
พระธรรมทูตกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
พระธรรมทูตกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา : ช.ศรีนอกรายงาน
พระพุทธองค์ ทรงประทานการอุปสมบทแก่พระอัญญาโกณฑัญญะ นับว่าเป็นการสืบศาสนทายาทเป็นครั้งแรก และทรงประกาศความจริงแห่งชีวิตด้วยการแสดงพระธรรมจักกัปวัตนสูตร เป็นปฐมฤกษ์แห่งการประกาศพระพุทธศาสนา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน หลังจากนั้นทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระสัทธรรม ด้วยพระพุทธดำรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่พวกทวยเทพและมนุษย์ อย่าไปโดยทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และความงามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน” (วิ.ม. (ไทย) ๔/๓๒/๔๐.)
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีบทบาทในการสร้างพระธรรมทูตโดยเฉลี่ยในแต่ละปีนั้นมีพระธรรมฑูตประมาณ ๖๐ รูป ซึ่งได้อบรมก่อนที่จะส่งไปจำพรรษาในต่างประเทศ โดยยึดหลักการทางพระพุทธศาสนาในการออกไปยังต่างแดนคือ การไม่กล่าวร้ายคนอื่น การไม่เบียดเบียนคนอื่น ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ความเป็นผู้ไม่ประมาทในการบริโภค การอยู่ในเสนาสนะอันสงัด และการฝึกฝนจิต
ในขณะเดียวกันพระธรรมทูตนั้นจะต้องมีคุณสมบัติ คือ ปิโย น่ารักมีเสน่ห์ ครุ น่าเคารพน่าศรัทธา ภาวนีโย น่ายกย่อง วัตตา รู้จักพูดแนะนำ วจนักขโม อดทนต่อคำตำหนิ คัมภีรัญจ กถัง กัตตา กล่าวชี้แจงแถลงไขได้ลึกซึ้ง และ โน จัฏฐาเน นิโยชเย ไม่ชักจูงไปในทางที่เสียหาย
อย่างไรก็ตามก่อนที่จะออกสู่สนามจริงในการเผยแผ่ พระธรรมทูตจะต้องมีหลักธรรมดังต่อไปนี้ คือ ธัมมัญญุตา มีธรรมมีหลักการ อัตถัญญุตา รู้จุดมุ่งหมาย อัตตัญญุตา รู้จักตนเอง มัตตัญญุตา รู้จักประมาณ กาลัญญุตา รู้จักเวลา ปริสัญญุตา รู้จักชุมชน รู้จักสังคม และปุคคลปโรปรัญญุตา รู้จักความแตกต่าง
สรุปพระธรรมฑุตจะต้องอาวุธพร้อมก่อนที่จะออกศึกในการเผยแผ่ที่ท้าทาย อาวุธตัวนี้คือปัญญานั้นเอง ยังมีงานที่ท้าทายอีกมากมายข้างหน้าที่จะต้องทดสอบบทพิสูจน์พระธรรมฑูตในสายของมหาจุฬาฯ...
ขณะเดียวกันมหาจุฬาฯได้อนุมัติตั้งวิทยาลัยพระธรรมทูตขึ้นมาเพื่อสร้างพระธรรมทูตให้มีคุณภาพและสานความร่วมมือกับคณะสงฆ์พุทธศาสนาประเทศต่างๆด้วย ซึ่งต่อไปนี้ไม่ใช่เฉพาะการเปิดการอบรมเท่านั้น ซึ่งจะทำให้งานมีระบบมากขึ้นและถือเป็นงานของมหาเถรสมาคม พร้อมกันนี้ให้มีสมณศักดิ์สายต่างประเทศด้วยเพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ ผลงานเหล่านี้สืบเนื่องมาจากงานของสมเด็จพระพุฒาจารย์ที่ได้สร้างมา
วิทยาลัยพระธรรมทูตนี้จะเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก โดยจะเริ่มปีการศึกษา ๒๕๕๗ นี้ ซึ่งจะรับทั้งพระและฆราวาส แต่รุ่นแรกนี้คงจะรับเฉพาะพระก่อน ส่วนหลักสูตรนั้นก็จะเกี่ยวกับวิธีการเผยแพร่ ภาษา ศาสนาพิธี และประเทศที่จะเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจ
จะแบ่งเป็นช่วงๆ สลับกันคือปีแรกเรียนวิชาการ ปีที่สองจะต้องเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศต่างๆ โดยจะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ในการเผยแพร่ด้านต่างๆ รวมถึงการเขียนบทความ รายงาน เผยแพร่ผ่านสื่อประเทศนั้นๆ ปีที่สามกลับมาเรียนที่ประเทศไทยและปีที่สี่ก็กลับไปปฏิบัติที่ประเทศนั้นๆอีก ดังนั้น พระธรรมทูตจะต้องเรียนรู้ภาษาของประเทศที่จะไปปฏิบัติศาสนกิจถือเป็นภาคบังคับ