พระหลวงพ่อทวดหลังหนังสือพิมพ์เล็กวงเดือนปี ๒๕๐๕
พระหลวงพ่อทวดหลังหนังสือ พิมพ์เล็กวงเดือนปี ๒๕๐๕ : ปกิณกะพระเครื่อง โดยตาล ตันหยง
อนุสนธิจากการนำเสนอเรื่อง พระหลวงพ่อทวด ในสัปดาห์ที่แล้วที่เกริ่นไว้ว่า พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ หลังหนังสือพิมพ์เล็ก ปี ๒๕๐๕ ว่ามีการแบ่งออกได้ ๔ พิมพ์หลัก (บล็อก) คือ พิมพ์เล็กมีตัว ท, พิมพ์เล็ก ว จุด, พิมพ์เล็ก วงเดือน และ พิมพ์เล็ก ธรรมดา ซึ่งแต่ละพิมพ์หลักที่ว่านี้ยังแบ่งออกเป็นพิมพ์ย่อยๆ อีกหลายพิมพ์ โดยแบ่งย่อยตามลักษณะโครงหน้าของหลวงพ่อทวด และลักษณะตัวหนังสือ ที่แตกต่างกันในรายละเอียด...และสัปดาห์ที่แล้วได้นำเสนอ พระหลวงพ่อทวด หลังหนังสือ พิมพ์เล็ก ธรรมดา ปี ๒๕๐๕ รวม ๓ พิมพ์ย่อย คือ พิมพ์ ว หัวกลวง, พิมพ์ ว หัวตัด, และ พิมพ์จมูกชมพู่-ว หัวตัน
วันนี้...จะได้เน้น พระหลวงพ่อทวด หลังหนังสือ พิมพ์เล็ก วงเดือน ปี ๒๕๐๕ ซึ่งถือว่าเป็นอีกพิมพ์หนึ่งในตระกูล พระหลวงพ่อทวด หลังหนังสือ ที่หาชมองค์จริงและสภาพสวยได้ยาก รองๆ จาก พิมพ์เล็ก มีตัว ท เลยทีเดียว (พิมพ์นี้จะนำเสนอรายละเอียดในสัปดาห์หน้า)
วันนี้ก็เช่นเคย ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ผู้ชำนาญการ พระสายหลวงพ่อทวด โดยเฉพาะ ที่ได้มอบภาพ พระหลวงพ่อทวด พิมพ์วงเดือน สภาพสวยแชมป์ ถึง ๒ องค์ มาให้ท่านผู้อ่านชมเป็นวิทยาทาน ในยุคที่ พระแท้ สวยดูง่าย อย่างองค์ที่โชว์คู่นี้ (องค์ที่ ๑ และองค์ที่ ๒) ซึ่งเริ่มหายากในวงการ
ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ได้ให้ข้อสังเกตกับพระพิมพ์นี้ว่า พระพิมพ์วงเดือนนี้จะมีเอกลักษณะเฉพาะตัว คือ ตรงบริเวณบัว ๒ แถว จะมีแพของทิวเนื้อ ลักษณะเส้นโค้งขนานกันหลายๆ เส้น (เนื่องจากการแกะแม่พิมพ์) เหมือนกับ “วงเดือน” อันเป็นที่มาของพิมพ์ (บล็อกวงเดือน)
ข้อสังเกตของพระพิมพ์นี้ที่ต่างกับพระพิมพ์เล็ก พิมพ์ย่อย อื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด คือ พระพิมพ์นี้เม็ดตาซ้ายจะดูเหมือนติดไม่ชัดและเม็ดตาจะไม่เป็นวงรีชัดเจนเหมือนเม็ดตาขวา และที่เหนือบ่าขวาขององค์พระจะมีแพของทิวเนื้อหลายๆ เส้น ปรากฏในแนวเฉียงเกือบขนานกับบ่าของหลวงพ่อทวด (ซึ่งไม่ปรากฏในพิมพ์อื่นๆ เลย)
และตรงท่อนแขนขวาจะมีทิวเนื้อลักษณะเส้นแตกลากยาวมาถึงฝ่าเท้า
ปกติพระพิมพ์นี้จมูกมักไม่โด่งคมสัน เหมือนพิมพ์เล็กอื่นๆ ทั้งนี้ เนื่องจากธรรมชาติของแม่พิมพ์และลักษณะการปั๊มตั้งแต่ต้น...เมื่อพลิกมาดูด้านหลังขององค์พระ พระพิมพ์นี้ หัวตัว วของคำว่า “วัด” จะมีลักษณะหัวกลวง และที่ขอบล่างจะมีทิวเนื้อแตกยาวเป็นลักษณะคล้ายสัญลักษณ์ตัว “โอเมก้าหงาย”...จะพบกลุ่มของเม็ดผดเล็กๆ กระจายอยู่บริเวณช่องว่างระหว่างตัวหนังสือแถวที่สองและสาม เยื้องมาทางฝั่งซ้ายมือเรา
พระ ๒ องค์นี้จัดเป็นพระสวยสมบูรณ์ มีผิวปรอทแบบเดิมๆ คลุมเกือบทั้งองค์ เพราะเป็นพระเก่าเก็บมานานเป็นแรมปี
อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่า พระหลวงพ่อทวด พิมพ์วงเดือน ไม่ใช่มีเฉพาะพิมพ์เล็กเท่านั้น แต่จะมีใน พระหลังหนังสือ พิมพ์ใหญ่ ด้วย ดังเช่นองค์ที่โชว์ (องค์ที่ ๓) เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นจะพบว่ากรณี พิมพ์ใหญ่วงเดือน จะมีลักษณะสัณฐานของวงเดือนเป็นเส้นโค้งอย่างเห็นได้ชัดกว่า (จริงๆ แล้วสัณฐานเส้นโค้งวงเดือนของพิมพ์ใหญ่มีหลายรูปแบบด้วยกัน...ซึ่งจะนำเสนอข้อมูลให้เห็น ในโอกาสต่อไป)
สำหรับ พระหลวงพ่อทวด พิมพ์ใหญ่ วงเดือน-เสาอากาศ ที่โชว์นี้ จัดเป็นพระหลวงพ่อทวดที่หาชมได้ยากสุดๆ เพราะเป็น เนื้อนวโลหะ ซึ่งยังอยู่ในลักษณะการเลี่ยมกรอบทองแบบโบราณ ที่คงรักษาสภาพความสวยงามสมบูรณ์ให้คนรุ่นนี้ได้พบเห็น
ขอขอบพระคุณ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช เจ้าของ พระหลวงพ่อทวด หลังหนังสือ ทั้ง ๓ องค์ในคอลัมน์นี้ พร้อมทั้งข้อมูลเชิงเทคนิคในบทความนี้ด้วย