
กว่าจะเป็นงานบุญปิดทองฝังลูกมิต'วัดสามง่าม'
24 ม.ค. 2557
กว่าจะเป็นงานบุญปิดทองฝังลูกมิต'วัดสามง่าม' อ.บางบัวทอง : คอลัมน์ท่องแดนธรรม : โดย...ไตรเทพ ไกรงู
"กว่าจะได้เป็นวัดอย่างสมบูรณ์อย่างที่เห็น อาตามาเป็นความอยู่ ๑๔ ปี ต่อสู้มา ๗ ศาล"
นี่คืออีกมุมหนึ่งของความพยายามในการสร้างวัดของพระครูวิสุทธิธีรญาณ หรือหลวงพ่อไวพจน์ กตปุญโญ เจ้าอาวาสวัดสามง่าม และเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดนนทบุรี แห่งที่ ๒ ต.ลำโพ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี
หลวงพ่อไวพจน์ เล่าให้ฟังว่า เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ มติคณะสงฆ์โดยพระราชมงคลโมลี อดีตเจ้าอาวาสวัดโมลี และรองเจ้าคณะจังหวัดนนทบุรี มีความเห็นว่าให้มีการบูรณะวัดสามง่ามซึ่งเป็นวัดร้างขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของพุทธศาสนิกชน โดยขณะนั้นเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดลาดปลาดุก ตอนที่มาสร้างวัดนี้เป็นเพียงทุ่งนาไม่มีอะไรบ่งบอกว่าเป็นวัดเลย นอกจากเอกสารสิทธิที่กรมศาสนาขึ้นทะเบียนว่า วัดสามง่ามเป็นวัดร้าง
ด้วยเหตุที่เป็นวัดร้างมานับร้อยปี จึงมีคนมาครอบครองทำนาในลักษณะ "ครอบครองปรปักษ์" เป็นธรรมดาเมื่อพระมาขอที่คืนต้องถูกด่าชนิดที่เรียกว่า "ไม่เกรงใจผ้าเหลือง ขุดโคตรพ่อโคตรแม่ รวมทั้งคำด่าที่หยาบคายทั้งหลาย แม้ว่าจะถูกด่าในครั้งนั้นไม่คิดอะไรมากเพราะเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ท่านก็ถูกด่าสารพัด จะเอาอะไรกับพระธรรมดาอย่างเราที่จะไม่โดนด่า ส่วนประเด็นที่ถูกขู่ฆ่านั้นไม่คิดอะไรมาก เพราะถ้าถูกขู่ฆ่าและตายจริงๆ ป่านนี้คนไทยตายกันทั้งประเทศแล้ว"
"วันที่เขาแพ้ศาลสุดท้าย สิ่งที่อาตมาดีใจ คือ โยมที่เป็นความต่อสู้มากว่า ๑๔ ปี เข้ามากราบขอโทษเราที่ศาล อาตมาบอกว่าไม่ป็นอะไร แถมช่วยเงินค่ารื้อถอนขนย้ายไปกว่า ๒ แสนบาท อาตมาคิดเพียงว่าการให้ที่เหนือการให้คือ การให้อภัย ทุกวันนี้เขาก็กลับมาทำบุญที่วัด อาตมาอุปมาว่า เราปลูกมะม่วงไว้แท้ๆ มดแดงมาอาศัยอยู่มันยังกัดเลย ที่ดินซึ่งคนถวายให้พระพุทธเจ้าก็เช่นกัน เมื่อพระมาเอาคืนก็ย่อมถูกกัดถูกด่าเป็นธรรมดา" หลวงพ่อไวพจน์กล่าว
พร้อมกันนี้ หลวงพ่อไวพจน์ยังบอกด้วยว่า สิ่งแรกที่มาสร้างไม่ใช่กุฏิแต่เป็นส้วม ด้วยเหตุที่ว่าการฉันและการนอนนั้น จะนั่งฉันที่ไหน จะปักกรดตรงไหน ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่เมื่อญาติโยมมาทำบุญต้องมีที่ปลดทุกข์จึงเลือกที่จะสร้างส้วมขึ้นมาก่อน จากนั้นก็เริ่มสร้างกุฏิ สร้างศาลา และสร้างโบสถ์ ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นงานปิดทองฝังลูกนิมิตแล้วจะมุ่งเน้นสร้างคน ซึ่งขณะนี้ศาลาปฏิบัติธรรมสร้างเสร็จแล้ว น่าจะรองรับผู้มาปฏิบัติธรรมได้ครั้งละหลายพันคน
