
๔๔ปีแห่งการจากไปอรหันต์กลางกรุง'เจ้าคุณนรฯ'
๔๔ปีแห่งการจากไปอรหันต์กลางกรุง'เจ้าคุณนรฯ' : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยพิสุทธิ์ เกรียงบูรพา
ใดๆ ในโลก ล้วนอนิจจัง มิอาจตั้งอยู่ได้นาน จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูป เพื่อความดำรงอยู่เสมอ ไม่เว้นแม้แต่การเมือง... หลายเดือนที่ผ่านมา ข่าวสารการเมืองบ้านเราเต็มไปด้วยการต่อสู้กับความอยุติธรรมกับระบบที่แอบอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย แต่กลับถูกบงการบริหารชักใย โดยผู้นำที่ขาดจิตสำนึกทางธรรม และมิได้มีจิตวิญญาณเป็นประชาธิปไตยแท้จริง ความวุ่นวาย ปั่นป่วน และความเบื่อหน่าย จึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ผมนึกไปถึงพระเกจิรูปหนึ่ง สมัยท่านเป็นฆราวาส ก็เคยตกอยู่ในสภาวะบ้านเมืองที่ไม่สงบในทำนองเดียวกัน กล่าวกันว่า ท่านเป็น พระอรหันต์กลางกรุงฯ อยู่ท่ามกลางมหานครเมืองหลวง แต่สามารถทำจิตวิเวก เฉกเช่นเดียวกับการอยู่ป่าได้อย่างน่าเลื่อมใส ดังนั้น การศึกษา ประวัติของท่าน ในสถานการณ์ปัจจุบัน น่าจะช่วยให้เกิดปัญญาน้อมโยนิโสมนสิการเข้าหาตัวได้เป็นอย่างดี
ธัมมวิตักโกภิกขุ (มหาเสวกตรี พระยานรรัตนราชมานิต) หรือที่เรารู้จักกันในนาม ท่านเจ้าคุณนรฯ แห่งวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เป็นผู้สุขุมละเอียดอ่อนมากในการจะตัดสินใจทำการใด ก็คิดวางโครงการเป็นขั้นเป็นตอน วางแผนการทำและวางเป้าหมายไว้ก่อนเสมอ
แรกเริ่มเดิมทีนั้น ท่านไม่ได้คิดที่จะบวชจนตลอดชีวิต เพียงวางแผนไว้ว่า จะบวชถวายเป็นพระราชกุศลแก่เจ้านาย (ในหลวง รัชกาลที่ ๖) เพียงหนึ่งพรรษาเท่านั้น หลังจากนั้นจะแต่งงานแล้วเดินทางไปศึกษาต่อที่อเมริกา แล้วจะกลับมารับใช้ชาติต่อไป แต่เมื่อบวชครบพรรษาแล้ว ท่านกลับไม่คิดลาสิกขา เพราะได้กัลยาณมิตรในทางธรรม คือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระอุปัชฌาย์ของท่านนั่นเอง
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้สอน เรื่องอริยสัจสี่ (ทุกข์-สมุทัย-นิโรธ-มรรค) แก่ท่าน จนท่านเห็นความทุกข์ที่แทรกซ้อนอยู่ในความสุข จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีความสุขใดในชีวิตฆราวาส ที่จะไม่มีความทุกข์ซ้อนอยู่ในความสุขนั้น เมื่อท่านนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตที่ผ่านมา ท่านยิ่งเห็นชัดเจนว่า ชีวิตเป็นทุกข์อย่างแท้จริง และอยากจะใฝ่หาทางพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง
อย่างไรก็ดี ในใจท่าน ก็ยังมิได้ตัดสินใจจะบวชตลอดชีวิต เพียงจะบวชไปชั่วระยะหนึ่ง แต่การบวชไปก่อนของท่านนั้น ไม่ใช่บวชอย่างขอไปที ไม่ได้ปล่อยให้วันเวลาแต่ละนาที ล่วงไปอย่างเปล่าประโยชน์เลย ท่านทำจิตภาวนา เจริญสมาธิอย่างเข้มงวดตลอดเวลาขณะอยู่ในเพศบรรพชิตนี้
