พระเครื่อง

หลวงพ่อประสิทธิ์วัดไทรน้อยกับ...ตำนานตะกรุดโทนอันลือลั่น

หลวงพ่อประสิทธิ์วัดไทรน้อยกับ...ตำนานตะกรุดโทนอันลือลั่น

18 เม.ย. 2557

หลวงพ่อประสิทธิ์ วัดไทรน้อยกับ...ตำนานตะกรุดโทนอันลือลั่นแห่งนนทบุรี : ท่องไปในแดนธรรม รูป/เรื่องไตรเทพ ไกรงู

            วัดไทรน้อย ตั้งอยู่เลขที่ ๔๐ หมู่ ๑ ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ต.ไทรน้อย อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ติดคลองพระพิมล ภายในอุโบสถ มีพระประธานประจำอุโบสถ ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๕๙ นิ้ว สูง ๗๒ นิ้ว ตั้งชื่อวัดตามหมู่บ้านว่าวัดไทรน้อย มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม สอนนักธรรรมชั้นตรี-โท-เอก

            การสร้างวัดเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๐ กลุ่มมอญจากมหาชัยบ้านบางกระเจ้า บ้านไร่และบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เข้ามาหักร้างถางป่า ซึ่งแต่เดิมเป็นชายป่ากระทุ่มมืดติดต่อกับป่าหนองเพรางาย เพื่อทำนา พระราชาภิมณฑ์ดำเนินการขุดคลองพระราชาพิมลจากคลองบางบัวทองมาทางทิศตะวันตก จนถึงป่ากระทุ่มมืดใกล้รางกระทุ่ม จึงมีคนมอญมาจับจองที่ดินริมคลองพระราชาพิมลมากขึ้น จนเป็นชุมชนเล็กๆ พ.ศ.๒๔๓๗ คนมอญเหล่านี้สร้างวัดในชุมชนขึ้น ชื่อวัดสาลีมุนีภิรมย์ หมายถึง บริเวณที่ตั้งวัดเป็นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารโดยเฉพาะข้าว และเป็นที่พำนักอันรื่นรมย์ของผู้ทรงศีล ซึ่ง มะธุ หรือตาธุ ได้บริจาคที่ดินจำนวน ๔๒ ไร่ ๒ งาน ใช้เป็นที่สร้างวัด ชาวบ้านได้ช่วยตัดต้นไม้ใหญ่ที่มีในพื้นที่มาเลื่อยทำเสา ทำกระดานและไม้สำหรับใช้สร้างที่พักสงฆ์

            พระที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างวัดแรกเริ่ม คือ หลวงตาโจ๊ก พระมอญ ดำเนินการก่อสร้างจนเป็นวัดมีพระสงฆ์มาอยู่จำพรรษาที่วัดสร้างใหม่แห่งนี้ หลวงตาโจ๊กอยู่จำพรรษาที่วัดนี้และช่วยเหลือในการก่อสร้างเสนาสนะ สิ่งก่อสร้างภายในวัดอยู่นาน เวลาต่อมาชาวบ้านนิมนต์พระอาจารย์เกร็บ พระมอญจากวัดปรมัยยิกาวาส ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัด ต่อมาชาวบ้านวัดบึงลาดสวาย นิมนต์พระอาจารย์เกร็บ ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบึงลาดสวาย อ.บางเลน จ.นครปฐม
 
            พ.ศ.๒๔๙๕ เปลี่ยนชื่อวัดจากวัดสาลีมุนีภิรมย์ เป็นวัดไทรน้อย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย พ.ศ.๒๔๙๙ พระอธิการเผื่อน เจ้าอาวาสวัดไทรน้อยรูปแรกในขณะนั้นมรณภาพ จึงได้นิมนต์ให้พระครูนนทสิทธิการ หรือหลวงพ่อประสิทธิ์ สิทธิกาโร มาเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๒ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๙ พร้อมทั้งบูรณปฏิสังขรณ์วัดไทรน้อย เมื่อออกพรรษาในปีเดียวกัน จึงฝังลูกนิมิตอุโบสถหลังเก่า ในปี พ.ศ.๒๕๕๕ หลวงพ่อประสิทธิ์มรณภาพ จึงได้แต่งตั้งพระครูไพบูลย์อาทรกิจ เป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

