พระเครื่อง

หลวงปู่หงษ์'พระผู้สร้างผืนป่า รักษาธรรม'มรณภาพ

หลวงปู่หงษ์'พระผู้สร้างผืนป่า รักษาธรรม'มรณภาพ

11 มี.ค. 2557

หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ มรณภาพ ปิดอีก ๑ ตำนาน 'พระผู้สร้างผืนป่า รักษาธรรม' เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

            พระครูปราสาทพรหมคุณ หรือ หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ วัดเพชรบุรี ต.ทุ่งมน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ มรณภาพด้วยอาการอันสงบ ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๐.๔๘ น. สิริอายุ ๙๗ ปี

            หลวงปู่หงษ์ไม่เพียงแต่เป็นพระสงฆ์ผู้มีเมตตาจิต เปี่ยมด้วยทานบารมีเท่านั้น หากยังสามารถเชื่อมโยงศรัทธาของประชาชนเข้ากับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมได้อย่างกลมกลืน เป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนยึดเหนี่ยวให้ชาวบ้านหันหน้าเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาปากท้องและการอนุรักษ์ป่าไม้ กอปรด้วยกิจทรงคุณค่ามากมายอย่างยากที่จะหาสงฆ์รูปใดมาเทียบเทียมแนวคิดเรียบง่าย แต่สะท้อนถึงความเข้าใจในเรื่องการอนุรักษ์อย่างลึกซึ้งของท่านคือ “ในน้ำมีปลา ในป่าต้องมีสัตว์”

            หลวงปู่หงษ์เป็นชาวสุรินทร์โดยกำเนิด เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๑ ที่บ้านทุ่งมน ต.ทุ่งมน อ.ปราสาท เริ่มบวชเรียนตั้งแต่วัยรุ่นอายุ ๑๘ ปี จากนั้นก็ออกธุดงค์เรื่อยไปตามเขาจนถึงประเทศกัมพูชาเมื่ออายุ ๓๕ ปีกว่า ธุดงค์และจำพรรษาอยู่ในประเทศกัมพูชา หลวงปู่หงษ์จึงเข้าใจและพูดภาษาเขมรได้ดี เมื่อตัดสินใจกลับบ้านเกิดมาจำพรรษาอยู่ที่วัดเพชรบุรี เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กรมป่าไม้ประกาศให้พื้นที่บริเวณ ต.ทุ่งมนและต.สมุดเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ากำไสจาน จิตสำนึกและความรักธรรมชาติที่พ่อเคยพร่ำสอนในวัยเด็กยังฝังอยู่ในใจของหลวงปู่งหงษ์เสมอ งานอนุรักษ์ป่าไม้ของท่านจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยการขอบริจาคพื้นที่จากชาวบ้าน เพื่อนำมาฟื้นฟูให้กลับคืนเป็นป่าสมบูรณ์อีกครั้ง
 
            การอนุรักษ์ของหลวงปู่หงษ์เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ เริ่มงานอนุรักษ์ป่าไม้โดยขอพื้นที่ของชาวบ้านให้จัดทำเป็นพื้นที่ป่า ด้วยการจ้างชาวบ้านนำหินมาล้อมรั้ว และช่วยกันปลูกป่าเสริมทดแทนเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าจำนวนนับหมื่นไร่ เช่น ป่าประกายเพชร ๓๐๐ ไร่ ป่าหนองกก ๑,๘๐๐ ไร่ เป็นต้น

            พ.ศ.๒๕๓๕ เริ่มโครงการชลประทานและสาธารณูปโภคพื้นฐาน ขุดสระน้ำ ฝายเก็บกักน้ำ เพื่อเป็นแหล่งน้ำให้ชาวบ้านใช้ในการเกษตร อุปโภคบริโภค เลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ อาทิ ขุดสระน้ำพนมยายจรู๊ก ขุดทำนบนหนองหัวแรด ขุดลอกลำน้ำชีให้กว้างและลึกเพื่อนำปลาบึกไปปล่อย ขดสระน้ำติดกับพื้นที่แปลงปลูกป่าบ้านโคกจ๊ะ ปรับปรุงถนนสายลำชี-ห้วยก็วล ปรับปรุงถนนหงษ์พัฒนา ปรับปรุงและขุดลอกหนองน้ำสาธารณประโยชน์สระตาตวล ขุดทำนบกลางป่าสงวนแห่งชาติฯ ปรับปรุงถนนสายสะพานหัน-ประโคนชัย สร้างสะพานหลวงปู่หงษ์เชื่อมระหว่างบ้านสะพานหัน-ประโคนชัย