หลังจากนั้นอีกราว ๖ ปี ผลจากการมีกัลยาณมิตรช่วยแนะแนวทาง สั่งสอนปริยัติ กอปรกับการปรารภความเพียรที่ท่าน ตั้งใจปฏิบัติอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด จึงส่งผล (เกิดปฏิเวธ) กับท่านในขณะนั้น จนถึงกับทำให้ท่าน เกิดเบื่อหน่าย คลายอยาก (นิพพิทา-วิราคะ) ทุกสิ่งทุกอย่าง เหลือเพียงความบันเทิงแต่ในทางธรรมเพียงอย่างเดียว ทั้งยังเห็นความเป็นอนิจจังของบ้านเมือง เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ ทรงตั้งสมาคมเจ้า และท่านปรีดี พนมยงค์ ตั้งสมาคมราษฎร์ขึ้นมา ท่านจึงพิจารณาเห็นว่าท่านไม่อาจกลับไปใช้ชีวิตฆราวาสได้อีกอย่างแน่นอน เพราะชีวิตฆราวาสเป็นชีวิตที่ต้องต่อสู้โดยไม่รู้ว่าต่อสู้ไปทำไม เพื่ออะไร ในเมื่อชีวิตนี้เป็นทุกข์ ควรจะต่อสู้เพื่อให้พ้นทุกข์มิดีกว่าหรือ อุปมาอุปมัย เหมือนก้าวขึ้นมาจากโคลนตมแล้ว จะย้อนกลับกระโดดลงไปอีก ทำไม ฉันใดฉันนั้น
ท่านเจ้าคุณนรฯ จึงดำรงอยู่ในสมณเพศสืบต่อไป อย่างมีระบบระเบียบตามพระธรรมวินัย ไม่สั่นคลอน กล่าวกันว่า หากท่านไม่ได้เดินทางไปไหน หรือเจ็บป่วยอาพาธจนเดินไม่ได้จริงๆ ท่านจะลงโบสถ์ ทำวัตรร่วมกับหมู่สงฆ์ ทั้งในตอนเช้า และเย็น โดยเคร่งครัดทุกวันทีเดียว เสร็จจากกิจของสงฆ์ ท่านก็จะจำวัด ในกุฏิของท่านอย่างสงบ ปิดประตู-หน้าต่าง อย่างเป็นปกติวิสัย ปรารภความเพียรของท่านอย่างสม่ำเสมอ ในกุฏิของท่านยังมีโลงศพและโครงกระดูกมนุษย์ไว้ปลงสังขารอีกด้วย
ผมได้มีโอกาสแวะไปที่วัดเทพศิรินทร์ ช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา เพื่อไปนมัสการแสดงมุทิตาจิตต่อท่านเจ้าคุณนรฯ การได้มาเยือน น้อมกราบ สวดมนต์ และนั่งสมาธิต่อหน้ากุฏิของอริยสงฆ์ และองค์รูปหล่อของท่านเจ้าคุณนรฯ นั้น มิใช่ทำประหนึ่งท่านเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ทำให้เรามั่นใจต่อหลักฐาน อันปุคคลาธิษฐานท่านกระทำสำเร็จไว้ให้เราได้ดำเนินรอยตาม และจะเป็นเครื่องการันตี มิให้เราหลงทาง อ้างว้าง ปล่อยจิตเป็นอนาถา ไร้การฝึกฝน อีกต่อไป
แม้ท่านเจ้าคุณฯ จะละสังขาร จากเราไปร่วม ๔๔ ปีแล้วก็ตาม แต่คำสอนของท่านยังคงเป็นอมตะ เป็นสัจนิรันดร์ เป็นจริงเสมอโดยไม่ขึ้นกับกาลเวลา (Timeless) การได้มาสัมผัสวัดเทพศิรินทร์ รวมถึงอาณาบริเวณที่ท่านได้เคยดำรงชีวิตอยู่เมื่อร้อยว่าปีที่แล้ว ในครั้งนี้ของผม ถือว่าเป็นมงคลอย่างยิ่งในชีวิตครับ
อานุภาพของไตรสิกขาคำสอนของท่านเจ้าคุณนรฯ
๑. ด้วยอานุภาพของไตรสิกขา คือ "ศีล สมาธิ ปัญญา" จึงจะชนะข้าศึก คือ กิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียดได้
ชนะความหยาบคาย ซึ่งเป็นกิเลสอย่างหยาบ ที่ล่วงทางกาย วาจา ได้ด้วย "ศีล"
ชนะความยินดียินร้าย และหลงรักหลงชัง เป็นกิเลสอย่างกลาง ที่เกิดในใจ ได้ด้วย "สมาธิ"
ชนะความเข้าใจ รู้ผิดเห็นผิดจากความเป็นจริงของ สังขาร ซึ่งเป็นกิเลสอย่างละเอียด ได้ด้วย "ปัญญา"
ผู้ศึกษาปฏิบัติตามไตรสิกขา คือ "ศีล สมาธิ ปัญญา" โดยบริบูรณ์ สมบูรณ์แล้ว ผู้นั้นย่อมเป็นผู้พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้อย่างแน่นอน โดยมิต้องสงสัยเลย