เมื่อถามถึงความหนักใจในการสร้างวัด หลวงพ่อไวพจน์พูดไว้อย่างน่าคิดว่า "งานสร้างวัด สร้างถาวรวัตถุไม่ใช่เรื่องใหญ่ เมื่อญาติโยมเห็นว่าพระทำจริงก็เกิดศรัทธาช่วยสร้างจนเสร็จ ที่ยากยิ่งกว่า คือ การสร้างคน ทั้งคนในวัดและคนนอกว่า คนในวัด คือ พระเณร เมื่อบวชเข้ามาแล้วจะสอนอย่างไรให้เป็นคนดีของสังคมเมื่อสึกออกไป วัดไหนมีพระเณรที่สึกออกไปแล้วต้องติดคุกติดตะรางถือว่าเจ้าอาวาสวัดนั้นไม่มีความสามารถที่จะสอนให้เป็นคนดี ส่วนการสร้างคนนอกวัดนั้น ยากตรงที่ว่าจะดึงคนเหล่านี้เข้าวัดได้อย่างไร ถ้าทำให้คนเข้าวัดได้ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเผยแผ่ธรรมะ"
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลวงพ่อไวพจน์จะขึ้นชื่อว่าเป็นผู้สร้างวัดสามง่ามด้วยตนเอง แต่ท่านคิดอยู่เสมอว่า "อาตมาเป็นเพียงแต่ผู้นำศรัทธาของญาติโยมมาเท่านั้น เงินที่สร้างวัดไม่ใช่เงินของอาตมาเลยสักบาทเดียว อาตมาเป็นผู้นำในการสร้างวัดตั้งแต่ต้น แต่ไม่เคยยึดถือว่าเป็นวัดของอาตมา คิดเพียงอย่างเดียวว่าในช่วงที่เป็นเจ้าอาวาสวัดนี้ต้องทำให้เต็มความสามารถและต้องดีที่สุด เมื่อพ้นจากหน้าที่ หรือมรณภาพก็เป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสรูปถัดไปมาสานงานต่อ เจ้าอาวาสวัดอื่นๆ ก็ต้องคิดอย่างนี้เช่นกัน
ตนตรีพม่าเพื่อแรงงานพม่า

ในคืนวันที่ ๒๕ และ ๒๖ กุมภาพันธ์ ของงานบุญปิดทองฝังลูกนิมิต หลวงพ่อไวพจน์ ได้จัดหา "อาซานี" ซึ่งเป็นนักร้องดังที่สุดในประเทศพม่ามาสมโภช ซึ่งถือว่าเป็นวัดแห่งแรกที่มีแนวความคิดนี้ โดยปกติแล้วจะเป็นนักร้องและวงดนตรีคนไทย
หลวงพ่อไวพจน์ให้เหตุผลว่า ถ้าพูดให้เข้าหลักการและดูดี คือ ขณะนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การเรียนรู้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้น ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เคยไปฝึกปฏิบัติธรรมที่พม่าอยู่ ๑ ปี และไปอธิษฐานจิตที่เจดีย์ชเวดากองซึ่งป็นมุมเดียวกับที่สมเด็จพระนเรศวรไปนั่งอธิษฐานจิต เมื่อกลับมาสร้างวัดขอให้มีความเจริญรุ่งเรืองทุกด้านทั้งด้านก่อสร้างและด้านเผยแผ่ ซึ่งทุกวันนี้ก็เป็นจริงอย่างที่อธิษฐานจิตเอาไว้ จึงหาดนตรีพม่ามาสมโภช
นอกจากนี้แล้วต้องยอมรับว่าพลังศรัทธาในการสร้างวัดแห่งนี้มาจากแรงงานพม่า โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาจะมีพุทธศาสนิกชนพม่ามาทำบุญกว่า ๕๐๐ คน เมื่อวัดมีงานจึงอยากหาสื่อบันเทิงที่เข้าถึงใจของแรงงานพม่าบ้าง เพื่อคลายความคิดถึงแผ่นดินเกิด เช่นเดียวกับคนไทยที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศก็จะมีคนหานักร้องนักดนตรีไปแสดงในประเทศนั้นๆ