            พระครูไพบูลย์อาทรกิจ บอกว่าหลวงพ่อประสิทธิ์ สิทธิกาโร หรือชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อวัดไทรน้อย เป็นเกจิอาจารย์ชื่อดังด้านตะกรุดโทน ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันทั่วไป จนสร้างวัด สร้างโรงเรียน วัดไทรน้อยได้สวยงาม   พ.ศ.๒๕๐๐ ได้สร้างหอปริยัติธรรม ศาลาการเปรียญ กุฏิ และพ.ศ.๒๕๒๒ อุโบสถชำรุด จึงสั่งรื้อแล้วได้สร้างอุโบสถหลังใหม่โดยใช้เวลาสร้างประมาณ ๕ ปี เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗ จึงได้จัดงานฝังลูกนิมิต ได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงเป็นประธานในพิธีตัดลูกนิมิตอุโบสถหลังใหม่

            ในการสร้างวัตถุมงคลหลวงพ่อประสิทธิ์ ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า "ที่ญาติโยมส่วนใหญ่หันมาพึ่งไสยศาสตร์กันมาก ก็เพราะว่าโลกเราถึงคราววิบัติ ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ถูกปล้น หรือถูกลอบวางระเบิด ยิ่งสงครามด้วยแล้วทุกคนจะต้องหาเครื่องรางไว้ติดตัวป้องกันอันตรายต่างๆ นั่นเอง หลักการนำเครื่องราง หรือวัตถุมงคลไปใช้ มีอยู่เพียงหลักการเดียวต้องเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ไม่ไปต้มตุ๋นหลอกลวงใคร เป็นคนมีศีลมีธรรมก็ใช้ได้แล้วและที่สำคัญอย่าไปด่าพ่อล่อแม่เขา หรือกินเหล้าเมาทำตัวเกเรอันธพาล หากทำตัวไม่ดี ความขลังก็จะกลายเป็นความเสื่อมได้ทันที"


มหาเจดีย์มุนีภิรมย์

            พระครูไพบูลย์อาทร พระนักเผยแผ่และพระนักพัฒนาศูนย์ ทั้งนี้ ท่านได้จัดโครงการบรรชาสามเณรภาคฤดูร้อนมากว่า ๒๐ ปีแล้ว รวมทั้งพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดไทรน้อย เปิดสอนครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๐ มีคณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วย ๑.ผู้อำนวยการ พระครูไพบูลย์อาทรกิจ เจ้าอาวาสวัดไทรน้อย ๒.รองผู้อำนวยการ ผอ.สุเทพ วิมลจริยาบูลย์ ๓.เลขานุการ พระสมศักดิ์ สุจิตฺโต และ ๔.ผู้ช่วยเลขานุการ ครูอรพิน นวลคำ

            โครงหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นโครงการใญ่ที่ท่านกำลังดำเนินการอยู่ คือ สร้างมหาเจดีย์มุนีภิรมย์ เพื่อฉลองพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งเพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม มีขนาดกว้าง ๔๐.๕๐  เมตร ยาว ๔๐.๕๐ เมตร ความสูง ๔๙ เมตร มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงนครปฐม ทั้งนี้ ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๕ โดยมีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ร่วมวางศิลาฤกษ์ งบประมาณการก่อสร้างประมาณ ๔๙ ล้านบาท ขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างกำลังขึ้นชั้นสอง แล้วเสร็จประมาณ ๖๐%

