พระเครื่อง

'มีชัย'ท่องแดนพุทธภูมิถวายความรู้พระธรรมทูต

'มีชัย'ท่องแดนพุทธภูมิถวายความรู้พระธรรมทูต

25 มี.ค. 2557

'มจร'เตรียมพร้อมจิตวิญญาณพระธรรมทูต ศึกษาภาคปฏิบัตินมัสการสังเวชนียสถานอินเดีย-เนปาล 'มีชัย'อดีตประธานวุฒิสภาบินพร้อมคณะแนะต้องรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม

              เมื่อวันที่  ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ที่วัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร สาธาณรัฐอินเดีย  พระเทพโพธิวิเทศ หัวหน้าพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล เป็นประธานเปิดภาคปฏิบัตินมัสการสังเวชนียสถานและดูงานพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ณ อินเดีย-เนปาลของโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ ๒๐ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  ณ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย วัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศสาธารณรัฐอินเดีย โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์เจ้าหน้าที่ ผู้ทรงคุณวุฒิและพระธรรมทูตสายต่างประเทศ กว่า ๑๐๐ รูป/คน ร่วมในพิธีเปิดกิจกรรมดังกล่าว

               พระเทพโพธิวิเทศ กล่าวว่า การที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้นำพระธรรมทูตสายต่างประเทศมานมัสการพุทธสังเวชนียสถานยังประเทศอินเดีย-เนปาล ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่น่าชื่นชม และแสดงถึงภาวะความเป็นผู้นำด้านพระพุทธศาสนาในฐานะผู้จัดการศึกษาที่ได้รับสนองงานสืบต่อจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ในฐานอดีตประธานกำกับดูแลพระธรรมทูตวายต่างประเทศ ทำให้งานพระธรรมทูตมีความต่อเนื่องอยู่เท่าทุกวันนี้

               ปัจจุบันนี้งานพระธรรมทูตได้ขยายตัวขึ้นอย่างมากมาย จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมของบุคลากรที่ทำหน้าที่ในการเผยแผ่และประกาศพระพุทธศาสนา แม้แต่พระพุทธองค์เมื่อได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระพุทธองค์ยังต้องเตรียมพร้อมก่อนการประกาศพระพุทธศาสนาโดยเสวยวิมุติสุขหลังจากตรัสรู้อันถือเป็นการเตรียมพร้อมก่อนการเผยแผ่พระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้แสดงออกถึงความเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ จากการคัดเลือกพระธรรมทูตเข้ารับการฝึกอบรมจากการอบรมที่ประเทศไทยอย่างเดียวมาเป็นการยกระดับการอบรมพระธรรมทูตขึ้นโดยนำมาศึกษาดูงานและนมัสการพุทธสังเวชนียสถานเพื่อสร้างศรัทธาที่มั่นคงต่อพระพุทธศาสนา งานพระธรรมทูตเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ ถ้าไม่ใช่งานใหญ่พระพุทธเจ้าจะไม่ทรงจับด้วยพระองค์เอง สอนเอง ตั้งเองและส่งไปประกาศพระพุทธศาสนาเอง

               “พระธรรมทูตที่จะออกไปสู่นานาอารยะประเทศ ความพร้อมต้องเป็นหนึ่ง ความพร้อมต้องเป็นเลิศ ต้องเกิดจากฝีมือของนักทำงานชั้นยอดก่อนที่จะออกไปสู่โลกของความเจริญ ถ้าเราจะออกไปสู่โลกของความเจริญทางด้านวัตถุ เราไม่มีความเจริญทางด้านจิตวิญญาณ จงอย่าห้าวหาญในการก้าวย่างไปเพราะจะกลายเป็นเหยื่อของโลกวัตถุนิยม การที่นำพระธรรมทูตมายังประเทศที่เป็นดินแดนเกิดของพระธรรมทูตเป็นเรือนเพาะชำเป็นที่ปลูกฝังงานของพระธรรมทูตก่อนโดยมาเริ่มต้นที่พุทธคยาและเดินทางไปยังบ่อเพาะชำ สถานที่อบรมสถานที่เตรียมความพร้อมตามรอยบาทพระศาสดา งานพระธรรมทูตเป็นงานของผู้อยากทำและต้องทำด้วยความเสียสละ เสียสละแม้กระทั่งชีวิตต้องทำงานตามคำสอนมากกว่าคำสั่ง คำสอนยิ่งใหญ่กว่าคำสั่งและเมื่อมายังดินแดนพุทธภูมิแล้วก็อย่าตั้งข้อสงสัยหรือยึดติดอยู่เพียงสิ่งที่พบเห็นไม่ว่าจะเป็นขอทาน วัว ถนนและผู้คนที่หลากหลาย ให้มองทะลุไปถึงบทบาทที่สำคัญของพระธรรมทูตที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ ปัจจุบันยังคงมีความยากลำบากขนาดนี้ เมื่อ ๒๕๐๐ ปีที่ผ่านมา สมัยพุทธกาล จะมีความยากลำบากมากน้อยเพียงใดแต่พระพุทธองค์ก็ทรงประกาศพระพุทธศาสนาวางรากฐานทางด้านพระพุทธศาสนาไว้กระทั่งถึงปัจจุบัน” พระเทพโพธิวิเทศ กล่าว

               ด้านพระโสภณวชิราภรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าว่า  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้สนองงานโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ และดำเนินการจนถึงปัจจุบันเป็นรุ่นที่ ๒๐ แล้ว และได้ขยายแนวทางการฝึกอบรมจากที่อยู่เฉพาะในประเทศไทย และได้นำพระธรรมทูตมาสู่ดินแดนพุทธภูมิ อันเป็นจุดกำเนิดของพระพุทธศาสนา นอกจากการฝึกอบรมภาควิชาการ ภาควิปัสสนากัมมัฏฐานแล้ว ยังมีภาคปฏิบัติซึ่งประกอบด้วยการฝึกภาคนวกรรม หรือการก่อสร้างที่พระธรรมทูตต้องเรียนรู้ กิจกรรมสาธารณูปการ  ฝึกการปฏิบัติงานการก่อสร้าง และงานพุทธเกษตรสาธิต เป็นเวลา ๒๐ วัน เพื่อฝึกการทำงานเป็นทีม การวางแผน การตัดสินใจ และจิตอาสา จัดอบรมงานสร้างอาคารปฏิบัติธรรม ณ วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย และสร้างกุฏิ ณ ศูนย์พัฒนาศาสนา (แคมป์สน) จังหวัดเพชรบูรณ์ และบูรณะปฏิสังขรณ์อาคารสถานที่ที่ชำรุดทรุดโทรมอื่นๆ

               นอกจากนี้ การเดินทางมาสู่ดินแดนพุทธภูมิ จะทำให้พระธรรมทูตได้รู้เห็นถึงประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาได้เห็นพุทธสังเวชนียสถานที่แท้จริง อันจะเป็นการสร้างศรัทธาที่มั่นคงต่อพระพุทธศาสนา การเดินทางมาสู่ดินแดนพุทธภูมินี้ ระหว่างวันที่ ๒๒ มีนาคม-๕ เมษายน ๒๕๕๗ ก่อนที่จะเดินทางกลับไปยังประเทศไทยเพื่อฝึกอบรมด้านวิชาการเป็นเวลา ๒๐ วัน ซึ่งเป็นกิจกรรมการบรรยาย อภิปราย ชักถาม การประชุมกลุ่มย่อย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การมอบหมายงานให้ศึกษาค้นคว้า การฝึกปฏิบัติและการประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง โดยอบรม ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

               ฝึกทักษะและประสบการณ์พิเศษ เพื่อการทำงานเป็นทีม การบริหารจัดการ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทักษะมนุษยสัมพันธ์ จิตอาสา มีศรัทธาในงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยการปฏิบัติงานปฏิคม งานศูนย์พุทธวิปัสสนานานาชาติ งานสัมมนาพระธรรมทูตไทยในต่างประเทศ งานปฏิคมต่างประเทศในงานวันวิสาขบูชาโลก ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๗ และพิธีประสาทปริญญา เวลา ๑๐ วันและภาควิปัสสนากัมมัฏฐานตามหลักสติปัฏฐาน ๔ เป็นเวลา ๓๐ วัน ณ ฝ่ายพัฒนาศาสนา (แคมป์สน) จ.เพชรบูรณ์ และจะประกอบพิธีมอบวุฒิบัตรและปิดโครงการในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๗ โดยสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช รวมระยะเวลาการฝึกอบรมทั้งสิ้น ๓ เดือน

               “อินเดียถือว่าเป็นประเทศของนักวิจัย และเมื่อวิจัยแล้วก็นำผลของการวิจัยส่งออกไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย โดยเฉพาะพระพุทธเจ้า ที่ทำวิจัยอยู่กว่า ๖ ปี กระทั่งบรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและส่งออกพระพุทธศาสนาไปทั่วโลก การฝึกอบรมพระธรรมทูตจึงจำเป็นต้องมาศึกษาเชิงลึกเพื่อนำผลนี้ไปเผยแผ่ต่อไป” รองอธิการบดีง่ายกิจการต่างประเทศ มจร กล่าวในที่สุด

               ขณะที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา  ได้บรรยายถวายความรู้แก่พระธรรมทูตในภาคกลางคืน โดยเน้นย้ำให้พระธรรมทูตตระหนักถึงแนวทางการปฏิบัติเพราะพระธรรมทูตต้องรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม เมื่อเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังประเทศต่างๆ นอกจากต้องปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยแล้วยังต้องปฏิบัติตามหลักกฏหมายของประเทศนั้นๆ ด้วย ดังนั้น จึงต้องตระหนักถึงแนวทางการปฏิบัติ อย่าหลงไปตามกระแสวัตถุนิยมของประเทศนั้นๆ  ต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นสงฆ์ตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตลอดอย่าพลั้งเผลอ

               สำหรับผู้ประสงค์ร่วมสนับสนุนโครงการฯ ติดต่อสอบถามได้ที่กองวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โทร. ๐๓๕ ๒๔๘ ๐๗๑