"ไม่เฉพาะคนพม่าเท่านั้นที่อยากมา คนไทยก็อยากด้วยเพราะอยากรู้ว่าดนตรีพม่าเขาเล่นกันแบบไหน ความพิเศษอย่างหนึ่ง คือ ก่อนการแสดงจะมีการแสดงธรรมะโดยพระชาวพม่าซึ่งมาเรียนอยู่ที่ มจร. ทั้งนี้ จะเน้นให้เทศน์เรื่องความขยันทำมาหากิน รวมทั้คุณของคนไทยและเมืองไทยที่ให้มีงานทำและที่หลับนอน" หลวงพ่อไวพจน์ กล่าว
กุมารทองวัดสามง่าม

"ตราบใดที่เรามิอาจแยกพิธีกรรมระหว่างพราหมณ์กับพุทธได้ ก็เป็นเรื่องยากที่จะแยกวัตถุมงคลให้ออกจากพุทธศาสนาได้ คนทำบุญเพียงเพื่อหวังบุญก็มีมาก คนทำบุญเพื่อรับวัตถุมงคลก็มีอยู่ไม่น้อย ที่สำคัญคือการสร้างวัดแห่งนี้ได้สร้างวัตถุมงคลหลายสิบรุ่น" นี่เป็นความเห็นในการจัดสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อไวพจน์
ในงานบุญปิดทองฝังลูกนิมิตครั้งนี้ วัดจึงนำพระที่เคยสร้างไว้ออกมาให้เช่าบูชา ส่วนพระสร้างใหม่จะเป็นกุมารทอง ซึ่งสร้างตามตำรับของหลวงพ่อเต๋ คงทอง อดีตเจ้าอาวาสวัดสามง่าม (วัดอรัญญิการาม) อ.ดอนตูม จ.นครปฐม เจ้าตำรับเครื่องรางของขลังกุมารทองอันโด่งดัง ทั้งนี้ วัดได้ไปขออนุญาต
หลวงพ่อแย้ม ฐานยุตโต จัดสร้าง เนื่องจากท่านได้อุปถัมภ์การสร้างวัดแห่งนี้ตลอด เมื่อครั้งสร้างศาลาปฏิบัติธรรมท่านร่วมทำบุญมา ๓ แสนบาท ท่านยังพูดว่า "เรามันอยู่วัดสามง่ามเหมือนกัน"
หลวงพ่อแย้ม เป็นพระเกจิอาวุโสระดับแนวหน้าของไทย ศิษย์สายตรงองค์เดียวของหลวงพ่อเต๋ คงทอง พระครูประยุตนวการ หรือหลวงพ่อแย้ม ฐานยุตโต เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดสามง่าม ลุ่มแม่น้ำท่าสาร จ.นครปฐม ท่านมีวิชาอาคมที่เลื่องลือ โด่งดังไปทั่วทุกสารทิศทั้งในและต่างประเทศในทวีปเอเชียตะวันออก ท่านได้รับการยอมรับยกย่องเกียรติคุณด้านวัตถุมงคลที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ตะกรุดหน้าผากเสือ ตะกรุดโทน เบี้ยแก้ และที่โด่งดังมากก็คือ กุมารทอง
สำหรับงานผูกพัทธสีมาปิดทองฝังลูกนิมิตหยก วัดสามง่าม ที่จะจัดระหว่างวันศุกร์ที่ ๒๔ มกราคม-พุธที่ ๕ กุมภาพันธ์นี้ วัดได้ทำโครงการปล่อยช้างคืนสู่ป่า ไถ่ชีวิตโค กระบือถึงมือเกษตรกร รวมทั้งชมนิทรรศการด้านการเกษตร นอกจากนี้วัดได้จัดสร้างกุมารทองเนื้อผง ข้าวกระยาทิพย์สำหรับมอบเป็นที่ระลึกกับผู้ไปร่วมงาน สอบถามเส้นทางไปวัดได้ที่ ๐-๒๙๒๕-๕๙๒๑, ๐๘-๖๕๐๙-๔๔๖๔ และ ๐๘-๑๓๔๐-๒๙๔๒
.........................
(กว่าจะเป็นงานบุญปิดทองฝังลูกมิต'วัดสามง่าม' อ.บางบัวทอง : คอลัมน์ท่องแดนธรรม : โดย...ไตรเทพ ไกรงู)