พระเครื่อง

วัดสนามไชยสนามแจ้งเกิด'ราชาเพลงลูกทุ่ง'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วัดสนามไชยสนามแจ้งเกิด'ราชาเพลงลูกทุ่ง" : ท่องไปในแดนธรรม เรื่อง/ภาพโดยไตรเทพ ไกรงู

              วัดสนามไชยราษฎร์ศรัทธาธรรม เดิมชื่อ วัดดอนใหญ่ราษฎร์ศรัทธาธรรม ตั้งอยู่เลขที่ ๑๒๙ บ้านดอนกรวย หมู่ ๔ ต.ดอนกรวย อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๒ อาคารเสนาสนะสำคัญภายในวัด ประกอบด้วย อุโบสถอาคารทรงไทย สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๖ มีพระประธานประจำอุโบสถเนื้อปูน เป็นศิลปะสมัยอู่ทอง ปัจจุบันมีพระอธิการชุบ ชวนธมโม หรือหลวงพ่อชุบ อายุ ๗๙ ปี พรรษาที่ ๒๓ เป็นเจ้าอาวาส ปกครองดูแลคณะสงฆ์ และดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุ และบูรณปฏิสังขรณ์อาคารเสนาสนะต่างๆ ให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป

              ประวัติความเป็นมาของวัดตามคำบอกเล่าของผู้รู้เล่าว่า ในสมัยก่อนมีนายกลับ และนายเนี้ยม ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วย นายคล่อม นายแพ นายหริ่ม นายชม นายกล้าม นายพุ่ม และนายคำ ได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้น และได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดสนามไชยราษฎร์ศรัทธาธรรม

              อดีตเจ้าอาวาสวัดสนามชัยที่มีชื่อเสียง คือ พระครูอินทโมฬี (ชาวบ้านนิยมเรียก พระครูสุง) เนื่องจากท่านเป็นพระเถระที่มีคนเคารพนับถือมาก นอกจากนี้ท่านยังได้ร่วมกับราษฎรจำนวนหนึ่งกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เพื่อขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา และพระองค์ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมการปักกำหนดโดยยาว ๔๐ วา ๒ ศอก กว้าง ๒๐ วา เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๓๑

              หลังจากนั้น พ.ศ.๒๔๔๒ วัดได้เริ่มสร้างพระอุโบสถ โดยสร้างฐานราก ก่อผนังทั้งสี่ด้าน มีฐานชุกชีพระประธาน แล้วทำพิธีฝังลูกนิมิต การก่อสร้าง โดยนายช่างคนไทย แต่การก่อสร้างต้องหยุดชะงักลงเมื่อหลวงตายัง เจ้าอาวาสในขณะนั้นได้มรณภาพ ต่อมาถึงสมัยหลวงตาชื่นเป็นเจ้าอาวาส ได้เริ่มก่อสร้างพระอุโบสถต่อจากเดิม และมีการย้ายกุฏิพระให้มารวมอยู่กับหอสวดมนต์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับศาลาการเปรียญ การก่อสร้างพระอุโบสถแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๖๙ ในสมัยสมภารหู้เป็นเจ้าอาวาส

              นอกจากนี้สมภารหู้ ยังสร้างหอฉันขึ้นมาอีกด้วย หลังจากนั้นสมภารหู้ได้ลาสิกขาบท และจำนวนพระที่มาบวชใหม่ก็ลดลง ทำให้วัดสนามชัยเริ่มทรุดโทรมลงเนื่องจากไม่มีการดูแลอย่างทั่วถึง จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๔๘๘ พระประหยัด ปัณฑิโต (วงศ์ยะรา) นักธรรมเอกจากวัดโคกบำรุงราษฎร์ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี มาเป็นเจ้าอาวาสวัด ท่านได้พัฒนาวัดในหลายๆ ด้าน จากเดิมที่มีพระเพียงรูปเดียว จนมีพระและสามเณรอยู่จำพรรษากว่า ๕๐ รูป มีการเรียนบาลีนักธรรม และเปิดสอนโรงเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๓

              ปัจจุบัน วัดสนามชัยได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ภายในวัดมีอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม คือ พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และหอระฆัง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของวัดแห่งนี้ คือ หลวงพ่อพุทธชัยมงคล ซึ่งเป็นพระประธานในอุโบสถหลังเดิม ซึ่งท่านมีความศักดิ์สิทธิ์เรื่องการบนของหายให้หาเจอ ทั้งนี้ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ อดีตเจ้าอาวาสได้สร้างรูปหล่อลอยองค์และเหรียญหลวงพ่อพุทธชัยมงคลเพื่อสมทบทุนสร้างโบสถ์

              อย่างไรก็ตาม ตรุษจีนปี ๒๕๕๗ ระหว่างวันที่ ๒๙ มกราคม-๖กุมภาพันธ์ ขอเชิญร่วมทำบุญงานผูกพัทธสีมาปิดทองฝังลูกนิมิต

สนามแจ้งเกิด "๑๖ ปีแห่งความหลัง"

              "ลำดวน" เป็นชื่อเดิมของ "สุรพล สมบัติเจริญ" เจ้าของสมญาว่า "ราชาเพลงลูกทุ่งเมืองไทย" เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๓ ที่บ้านเลขที่ ๑๒๕ ถนนนางพิม อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี บิดามารดาชื่อนายเปลื้อง นางวงศ์ สมบัติเจริญ การศึกษามัธยมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย สมรสกับนางสีนวล มีบุตรธิดา ๕ คน เริ่มต้นฝึกฝนตนเองทั้งการร้องเพลงและการแต่งเพลง เพิ่งได้เรียนรู้หลักการและฝึกฝนเป็นวิธีการเมื่ออยู่กองดุริยางค์กองทัพอากาศ เป็นนักร้องครั้งแรกด้วยการร้องเพลง เชียร์รำวง บันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกคือเพลง "น้ำตาลาวเวียง" เพลงดังๆ อาทิ ชูชกสองกุมาร, โดดร่ม, ลืมไม่ลง, สาวสวนแตง, แซซี้อ้ายลื้อเจ็กนั้ง, น้ำตาจ่าโท, เดือนหงายที่ริมโขง, สนุกเกอร์, หัวใจผมว่าง และเพลงสุดท้าย ๑๖ ปี แห่งความหลัง

