโทษไม่ร้ายแรงมากเท่าครุกาบัติ มี ๕ อย่างคือ อาบัติถุลลัจจัย อาบัติปาจิตตีย์ อาบัติปาฏิเทสนียะ อาบัติทุกกฎ และอาบัติทุพภาสิต
 
                          ส่วนคำว่า "ปาราชิก" เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายไว้ว่า “ผู้แพ้” โดยมีรากศัพท์มากจากคำเดียวกับคำว่า “ปราชัย" ซึ่งมีอยู่ ๔ สิกขาบท (ประเภท) ดังนี้
 
                          สิกขาบทที่ ๑ ภิกษุใด ถึงพร้อมซึ่งสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลาย แล้วไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง เสพเมถุนธรรม โดยที่สุดแม้ในสัตว์เดรัจฉานตัวเมีย เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
 
                          สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุใด ถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ เป็นส่วนแห่งโจรกรรม จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี ในเพราะถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานใด ภิกษุถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานนั้น แม้ภิกษุนี้ ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
 
                          สิกขาบทที่ ๓ ภิกษุใด จงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิต ให้แก่กายมนุษย์นั้น หรือพรรณนาคุณแห่งความตาย หรือชักชวนเพื่ออันตาย โดยหลายนัย แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
 
                          สิกขาบทที่ ๔ ภิกษุใด ไม่รู้เฉพาะ (คือไม่รู้จริง) กล่าวอวดอุตริมนุสธรรม อันเป็นความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้ามาในตน อันผู้ใดผู้หนึ่งถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม (คือเชื่อก็ตาม ไม่เชื่อก็ตาม ถูกซักถามก็ตาม ไม่ถูกซักถามก็ตาม) เป็นอันต้องอาบัติแล้ว แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้ เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ
 
 
 
 
----------------------
 
(คำวัด : อาบัติ ปาราชิก : โดย...พระธรรมกิตติวงศ์)