๒. ฝึกหัดให้เกิดสันติสุขทางทิฏฐิ ความเห็นด้วย "ปัญญา' พิจารณาให้เห็นว่า สรรพสิ่งทั้งหลายไม่แน่นอน เป็น อนิจจัง ไม่เที่ยง คงทนอยู่ไม่ได้ ต้องเสื่อมสิ้นแปรปรวน ดับไป เรียกว่า เป็นทุกข์ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา อ้อนวอน ขอร้อง เร่งรัด ให้เป็นไปตามความประสงค์ ท่านเรียกว่า อนัตตา เมื่อเรารู้เห็นความเป็นจริงเช่นนี้ว่า สรรพสิ่งเหล่านี้มันไม่แน่นอน มันคงอยู่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลง เสื่อมสิ้นดับไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาฝ่าฝืนของเรา อย่าไปเร่งรัดให้เสียกำลังใจ คงรักษาใจให้เป็นอิสระมั่นคงอยู่เสมอ ไม่หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์เหล่านั้น เป็นเหตุให้ใจตั้งอยู่ในสันติสุข เป็นอิสระทำให้จิตใจของเราเข้มแข็ง มั่นคง เด็ดเดี่ยว ไม่หวั่นไหว จึงเกิดอำนาจทางจิต (Mind Power) ที่พร้อมใช้งาน อันเป็นหน้าที่ของตนให้สำเร็จสมประสงค์
“นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ : สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี”
It needs a peaceful mind to support a peaceful body, and it needs a peaceful body to support a peaceful mind, and it needs both peaceful body and mind to attain all success that which you wish.
๓. การรับมือกับนินทา-สรรเสริญ
คนเราเมื่อมีลาภ ก็เสื่อมลาภ เมื่อมียศก็เสื่อมยศ เมื่อมีสุขก็มีทุกข์ เมื่อมีสรรเสริญก็มีนินทา เป็นของคู่กันมาเช่นนี้ จะไปถืออะไรกับปากมนุษย์ ถึงจะดีแสนดีมันก็ติ ถึงจะชั่วแสนชั่วมันก็ชม นับประสาอะไรกับพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐเลิศยิ่งกว่ามนุษย์ และเทวดา ยังมีมารผจญ ยังมีคนนินทาติเตียน ปุถุชนอย่างเราจะรอดพ้นจากโลกธรรมดังกล่าวแล้วไม่ได้ ต้องคิดเสียว่า เขาจะติก็ช่าง ชมก็ช่าง เราไม่ได้ทำให้เขาเดือดเนื้อร้อนใจ ก่อนที่เราจะทำอะไร เราคิดแล้วว่า ไม่เดือดร้อนแก่ตัวเรา และคนอื่น เราจึงทำ เขาจะนินทาว่าใส่ร้ายอย่างไรก็ช่างเขา บุญเราทำกรรมเราไม่สร้าง พยายามสงบกาย สงบวาจา สงบใจ จะต้องไปกังวลกลัวใครติเตียนทำไม ไม่เห็นมีประโยชน์ เปลืองความคิดเปล่าๆ
ธัมมวิตักโกภิกขุ
ธัมมวิตักโกภิกขุ (มหาเสวกตรี พระยานรรัตนราชมานิต) นามเดิม ตรึก จินตยานนท์ เกิดเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๐ ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อถึงวัยสมควร เล่าเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร (โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร ในปัจจุบัน) ศึกษาอยู่จนสอบได้ชั้นสูงสุด เมื่อมีอายุครบ ๒๘ ปี (พ.ศ. ๒๔๖๘) จึงอุปสมบท ณ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๔๖๘ โดยมีท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถระ) เป็นอุปัชฌาย์ มีฉายาว่า ธมฺมวิตกโกภิกขุ หรือ ท่านเจ้าคุณนรฯ ท่านมรณภาพ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๑๔ อายุ ๗๔ ปี ๔๖ พรรษา