พระเครื่อง

พระดีศรีล้านนา'ครูบาเจ้าบุญปั๋น'

พระดีศรีล้านนา'ครูบาเจ้าบุญปั๋น'

17 เม.ย. 2557

พระดีศรีล้านนา'ครูบาเจ้าบุญปั๋น' วัดร้องขุ้ม อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ : สายตรงพระล้านนา โดยไก่ สวนดอก

            ครูบาเจ้าบุญปั๋น ธมฺมปญฺโญ เกิดในตระกูล "ปัญญานุสงส์" โยมบิดาชื่อ "พ่ออุ้ยหม่อนจันทร์แก้ว ปัญญานุสงส์" โยมมารดาชื่อ "แม่อุ้ยหม่อนสมนา ปัญญานุสงส์" ท่านถือกำเนิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๔ มิถุนายน ๒๔๕๑ ตรงกับวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ จุลศักราช  ๑๒๗๐ ณ บ้านแม หมู่ที่ ๘ ต.บ้านแม อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่  มีพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน จำนวน ๗ คน

            เมื่อ "เด็กชายบุญปั๋น" มีอายุมากพอ โยมบิดาจึงได้นำไปฝากเป็นเด็กวัด ณ วัดธรรมชัยบ้านแม ได้รับการศึกษาอบรมอักขระวิธี ท่องจำบททำวัตร สวดมนต์ และฝึกแสดงพระธรรมเทศนาแบบพื้นเมืองล้านนา ผ่านไปได้ระยะหนึ่ง พระสงฆ์ทุกท่านที่เป็นครูบาอาจารย์ต่างลงความเห็นว่า "เด็กชายบุญปั๋น" มีภูมิความรู้พอที่จะบรรพชาได้ จึงตกลงจัดงานบรรพชา "เด็กชายบุญปั๋น" ยกฐานะขึ้นเป็นสามเณร ในขณะที่ท่านมีอายุได้ ๑๓ ปี โดยมี ท่านครูบาเจ้าสุริยะ สุริโย เจ้าอธิการวัดร้องขุ้ม เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันอังคารที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔ ต่อมาท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๗๗ ขณะมีอายุ ๒๖ ปี ณ พัทธสีมา วัดร้องขุ้ม ต.บ้านแม อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ โดยมี เจ้าอธิการอุ่นใจ๋ ญาโณ (ครูบาญาณะ) เจ้าอาวาสวัดท่าโป่ง เจ้าคณะตำบลบ้านแม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูบุญมา เมโธ (ครูบาเมธา) อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ วัดวนารามน้ำบ่อหลวง เป็นพระกรรมวาจารย์ พระอธิการเตชา เตชกโร (ครูบาเตชา หรือ ท่านครูบาหนิ้ว) เจ้าอาวาสวัดจอมแจ้ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับสมณฉายาทางพระพุทธศาสนาว่า "ธมฺมปญฺโญ" แปลว่า ผู้มีปัญญารู้ธรรม

            เมื่ออุปสมบทแล้ว พระบุญปั๋น ธมฺมปญฺโญ ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนาด้วยดีตลอดมา และได้รับการศึกษาอบรมจากครูบาอาจารย์ต่างๆ อาทิ พระครูคำอ้าย ชยวุฑฺโฒ เจ้าอธิการอุ่นใจ๋ ญาณ, พระครูบุญมา เมโธ, ครูบาโสภา โสภโณ และพระสุธรรมยานเถร เจ้าอาวาสวัดวนารามน้ำบ่อหลวง (ที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกท่านว่า "ครูบาเจ้าอินทจักรรักษา" วัดน้ำบ่อหลวง)

            เมื่อท่านครูบาบุญปั๋น ธมฺมปญฺโญ มีพรรษายุกาลมากขึ้น ก็มีศรัทธาสาธุชนที่เคารพเลื่อมใสท่านมากขึ้น มีผู้คนเดินทางมากราบไหว้นมัสการขอพรและนิมนต์ท่านไปงานบุญต่างๆ มาโดยตลอด

            ต่อมาเมื่อปี ๒๕๓๘ ท่านได้เกิดอุบัติเหตุ หกล้มลงตรงที่บันไดกุฏิ ทำให้กระดูกเอวและกระดูกสันหลังของท่านแตก ส่งผลให้การเดินและการเคลื่อนไหวเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องใช้อุปกรณ์เสริมช่วยในการเดิน ซึ่งก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า

            จนกระทั่งในปี ๒๕๔๘ ระบบการทำงานของหัวใจของ ท่านครูบาบุญปั๋น ได้เกิดอาการไม่ปกติ จนท่านได้มรณภาพละสังขาร เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๕ ด้วยอาการสงบ

            สำหรับเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกของท่าน  จัดสร้างโดยคุณวิเชียร ไวศยะนันท์ เมื่อปี ๒๕๓๗ โดยทำเป็นเหรียญรูปไข่ ด้านหน้าเป็นรูป "ครูบาบุญปั๋น" นั่งเต็มองค์ ด้านหลังเป็นยันต์ "นะ ปัดตลอด" พร้อมระบุวันที่ "๒๓ มิ.ย.๓๗" สร้างด้วยเนื้อโลหะทองเหลืองฝาบาตร เพียงเนื้อเดียว จำนวนการสร้างเท่ากับปี พ.ศ. คือ ๒,๕๓๗ เหรียญ

            เมื่อครูบาเจ้าบุญปั๋น ได้ทำพิธีอธิษฐานจิต เรียบร้อยแล้ว ครูบาท่านได้มอบเหรียญให้ผู้จัดสร้างจำนวนหนึ่ง แต่ทางผู้จัดสร้างกลับขอรับไว้เพียงแค่ ๓ เหรียญ และได้ขอบูชาเพิ่มมาอีก ๑๗ เหรียญ เพื่อให้ครบ ๒๐ เหรียญ จากนั้นได้นำเหรียญนั้นมาตอกโค้ดตัว "อุ" โดยตอกไว้ ๓ โค้ด จำนวน ๘ เหรียญ ตอก ๕ โค้ด จำนวน ๕ เหรียญ ตอก ๙ โค้ด จำนวน ๕ เหรียญ และอีก ๒ เหรียญ ตอกโค้ดเดียว เหรียญรุ่นนี้ชาวบ้านที่เคารพนับถือ ท่านครูบาเจ้าบุญปั๋น ต่างกล่าวตรงกันว่า บูชาติดตัวแล้วเป็นเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย ปัจจุบันค่านิยมเหรียญสวยเดิมๆ ประมาณหลักพันต้นๆ นับเป็น "ของดีแดนล้านนา" อีกเหรียญหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง