
อนัตตา อัตตา : คำวัด
อนัตตา อัตตา : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์
ไตรปิฎก เป็นคัมภีร์ที่บันทึกคำสอนของพระโคตมพุทธเจ้า แปลว่า ตะกร้า ๓ ใบ เพราะเนื้อหาแบ่งเป็น ๓ หมวดใหญ่ๆ คือ ๑.พระวินัยปิฎก ว่าด้วยพระวินัยสิกขาบทต่างๆ ของภิกษุและภิกษุณี
๒.พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระสูตรซึ่งเป็นพระธรรมเทศนาของพระโคตมพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ที่แสดงแก่บุคคลต่างชั้นวรรณะและการศึกษา ต่างกรรมต่างวาระกัน มีทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง และ ๓.พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยพระอภิธรรมหรือปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นธรรมะขั้นสูง อธิบายด้วยหลักวิชาล้วนๆ โดยไม่อ้างอิงเหตุการณ์และบุคคล
ปัจจุบันคำว่าพระไตรปิฎก ใช้หมายถึงคัมภีร์ในศาสนาพุทธโดยรวมซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น ๓ สารบบ ได้แก่ ๑.พระไตรปิฎกภาษาบาลี ใช้ในนิกายเถรวาท ๒.พระไตรปิฎกภาษาจีน ใช้ในนิกายมหายาน และ ๓.พระไตรปิฎกภาษาทิเบต ใช้ในศาสนาพุทธแบบทิเบต
เรื่องการชำระพระไตรปิฎก มีประเด็นข่าวหนึ่งที่สะเทือนวงการพระสงฆ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๔ คือ พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ พระอาจารย์ ดร.อนิล ธมฺมสากิโย (ศากยะ) ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มีนักวิชาการทางพระพุทธศาสนาชาวต่างประเทศ ซึ่งเป็นเพื่อนกับอาตมาเล่าให้ฟังว่า ขณะนี้วัดพระธรรมกายกำลังเร่งดำเนินการโครงการชำระพระไตรปิฎก โดยนำนักวิชาการที่เชี่ยวชาญภาษาบาลีจากประเทศต่างๆ อาทิ ศรีลังกา พม่า จำนวน ๑๒ คน มาร่วมโครงการชำระพระไตรปิฎก พร้อมให้ค่าจ้างเป็นเงินเดือนๆ ละประมาณ ๑๕,๐๐๐ บาท และให้กินอยู่ฟรี
"เบื้องต้นทราบว่า จะแก้ไขเรื่องไตรลักษณ์ “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” มาเป็น “อนิจจัง ทุกขัง อัตตา” ซึ่งคำว่า "อนัตตา" หมายความว่า ไม่ใช่ตัวตน ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ส่วน “อัตตา” หมายความว่า ตัวตน ความเที่ยงแท้แน่นอน เนื่องจากธรรมกายเน้นวัตถุนิยม ใครทำบุญมากจะได้เห็นพระพุทธเจ้าเร็วขึ้น และได้เห็นสวรรค์มากกว่าคนอื่น ประกอบกับพุทธศาสนิกชนยุคปัจจุบันบางคนนับถือพระพุทธศาสนาเพียงแค่เปลือก คือทำบุญหวังผล ชอบสิ่งสวยงาม เห็นพระบางรูปผิวพรรณเปล่งปลั่งก็เชื่อว่าได้บรรลุธรรม" พระอนิลมานกล่าวและว่า หากวัดพระธรรมกายทำสำเร็จจะเกิดความเสียหายต่อพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ไทยอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ทราบว่าคณะสงฆ์ไทยจะทราบหรือไม่
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้ให้ความหมายไว้ว่า อัตตา (บาลี: อตฺตา; สันสกฤต: อาตฺมนฺ) แปลว่า ตัวตน ร่างกาย รูปลักษณะ ตัวเอง หรือวิญญาณ ตามทฤษฎีของผู้นับถือลัทธิว่าชีวิตเกิดขึ้นด้วยวิญญาณหรืออาตมัน ซึ่งชาวอินเดียทางภาคเหนือได้ยึดถือเช่นนั้น ในคัมภีร์อุปนิษัทอธิบายไว้ว่า อัตตาเป็นตัวตนเล็กๆ รูปร่างเหมือนคน อาศัยอยู่ในหัวใจเวลาปกติ และหนีออกจากร่างกายไปในเวลานอนหลับ หรือในเวลาสงบแน่นิ่ง
เมื่ออัตตานั้นกลับมาสู่ร่างเหมือนเดิม ชีวิตและการเคลื่อนไหวจึงเกิดขึ้นเป็นไปตามเดิม ในเวลาตายอัตตาก็จะหนีออกจากร่างไปใช้ชีวิตในอมตะของตนเองวนเวียนไปอย่างนี้โดยไม่มีสิ้นสุด (นัยพจนา. บาลี-อังกฤษ ของสมาคมบาลีปกรณ์)
ในศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าเรียกความเชื่อเรื่องอัตตาว่าสัสสตทิฐิ ถือเป็นมิจฉาทิฐิอย่างหนึ่ง และเรียกว่าอัตตวาทุปาทาน ซึ่งถือเป็นความยึดมั่นถือมั่นประการหนึ่ง
อัตตาในคำไทยทั่วไปใช้ในรูป อัตต, อัต เช่น อัตตาธิปไตย อัตชีวประวัติ อัตภาพ อัตโนมัติ