พระเครื่อง

เกลียดชังเขาเราเป็นทุกข์

เกลียดชังเขาเราเป็นทุกข์

14 ก.พ. 2557

เกลียดชังเขาเราเป็นทุกข์ : บาตรเดียวท่องโลก โดยพระพิทยา ฐานิสฺสโร

              ภิกษุชาวฝรั่งเศสที่ร่วมปฏิบัติภาวนาในฤดูหนาวได้แบ่งปันว่า ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจบวชและหันมานับถือพุทธศาสนา ท่านมีโอกาสไปเป็นอาสาสมัครช่วยดูแลผู้พิการที่สถานพยาบาล เพราะท่านคิดว่าอยากทำอะไรที่เป็นประโยชน์และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ แต่ในขณะทำงาน ไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่นัก เวลาที่ต้องทำความสะอาดสิ่งสกปรกที่ผู้พิการไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หลายครั้งท่านรู้สึกว่ามีความรังเกียจทั้งๆ ไม่อยากคิดเช่นนั้น

                บางทีท่านก็มีคำถามในใจว่า แน่ใจหรือว่าเรากำลังช่วยเขาอยู่ ในขณะที่เรามีร่างกายสมบรูณ์พร้อมทุกอย่าง ทำอะไรได้สะดวกตามความต้องการ แต่เรามีความสุขน้อยกว่าพวกเขาในหลายเรื่อง ดูเหมือนเขากำลังช่วยเราให้เข้าใจชีวิตในอีกหลายมุม

               หลังจากเสร็จสิ้นงานอาสาสมัครท่านเดินทางไปแอฟริกาอย่างผู้ไม่มีจุดหมาย เพื่อค้นหาอะไรบางอย่างเกี่ยวกับชีวิต ความยากลำบากสอนอะไรหลายอย่างให้กับท่าน แต่ก็ยังไม่ใช่สิ่งแสวงหา ในที่สุดตัดสินใจกลับฝรั่งเศส ตอนที่รู้ในวันสุดท้ายว่าเป็นไข้มาเลเรีย  ช่วง ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมาในชีวิตนักบวช ท่านต้องต่อสู้อะไรมากมายในจิตใจที่ดิ้นรน สงสัย กับสิ่งที่ต่างจากชีวิตในวัยก่อนบวช ทั้งความเชื่อ การปฏิบัติ วัฒนธรรม วิถีชีวิต แต่หนทางแห่งความสุขสงบค่อยๆ ชัดเจนขึ้น ท่านจึงแน่วแน่มุ่งมั่นที่จะทำความเพียรต่อไป ไม่หันกลับไปสู่วิถีทางโลกอีก

               สังคมโลกกำลังเปลี่ยนไปเป็นสังคมบริโภคนิยมอย่างรุนแรง ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ใช้ความคิด การวางแผน มากกว่าการลงมือทำ ทำให้สิ่งที่เราอุปโภค บริโภคส่วนใหญ่ไม่ใช่สิ่งที่เราได้ลงมือสร้าง ทำขึ้นมาเอง เราจึงไม่รู้ถึงความยากลำบาก ขั้นตอน กระบวนการ สิ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องของการปรากฏเกิดขึ้นแต่ละสิ่งด้วยตัวของเรา แต่ผ่านมาจากการบอกเล่า ศึกษาทางอักษร จึงไม่ใช่ความเข้าใจอย่างแท้จริงและเมื่อเราใช้เงินเป็นตัวหลักในการแลกเปลี่ยน จึงให้ขาดความสัมพันธ์ในด้านการเห็นอกเห็นใจ เคารพ เกื้อกูล ฯลฯ

               ความสำนึกบุญคุณ เห็นคุณค่าของสรรพสิ่งรอบข้างจึงมีน้อยหรือกลับแทบไม่มีเลย เพราะเราคิดว่าได้ใช้จ่ายด้วยเงินเป็นการแลกเปลี่ยนและอาจทำให้หลงว่า เราต่างหากที่เป็นผู้ควรได้รับการขอบคุณ เพราะเราได้ช่วยเหลือให้เขาอยู่ได้ ทำให้เกิดความทะนง หลงตน ที่ยิ่งใหญ่ขึ้น

               สิ่งเหล่านี้ เป็นเหตุให้ความอดทน ความเมตตา กรุณา ความเข้าใจความจริงแห่งสรรพสิ่งน้อยลงไป จึงเป็นการง่ายที่ทำให้เราเป็นคนเอาแต่ใจ เอาความเห็นตัวเองเป็นใหญ่ หงุดหงิดง่าย ไม่อดทนต่อสภาวะที่บีบคั้น กดดัน ความทุกข์จึงปรากฏบ่อยครั้ง โดยไม่สามารถควบคุมจิตใจตัวเราเองได้ เวลาเจอสิ่งกระทบทำให้ส่งผลให้เกิดมีการอาฆาต ทำร้ายผู้อื่น และอาจมีการฆ่าตัวตายมากกว่าการให้อภัย

               หากผู้มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงแต่ถ้าภาวะแห่งจิตใจที่หนัก ยึดติด เห็นแก่ตัว อยากได้ เกลียดชัง ฯลฯ เขาเหล่านั้นโชคร้ายกว่าคนพิการทางร่างกาย ซึ่งเราสามารถเรียนรู้จากเขาได้ ที่จะอยู่ในสังคมแห่งการบริโภคด้วยการหยุด สามารถนั่งเงียบๆ สงบๆ อย่างสม่ำเสมอ ดูการเปลี่ยนแปลงภายในทั้งทางกายและใจในขณะนั่งนิ่งๆ มองเป็นกลางกับสิ่งที่กำลังปรากฏทั้งดีและไม่ดี

               เมื่อเราเรียนรู้จากเขา เราจะเมตตากรุณาต่อตัวเองมากขึ้น ไม่เปรียบเทียบซ้ำเติมตัวเองกับใครๆ ในสิ่งที่ดีและไม่ดี เพราะเราเริ่มเข้าใจความจริงแห่งการปรากฏ ดำรงอยู่ และดับไปอย่างที่เป็น

               โชคดีเพราะใช้ สิ่งที่มี ที่เป็นเพื่อปลดปล่อยไม่ใช่ยึดครอง

               มองทุกสิ่งอย่างเป็นกลาง คือ ความว่างแห่งจิต