พระเครื่อง

'พระหลวงพ่อทวด'พิมพ์ใหญ่ปั๊มหลังตัวหนังสือมีตัว'ท'ปี๒๕๐๕

'พระหลวงพ่อทวด'พิมพ์ใหญ่ปั๊มหลังตัวหนังสือมีตัว'ท'ปี๒๕๐๕

06 เม.ย. 2557

'พระหลวงพ่อทวด'พิมพ์ใหญ่ปั๊มหลังตัวหนังสือมีตัว'ท'ปี๒๕๐๕ : ปกิณกะพระเครื่อง โดยตาล ตันหยง

           พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ พิมพ์ใหญ่ปั๊ม หลังหนังสือ ปี ๒๕๐๕ แบ่งออกได้ ๔ พิมพ์ (บล็อก) คือ ๑.พิมพ์ใหญ่มีตัว "ท" (หายากสุด) ๒.พิมพ์ใหญ่ เสาอากาศ ๓.พิมพ์ใหญ่ วงเดือน และ ๔.พิมพ์ใหญ่ธรรมดา ... ๔ พิมพ์ที่ว่านี้ยังแบ่งย่อยๆ ได้อีกหลายพิมพ์ ตามลักษณะเฉพาะที่พบเห็นบนองค์พระ...เช่น เส้นวงเดือน มีจุดที่ไหล่ มีรอยขีดที่คาง ความคมชัดของเสาอากาศ และขนาดเค้าโครงใบหน้า เป็นต้น
      
           วันนี้...เป็นคอลัมน์ต่อเนื่องจากฉบับวันพฤหัสบดีก่อน (๒๗ มีนาคม ๕๗) ที่ได้นำเสนอ...พระหลวงพ่อทวด พิมพ์เล็ก ปั๊ม มีตัว "ท"...วันนี้จะได้นำเสนอ พระหลวงพ่อทวด หลังตัวหนังสือ พิมพ์ใหญ่ปั๊ม ตัว "ท" ปี ๒๕๐๕
    
           พระพิมพ์นี้ถือว่าเป็นพิมพ์ที่หาชมได้ยากมากประเภทหนึ่งในตระกูล "พระหลวงพ่อทวด" ทั้งหมดที่ทันยุค พระอาจารย์ทิม ปลุกเสก ด้วยเหตุผลของการสร้างที่ยากกว่า โดยเฉพาะการมีคุณลักษณะเฉพาะที่มีตัว "ท" ปรากฏใต้หน้าแข้งที่ไขว้กัน หรือบริเวณเหนือฐานบัว ซึ่งเป็นตัวปั๊มติดมาในแม่พิมพ์ สันนิษฐานว่า ในกระบวนการสร้าง เมื่อปั๊มพระไปเรื่อยๆ แม่พิมพ์โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณที่ก่อให้เกิดตัว "ท" อาจจะสึก หรือชำรุดง่าย ทำให้ปั๊มออกมาแล้ว ตัว "ท" ที่ว่านี้ติดไม่คมชัดเหมือนตอนปั๊มในองค์แรกๆ ช่างปั๊มเลยเลิกการผลิตกลางคัน ทำให้ได้จำนวนพระมาน้อย (แต่ก็มีมากกว่า พิมพ์เล็กปั๊ม มีตัว "ท" ปี ๒๕๐๕)
  
           เช่นเคย วันนี้คอลัมน์นี้ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช มอบภาพพระองค์เด็ดเพื่อโชว์...พิมพ์ใหญ่ปั๊ม มีตัว "ท" พร้อมกัน ๒ องค์ ตามภาพ (องค์ที่ ๑ และองค์ที่ ๒) พร้อมทั้งได้ให้ข้อมูลประกอบเป็นวิทยาทาน ควบคู่กับการชมภาพพระองค์สวยในคราเดียวกัน
  
           พระคู่นี้ถือว่าเป็นหนึ่งในคู่แชมป์ของวงการ เคยผ่านการประกวดงานใหญ่ของประเทศที่สมาคมพระเครื่อง รับรองมาแล้วหลายครั้ง ได้รางวัลทุกครั้ง
   
           ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ได้ให้ข้อสังเกตในพระพิมพ์นี้ จากภาพที่โชว์นี้ว่า..."หากสังเกตให้ดีจะพบว่า พระพิมพ์ใหญ่ปั๊ม มีตัว "ท" จะมีลักษณะเค้าโครงใบหน้าที่แตกต่างจากพระพิมพ์ใหญ่อื่นๆ อย่างชัดเจน กล่าวคือจะมีเค้าหน้าเรียวยาวกว่าพิมพ์ใหญ่อื่นๆ มีเส้นเสี้ยนพาดผ่านตามซอกต่างๆ ในแนวขวางเฉียง ดูพลิ้วไหวเหมือนธรรมชาติ...ไม่ใช่เส้นเบลอ (ไม่ชัด) เหมือนอย่างพระถอดพิมพ์ หรือเส้นคมจนเกินไป อันเกิดจากการแต่งพิมพ์
   
           พระพิมพ์ใหญ่ปั๊ม มีตัว "ท" นี้ ด้านหลังโดยพื้นฐานเป็นพิมพ์เดียวกับ พระพิมพ์ใหญ่ปั๊ม หลังเสาอากาศ (องค์ที่ ๓) ซึ่งมีทั้งประเภท เสาอากาศติดชัด และ เสาอากาศติดไม่ชัด
    
           จุดสังเกตการชี้พระแท้พระเก๊ ใช้หลักการดูเช่นเดียวกับ พระปั๊มหลังหนังสือ ทั่วไป คือ ดูความคมชัดของส่วนนูนต่ำขององค์พระ และตัวอักษร การพลิ้วไหวของเส้นเสี้ยน ทั้งด้านหน้าและหลัง ตามธรรมชาติพระปั๊ม เช่นกัน
   
           ธรรมชาติของขอบปั๊มตัด ก็สามารถนำมาพิจารณาได้...แต่สิ่งต้องระวังมากที่สุด คือ พระแท้แต่ผิวทำใหม่ ซึ่งทำได้ใกล้เคียงมากในปัจจุบัน
   
           สำหรับ พระองค์ที่ ๑ ที่โชว์นี้ถือว่าเป็นพระที่ยังคงสภาพเดิมไว้แทบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะรมดำเคลือบผิวปรอททั้งองค์ ยังอยู่ครบสมบูรณ์ เพราะเป็นพระที่ไม่ผ่านการสัมผัสมาก่อน การันตีความงดงามด้วยการเป็นแชมป์งานประกวดใหญ่ของประเทศ คือ งานศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๔
   
           องค์ที่ ๒ เป็นองค์ที่มีสภาพสวยสมบูรณ์เช่นเดียวกับองค์ที่ ๑ องค์นี้รมดำและผิวปรอทแซมปีกแมลงทับคลุมทั้งองค์ เป็นแชมป์งานประกวดพระที่สมาคมพระเครื่องรับรองมาแล้วเช่นกัน
    
           ปัจจุบันในวงการยังหาองค์พระในพิมพ์เดียวกันนี้ที่มีสภาพเหมือนกับองค์คู่ที่โชว์นี้ได้ค่อนข้างยาก
    
           และ องค์ที่ ๓ เป็น พระพิมพ์ใหญ่ปั๊ม หลังเสาอากาศ (คางขีด) นำภาพมาโชว์เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความต่างกับ พิมพ์ใหญ่ปั๊ม มีตัว "ท" ใน ๒ องค์แรก
   
           พระองค์ที่ ๓ นี้เป็นพระเดิมๆ สภาพแชมป์ เป็นพระดูง่าย ถือเป็น "พระองค์ครู" ได้เลย
   
           ขอขอบพระคุณ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ผู้ชำนาญการ พระสายหลวงพ่อทวด และเป็นนักสะสมพระชุดหลวงพ่อทวด องค์สวยแชมป์ ซึ่งมีอยู่ในครอบครองร่วม ๓๐๐ องค์ ท่านเป็นเจ้าของ พระหลวงพ่อทวด ทั้ง ๓ องค์ในคอลัมน์นี้ พร้อมทั้งได้ให้ข้อมูลเชิงเทคนิคในบทความนี้ด้วย