            เนื่องจากการก่อสร้างมหาเจดีย์มุนีภิรมย์ ต้องใช้ปัจจัยในการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก วัดไทรน้อยจึงขอบอกบุญถึงผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ร่วมบุญร่วมกุศลใหญ่ในการกุศลครั้งนี้ ผู้ที่ร่วมกุศลสร้างมหาเจดีย์มุนีภิรมย์จะได้รับตะกรุดโทนกลางปลุกเสกเดี่ยว โดยหลวงพ่อประสิทธิ์ ตลอดไตรมาส ระหว่าง พ.ศ.๒๕๔๗-๒๕๕๐ และบรรจุลงกรุใน พ.ศ.๒๕๕๐ จนถึงปัจจุบัน ได้เปิดให้บูชาเพื่อนำเงินสมบททุนสร้างมหาเจดีย์มุนีภิรมย์ สอบถามรายละเอียดโทร.๐-๒๙๒๓-๙๕๙๔ และ ๐๘-๖๕๐๔-๙๗๕๐


ตะกรุดโทนหลวงพ่อประสิทธิ์

            พระครูนนทสิทธิการ หรือหลวงพ่อประสิทธิ์ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่โด่งดังทาง "ตะกรุด" มาตั้งแต่บวชเรียนใหม่ๆ ที่ใช้ได้ผลทางแคล้วคลาดปลอดภัย มีทั้งตะกรุดโทนเดี่ยว ตะกรุดโทนคู่ ตะกรุดโทน ๒ ชั้นดอกเล็กและดอกใหญ่ ตะกรุดหนังเสือดอกเล็กและดอกใหญ่ ตะกรุดทองแดง ตะกรุดไม้ไผ่ตัน ตะกรุดทองแดง ลงรักปิดทองดอกยาวและดอกสั้น ทั้งหมดนี้ตะกรุดดอกเล็กหรือดอกใหญ่จะมีความแตกต่างกันที่ยันต์ และตะกรุดเหล่านี้หากเขียนอักขระเรียบร้อยแล้วม้วนได้เลยโดยไม่ต้องปลุกเสก

            ทั้งนี้ มีเรื่องเล่าว่าหลวงพ่อประสิทธิ์ทำตะกรุดครั้งแรกในอุโบสถ แต่ด้วยเป็นคนกลัวผีจึงได้ชวนพระอีกรูปหนึ่งไปเป็นเพื่อนกันด้วย ขณะที่พระเพื่อนบอกว่า หากทำเสร็จแล้วต้องให้ตะกรุด ๑ ดอกเป็นของตอบแทน จำได้ว่ากว่าจะทำตะกรุดเสร็จต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง จนกระทั่งเวลาประมาณตี ๓ อาตมาก็ทำตะกรุดเสร็จ จึงแบ่งให้เพื่อนไป ๑ ดอกตามสัญญา ต่อมาพระเพื่อนรูปนี้ได้ลาสิกขาออกไป และได้กลายเป็นนักเลง เที่ยวขโมยของสารพัด ถูกชาวบ้านยิงบ้างถูกฟันบ้างก็ไม่เป็นอะไร เพื่อนจึงมั่นใจว่าที่แคล้วคลาดปลอดภัยมาได้นี้ต้องมาจากตะกรุดดอกนี้ ประสบการณ์นี้จึงเป็นที่กล่าวขวัญว่า ตะกรุดของอาตมาสามารถป้องกันภัยอันตรายได้ ทำให้ญาติโยมที่รู้ข่าวต่างเดินทางมาขอตะกรุดกันไม่ขาดสาย

            ส่วนการสร้างพระเครื่องนั้น หลวงพ่อประสิทธิ์สร้างเหรียญรุ่นแรกผูกพัทธสีมา ปี ๒๕๐๐ เป็นเหรียญพระอธิการเผื่อน อดีตเจ้าอาวาสวัดไทรน้อยรูปแรก แต่ถ้าเป็นตัวอาตมาเอง เป็นปี ๒๕๐๘ รุ่นฉลองตราตั้งพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาสวัดไทรน้อย