
สงกรานต์ สังขานต์ สังขาร
11 เม.ย. 2557
คำวัด : สงกรานต์ สังขานต์ สังขาร
ประเพณีก่อเจดีย์ทราย มักจะจัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์มี โดยคนไทยผูกโยงประเพณีนี้เข้ากับคติความเชื่อเรื่องเวรกรรมในพระพุทธศาสนา มีการก่อพระเจดีย์ทรายถวายวัดเพื่อนำเศษดินทรายที่ติดเท้าออกจากวัดไปมาคืนวัดในรูปพระเจดีย์ทราย และเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
เดิมวันสงกรานต์ เป็นเทศกาลกำหนดโดยการคำนวณทางดาราศาสตร์ แต่ปัจจุบันระบุแน่นอนว่า ๑๓ ถึง ๑๕ เมษายน วันขึ้นปีใหม่ไทยเป็นจุดเริ่มต้นของปีปฏิทินในประเทศไทยจนถึง พ.ศ. ๒๔๓๑ หลังจากนั้นวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่จนถึง พ.ศ.๒๔๘๓
คำว่า วันสงกรานต์ ในภาคเหนือจะเรียกว่า "วันสังขานต์ล่อง" หรือ วันสังขารล่อง หรือวันสังกรานต์ล่อง เป็นวันแรกของกิจกรรมปีใหม่ "สังขานต์" คือคำเดียวกับ "สงกรานต์" ในภาษาสันสกฤตซึ่งแปลว่า "ก้าวล่วงแล้ว" วันสังขานต์ล่องในภาษาล้านนา ตรงกับภาคกลาง คือวันมหาสงกรานต์ ถือเป็นวันสิ้นสุดของปีเก่า
การออก เสียง กร คนล้านนาจะออกเสียงเป็น ข เช่น คำว่า โกรธ ออกเสียงเป็น โขด คำว่า ชาวกรอม ออกเสียงเป็น ชาวขอม ดังนั้น"สงกรานต์" จึงออกเสียงเป็น "สังขานต์" ในหนังสือประเพณีสิบสองเดือนล้านนาให้ความหมายว่า สังกรานต์ หมายถึงวันเดือนปีที่ล่วงไป (มณี พยอมยงค์, ๒๕๔๓, หน้า ๕๖) ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (๒๕๔๒, หน้า ๖๗๒๔) กล่าวถึงวันสังกรานต์ล่อง คือวันที่พระอาทิตย์โคจรไปสุดราศีมีน จะเข้าสู่ราศีเมษ
ส่วนคำว่า "สังขาร" พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้อธิบายความหมายไว้ว่าา การปรุงแต่ง สิ่งที่ถูกปรุงแต่ง สังขารมี ๒ ความหมาย ดังนี้
สังขารในเรื่องไตรลักษณ์หรือสามัญลักษณ์สังขารหมายถึงร่างกาย ตัวตน สสาร สิ่งที่ประกอบกันขึ้นหรือถูกปรุงแต่งขึ้นจากธาตุ ๔ สังขารในความหมายนี้แบ่งเป็น ๒ คือ
๑.สังขารมีใจครอง (อุปาทินนกสังขาร) คือสิ่งมีชีวิต มีจิตวิญญาณ สามารถเคลื่อนไหว รับ จำ คิด รู้อารมณ์ได้ ได้แก่มนุษย์ อมนุษย์ สัตว์ดิรัจฉาน
๒.สังขารไม่มีใจครอง (อนุปาทินนกสังขาร) คือ สิ่งไม่มีชีวิต ไม่มีจิตวิญญาณ รับ จำ คิด รู้อารมณ์ไม่ได้ ได้แก่ต้นไม้ ภูเขา ดิน น้ำ รถ เรือ เป็นต้น
สังขารในความหมายนี้ จัดเป็นรูปขันธ์ในขันธ์ ๕ มิใช่สังขารขันธ์ และมีลักษณะเสมอกันโดยเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สังขารในขันธ์ ๕ สังขาร หมายถึงสิ่งปรุงแต่งจิต ระบบปรุงแต่ง แยกแยะสิ่งที่รู้สึกและจำได้ ซึ่งก็ได้แก่ความคิด ความรู้สึกปกติทั่วไปของคนเรา เช่นรัก ชัง โกรธ ละอายใจ อยากได้เป็นต้น
สังขารในความหมาย ๒ นี้ ได้แก่ เจตสิกธรรม คือสิ่งที่ประกอบจิตอยู่ เกิดดับพร้อมจิต รับอารมณ์อย่างเดียวกับจิต เป็นสิ่งที่ดีเรียกว่ากุศลบ้าง เป็นส่วนที่ไม่ดีเรียกว่าอกุศลบ้าง เป็นส่วนกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่วที่เรียกว่าอัพยากฤตบ้าง
คำว่า สังขาร ในเรื่องไตรลักษณ์กับในเรื่องขันธ์ต่างกัน คือสังขารในเรื่องไตรลักษณ์เป็นรูปธรรม ในเรื่องขันธ์เป็นนามธรรม