              สุรพล สมบัติเจริญ ยึดแบบอย่างเบญจมินทร์ในการร้องเพลง มีเรืออากาศตรีปราโมทย์ อรรณพงษ์ ชักนำสนับสนุนเข้าเป็นนักร้อง วงดุริยางค์ทหารอากาศ คุณเอกพล บุตรชายคนโตของนายห้าง ต.เง๊กชวน สนับสนุนให้อัดแผ่นเสียงเป็นครั้งแรก ครูพยงค์ มุกดา ให้คำปรึกษาชี้แนะให้ตั้งวงดนตรีเป็นของตนเอง และนายห้างอารยะโอสถตรามือ สนับสนุนเงินทุนให้ตั้งวง

              การประชันวงดนตรีลูกทุ่งครั้งแรกของเมืองไทยที่วัดสนามชัยเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๙ ครั้งนั้นมีวงดนตรีชั้นนำของเมืองไทยประชันกัน ๔ วง รางวัลที่ได้คือขันน้ำพานรอง พระยอดธงรุ่นแรก พร้อมเงินรางวัล

              เหตุการณ์ในครั้งนั้น สุรพล สมบัติเจริญ ประทับใจและตื้นตันใจมากถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความปลาบปลื้ม ดังเนื้อเพลงที่เขาว่า "วัดสนามชัยดินแดนครั้งก่อน ผมยังไม่ลืม ผมหลั่งน้ำตาอุราแสนปลื้ม"  ส่วนบทเพลงที่เคยชนะการประชันวงดนตรีลูกทุ่งครั้งแรกของเมืองไทย คือ "๑๖ ปีแห่งความหลัง"

ภาพแห่งความทรงจำ

              ตอนที่สุรพลมาประชันร้องเพลงนั้น ฉันยังไม่บวช จำได้ว่าวันที่เขามาปิดวิกแข่งขันดนตรีกัน ๒ คืน โดยให้แข่งคืนละ ๒ วง โดยให้อยู่วิกเดียวกัน เมื่อได้เก้าอี้แล้วก็ไปนั่งดูหน้าวงนั้นๆ ปรากฏว่าวงดนตรีของสุรพลีคนนั่งแน่นขนัด หลังจากนั้นเป็นต้นมาวัดแห่งนี้ไม่มีการจัดประชันดนตรีอีกเลย เหลือเพียงตำนานและเรื่องเล่าเท่านั้น" นี่เป็นเรื่องเล่าจากของหลวงพ่อชุบ ซึ่งเป็นอีกคนหนึ่งที่มาดูการประชันวงดนตรีในครั้งนั้นด้วย

              สำหรับสนามจัดประชันวงดนตรีนั้น หลวงพ่อบอกว่า ไม่ใช่ลานวัด แต่เป็นทุ่งนาที่อยู่ห่างจากวัดประมาณ ๓๐๐ เมตร ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวได้เปลี่ยนสภาพเป็นสวนผลไม้ไปแล้ว จำได้ว่าสมัยนั้นรถยังเข้าไม่ถึงวัด ต้องนั่งรถจาก จ.สมุทรสาคร มาลงที่ อ.ดำเนินสะดวกจากนั้นก็เดินเท้ามาอีก ๕ กิโลเมตร ส่วนใครที่มีเรือก็มาเรือ ซึ่งจอดเต็มคลองนับร้อยๆ ลำ ขณะเดียวกันใครจะมาทำบุญที่วัดต้องมาทางเรือเท่านั้น เมื่อถนนตัดผ่านคลองจึงหมดความสำคัญกลับกลายเป็นคลองที่ตื้นเขิน ไม่มีเรือวิ่งมากว่า ๒๐ ปีแล้ว

              พร้อมกันนี้หลวงพ่อชุบยังบอกด้วยว่า ก่อนหน้านี้ทายาทและครอบครัวสุรพลเข้าใจว่าวัดสนามชัยซึ่งเป็นสนามประชันและแจ้งเกิด "สุรพล สมบัติเจริญ ราชาเพลงลูกทุ่ง" นั้น คือ วัดสนามชัย ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ ๕ ต.สนามชัย (เดิมชื่อตำบลพิหารแดง) อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี แต่เมื่อทราบความจริงว่าเป็นวัดแห่งนี้จึงมาจัดสร้างรูปเหมือนและศาลาเป็นเป็นอุสรณ์ ทั้งนี้ ทุกๆ ปี ในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ทายาทจะนำวงดนตรีมาจัดแสดงเพื่อเป็นการระลึกถึง "สุรพล สมบัติเจริญ" ราชาเพลงลูกทุ่ง

              สำหรับความเฮี้ยนของ "ศาลสุรพล สมบัติเจริญ" หากเป็นหนัง ลิเก รวมทั้งดนตรีมาแสดงที่วัด หากไม่จุดธูปบอกกล่าวก็จะมีอันเป็นไปต่างๆ นานา แต่ที่บนกันมาที่สุดต้องยกให้คนที่สมัครประกวดร้องเพลงตามเวทีต่างๆ มักจะเดินทางมากราบไหว้ขอพร ร่วมทั้งถวายพวงมาลัยกันอย่างต่อเนื่อง
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