            หลวงปู่ได้แผ่เมตตาปล่อยสัตว์ ขุดบ่อ ขุดสระ สร้างฝายน้ำล้น ปลูกป่า ปล่อยช้าง วัว ควาย เต่า งู ตะขาบ สัตว์ทุกชนิดและสั่งห้ามมิให้ชาวบ้านทำลายป่าไม้ โดยอบรมสั่งสอนให้เห็นคุณและโทษของการไม่มีป่าไม้ไม่มีน้ำ จะเกิดความเดือดร้อนนานาประการ พร้อมทั้งสอนให้ชาวบ้านทุกคนถือศีลห้า ห้ามดื่มเหล้าเมายา แล้วครูอาจารย์ของหลวงปู่ท่านจะคุ้มครอง ทุกคนเคารพศรัทธาในหลวงปู่ ได้ประพฤติปฏิบัติตาม จึงมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข

            พ.ศ.๒๕๓๑ หลวงปู่หงษ์เริ่มเทศนาธรรมที่สอดแทรกด้วยปรัชญาการอนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อมแบบง่ายๆ บางครั้งได้พาชาวบ้านเข้าไปทำบุญในป่า หรือที่เรียกว่า “กินข้าวกลางป่า” นอกจากอิ่มบุญแล้วชาวบ้านยังได้ข้อคิดเรื่องธรรมชาติกลับบ้านเสมอ เพราะหลวงปู่มักจะหยิบยกให้เห็นประโยชน์และคุณค่าของป่า ทั้งแหล่งอาหาร ยา สมุนไพร

            เมื่อครั้งที่หลวงปู่หงษ์ยังมีชีวิตอยู่ แม้จะล่วงเข้าสู่วัย ๘๐ ปีเศษ ท่านยังเทศนาด้วยน้ำเสียงที่สดใส ท่วงทำนองจับใจ ญาติโยมที่มากราบไหว้จะคุ้นเคยกับใบหน้าที่ยิ้มแย้ม เปี่ยมด้วยความกรุณาปรานี และคำแนะนำที่ช่วยคลี่คลายปัญหาต่างๆ แต่เรื่องสนทนาที่ถูกใจหลวงปู่ที่สุดคือ ธรรมชาติและป่าไม้

            “ถ้าเราใช้ป่า ใช้น้ำ ใช้สัตว์แล้ว ก็ต้องจัดการคืนให้เขาเหมือนเดิม ต้นไม้เมื่อตัดแล้ว ก็ให้รู้จักปลูก ปลา เมื่อกินแล้ว ก็รู้จักปล่อย เราอยากมีน้ำใช้ ก็ต้องหมั่นปลูกต้นไม้ และต้องรู้จักสร้างแหล่งน้ำเก็บกักน้ำเมื่อยามขัดสน”

            ก่อนจะปิดท้ายธรรมเทศนาด้วยถ้อยคำที่ว่า “ปลูกป่านั้นให้เป็นประโยชน์กับชาวบ้านเอง ไม่ใช่ทำให้หลวงปู่ และป่าที่ปลูกก็เพื่อถวายในหลวง ใครจะเอาไม้ไปไม่ได้ เพราะเป็นของหลวง”


“พรหมปัญโญ”


            "สุวรรณหงษ์ จะมัวดี" เป็นชื่อและสกุลเดิมของหลวงปู่หงษ์ แห่งสุสานทุ่งมน เจ้าอาวาสวัดเพชรบุรี อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ พบว่า ชื่อเดิม คือ สุวรรณหงษ์ จะมัวดี เป็นชาว อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ โดยท่านมีความขยันหมั่นเพียร กตัญญู กตเวทีต่อบิดามารดา ช่วยทำนาด้วยความวิริยะอดทน จนเมื่ออายุได้ ๑๘ ปี จึงบรรพชาและเทศน์สอนญาติโยม ความตั้งใจที่จะบวชเพียง ๗ วัน ก็อยู่เลยเรื่อยมาจนอายุครบ ๒๐ ปี พระอุปัชฌาย์จึงอุปสมบทให้ ณ วัดเพชรบุรี ต.ทุ่งมน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ โดยตั้งนามฉายาให้ใหม่ว่า “พรหมปัญโญ” แปลว่า ผู้มีปัญญาดุจพรหมเมื่ออุปสมบทแล้ว 

            หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ หมั่นเพียรศึกษาพระปริยัติธรรมและจดท่องจำแม่นยำ นอกจากนี้ยังใฝ่หาความรู้เสมอ โดยเพียรศึกษากับครูบาอาจารย์อย่างไม่ลดละและเคยเดินธุดงค์ข้ามไปถึงประเทศกัมพูชา เมื่อหลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ ได้รับการประสิทธิ์ประสาทสรรพวิชา ทั้งเวทมนตร์และคาถาต่างๆ จนมีอาคมแก่กล้า ก็มีญาติโยมที่ประเทศกัมพูชานิมนต์ท่านไปประกอบพิธีอย่างต่อเนื่อง

            หลวงปู่เป็นผู้มีความวิริยะสูง จดท่องจำแม่นยำยิ่งนัก ทั้งฝักใฝ่หาความรู้ เพียรหาครูบาอาจารย์อย่างไม่ลดละแม้จะไกลไปยากก็อุตส่าห์ดั้นด้นเดินทางไป เพื่อให้ได้ความรู้กลับคืนมาเป็นรางวัล ด้วยปณิธานมั่นที่จะโปรดลูกหลานญาติโยมภายหน้าสืบไป

            ด้วยเหตุนี้ หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ จึงได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่และคนต่างถิ่นมานานหลายสิบปี โดยมีการสร้างพระเครื่องวัตถุมงคลออกมาหลายร้อยรุ่น และทุกรุ่นล้วนได้รับความนิยมทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก


ปิดตำนานเทพเจ้าแห่งกุดชมภู


            "หลวงปู่คำบุ คุตตจิตโต" เป็นพระสงฆ์ที่เล่าขานกันว่าทรงคุณพุทธาคมเข้มขลัง แห่งวัดกุดชมภู ต.กุดชมภู อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ท่านเป็นศิษย์สายตรงของพระครูวิโรจน์รัตโนมล (หลวงปู่รอด นันตโร) แห่งวัดทุ่งศรีเมือง และอดีตเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี พระเกจิอาจารย์ผู้มีความเข้มขลังมีพลังจิตสูง และที่พ่วงท้ายความเป็น “พระสุปฏิปันโน” คือความเก่งในคาถาอาคม เรียกว่า หลวงปู่คำบุองค์นี้ เป็นพระที่ “ทั้งเก่งและทั้งดี”

            วิชาที่ท่านชำนาญและเชี่ยวชาญเป็นอย่างมากคือ “การจารอักขระ อักษรธรรมลาว” ท่านทำพิธีลงเหล็กจารบนแผ่นหลังของผู้ที่ศรัทธาด้วยตัวคาถาอาคมเป็น “อักขระ อักษรธรรมลาว” สำหรับวิชาที่ท่านลงบ่อยๆ คือวิชาทางเมตตามหานิยมและวิชาทางคงกระพันชาตรี ลูกศิษย์ขนานนามให้เป็น "เทพเจ้าแห่งกุดชมภู"

            ด้วยสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง หลวงปู่คำบุ มีอาการอาพาธด้วยโรคถุงลมโป่งพองและลิ้นหัวใจรั่ว ซึ่งหลวงปู่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งมีอาการเหนื่อยหอบ จึงถูกส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลศิริราช ตึก ๘๔ ปี ชั้น ๑๐ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๖ กระทั่ง วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เวลา ๑๔.๕๑ น. หลวงปู่คำบุได้มรณภาพลงอย่างสงบ ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวและมีเลือดออกในปอด จากนั้นคณะศิษยานุศิษย์ได้เคลื่อนศพไปยังวัดกุดชมภู จ.อุบลราชธานี ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่ศาลาการเปรียญหลังใหญ่ ให้ศิษยานุศิษย์ทั่วไปเข้ากราบไหว้ตั้งแต่เช้าวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ มีกำหนด ๑๐๐ วัน โดยวัดจัดพิธีสวดพระอภิธรรมทุกวัน