
'การเมืองหัวใจมนุษย์'ไร้สมจร
Humanized Politics การเมืองที่มีหัวใจอยู่ที่การพัฒนามนุษย์ หรือเรียกให้ย่อสั้นลงว่า 'การเมืองหัวใจมนุษย์' : เฟซบุ๊กวิถีพุทธ-วิถีไทยไทรายงาน
Humanized Politics มีหัวใจหรือแก่นสำคัญอยู่ที่การพัฒนานักการเมืองทั้งที่อยู่ในระบบในปัจจุบัน และประชาชนผู้ที่จะมาเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ในอนาคต ให้ได้รับการฝึกฝนอบรมพัฒนาพฤติกรรม-จิตใจ-ปัญญาให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ในฐานะที่ต้องมี "หน้าที่" เป็นแบบอย่างความเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศให้แก่ประชาชนได้เจริญรอยตาม
หลักปรัชญาพื้นฐานของ Humanized Politics ก็คือ
- "ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ"
มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ที่สามารถฝึกฝนพัฒนาได้ และจำเป็นต้องฝึก (เพราะหากมนุษย์ไม่ได้รับการฝึกฝนพัฒนาแล้วไซร้ ก็จะเสื่อมทรามลงไปจนถึงขั้นเลวกว่าสัตว์เดรัจฉาน!!)
- 3L: Learning Person, Learning Organization, Learning Society
หากนักการเมืองได้รับการพัฒนาให้เป็นแบบอย่างของ "นักเรียนรู้" Learning Person ก็จะสามารถพัฒนาองค์กรทางการเมืองให้เป็น "องค์กรเรียนรู้" Learning Organization ก็ย่อมเป็นพลังอันสำคัญในการพัฒนาสังคมประเทศชาติให้เป็น "สังคมแห่งการเรียนรู้" Learning Society จึงจะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนจนก่อเกิดเป็น "อารยธรรม" ที่สร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้แก่มวลมนุษชาติได้
- Sustainable Democracy
การพัฒนามนุษย์มีความสำคัญที่สุด เพราะจะทำให้บุคคลที่จะเข้ามาเป็นนักการเมืองได้รับการบ่มเพาะฝึกฝนพัฒนาให้เป็นแบบอย่างที่ดีของความเป็น "สุดยอดพลเมือง" Active Citizen ทำให้ประชาชนในประเทศได้เจริญรอยตามและพัฒนาตนเองให้เป็นพลเมืองที่ดี good citizen ซึ่งเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืน
คุณสมบัติพื้นฐาน 3 ประการ
ที่นักการเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคตต้องมีหน้าที่พัฒนาฝึกฝนตนเอง คือ
1) มีจิตอาสา-สาธารณะ รักชาติรักส่วนรวม
เสียสละเพื่อส่วนรวมได้รับการบ่มเพาะให้มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม ผ่านการทำงานเป็นอาสาสมัครเพื่อประโยชน์สาธารณะ (มีชั่วโมงทำงานเป็นอาสาสมัคร ที่ต้องลงมือทำจริงไม่น้อยกว่าที่กำหนด ไม่ใช่แค่ไปเปิดงานสร้างภาพ)
2) เป็นคนดีมีศีลธรรม
ได้รับการบ่มเพาะฝึกฝนอบรมด้วยการศึกษาและปฏิบัติธรรมในศาสนาของตน อย่างต่อเนื่องในวิถีชีวิต เคารพให้เกียรติต่อศาสนาอื่น ไม่ปรากฎมีความเสื่อมเสียทางจริยธรรม(มีชั่วโมงการร่วมปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาและการปฏิบัติธรรม ไม่น้อยกว่าที่กำหนด)
3) มีความรู้ความสามารถ
ได้รับการพัฒนาความรู้ความเข้าใจทั้งทางโลกและทางธรรม (ความรู้ทางโลก โดยเฉพาะงานด้านนิติบัญญัตินั้น จักต้องมีความรู้ทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง-การศึกษา, งานด้านบริหาร จักต้องมีความรู้เฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับงานที่ต้องรับผิดชอบในกระทรวงหรือในคณะกรรมาธิการต่างๆ) (ทางธรรม จักต้องรู้เข้าใจในหลักธรรมและประวัติศาสตร์ทางศาสนาของตนเป็นอย่างดี และยังต้องรู้เข้าใจหลักพื้นฐานของศาสนาอื่นที่เกี่ยวข้องกันตามหลักศาสนสัมพันธ์) (ต้องเข้ารับการศึกษาไม่ต่ำกว่าเวลาที่กำหนด และผ่านการทดสอบตามเกณฑ์)
หลักการ
- การฝึกฝนอบรมพัฒนาความเป็นมนุษย์ของนักการเมืองนี้ต้องกำหนดให้เป็น "หน้าที่" ไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่นักการเมืองทุกระดับทุกคนต้องปฏิบัติและผ่านการประเมิน (มิใช่เป็นเพียงสิทธิที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้)
- โครงสร้างทางการเมืองที่เคยกำหนดไว้เป็นอำนาจ 3 ฝ่าย และอีก 1 ฝ่ายตรวจสอบถ่วงดุล [3 + 1] คือ [อำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ + องค์กรอิสระ] นั้น ให้ปรับใหม่เป็น [3 + 1 + 1] คือ [อำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ + องค์กรอิสระ + สถาบันการเรียนรู้เพื่อพัฒนานักการเมือง]
- การไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินการพัฒนาความเป็นมนุษย์ของนักการเมืองนั้น ไม่มีผลให้ถูกเพิกถอนสถานภาพทางการเมืองที่ได้มาจากการเลือกตั้งได้ แต่มีผลให้นักการเมืองถูกตัดสิทธิพิเศษต่างๆ หรือถึงขั้นถูกตัดลดเงินเดือน เงินตอบแทนต่างๆ และถูกกำหนดให้เข้ารับการซ่อมเสริมคุณสมบัติในส่วนที่ไม่ผ่านการประเมิน จนเมื่อได้รับการพัฒนาให้ผ่านการประเมินแล้วจึงได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ เหล่านั้นคืน*
- การเข้ารับการอบรมพัฒนาและผลการประเมินความเป็นมนุษย์ของนักการเมือง ต้องได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะทุก 3 เดือน
ข้อสังเกต
- Humanized Politics นี้จะช่วยอุดรูรั่วของวิธีคิดทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์แบบแยกส่วนของเดิมที่มีข้อจำกัดมากมาย ที่พิสูจน์มายาวนานแล้วว่าแก้ไขด้วยลำพังตัวเองของหลักการทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์แบบแยกส่วนไม่ได้
- Humanized Politics จึงเข้ามาช่วยเติมเต็มกระบวนการพัฒนามนุษย์เข้าไปในระบบการเมือง มีผลทำให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรทางการเมืองแบบใหม่เป็น "องค์กรแห่งการเรียนรู้" หรือ learning organization เพื่อมุ่งสร้าง "สังคมแห่งการเรียนรู้" หรือ learning society ที่มีฐานแนวคิดการพัฒนามนุษย์ตามหลักมนุษยนิยม ที่เห็นว่ามนุษย์เป็นผู้ที่ฝึกฝนพัฒนาได้ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสม มิใช่แค่เพียงการลงโทษและให้รางวัล
- หากเอาทฤษฎีทางจิตวิทยาการเรียนรู้เข้าไปจับระบบการเมืองแบบเดิม ที่มาจากวิธีคิดทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์แบบแยกส่วนนั้น จะเห็นว่ามีเพียงกลไกการเข้าสู่อำนาจ-การออกจากอำนาจ-การตรวสอบถ่วงดุล-การลงโทษเป็นหลัก นักการเมืองจะถูกทำให้เรียนรู้อยู่แค่ขั้นเดียวกับการเรียนรู้ของสัตว์ดิรัจฉาน คือผ่านเงื่อนไขของการลงโทษและให้รางวัลเท่านั้นเอง ระบบการเมืองแบบนี้จึงไม่สามารถพัฒนานักการเมืองได้ ตรงกันข้ามจะทำให้นักการเมืองเสื่อมทรามลง ยิ่งอยู่ในระบบการเมืองนานยิ่งเสื่อมลง
การพัฒนาต่อยอด
- ขั้นสมบูรณ์ Humanized Politics จักต้องทำระบบการพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่ที่ชัดเจนในตนเองว่าจักมีอาชีพเป็น "นักการเมืองที่ดี" ให้เป็น "สุดยอดพลเมือง" Active Citizen ที่มีคุณสมบัติพื้นฐาน 3 ประการอย่างแท้จริง ให้ได้อย่างน้อย 600,000 คน (1%จากประชากร)
- หลักสูตรการพัฒนามนุษย์ให้เป็น Active Citizen นี้ให้รับบุคคลที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างน้อยในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ขึ้นไป และต้องผ่านหลักสูตรการฝึกงานเป็นอาสาสมัครพัฒนาชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 3 ปี โดยมีเบี้ยเลี้ยงยังชีพสนับสนุน หลังจากนั้นจึงมีสิทธิทำโครงการพัฒนาชุมชน Social Project หรือทำกิจการเป็นผู้ประกอบการทางสังคม Social Enterprise เพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุนจากทางรัฐบาลได้ต่อไป
- ผู้ที่ผ่านการอบรมเหล่านี้ ย่อมมีคุณลักษณะอันสมบูรณ์ในการลงสมัครรับการเลือกตั้งจากประชาชนในทุกระดับต่อไป เมื่อนั้น การเลือกตั้งจึงจะได้ชื่อตามสำนวนที่คุ้นเคยว่า "เลือกตั้ง ให้เลือกคนดีมาปกครองบ้านเมือง" อย่างแท้จริง
- หากไม่ได้รับเลือกตั้ง Active Citizen เหล่านี้ ก็ยังสามารถทำงานเพื่อสังคมส่วนรวมต่อไปได้ในรูปแบบ Social Project และ Social Enterprise ที่มีสิทธิขอรับงบประมาณสนับสนุนในวงเงินงบประมาณที่กำหนดได้ต่อไป
- ผู้ที่ผ่านหลักสูตร Active Citizen ดังกล่าวในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 4 ปี มีสิทธิขอรับการประเมินผลเป็นรายบุคคลเพื่อเทียบคุณวุฒิทางการศึกษาให้เทียบเท่ากับการจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีได้
ประชาชน Active Citizen รวมกลุ่มกันทำงานพัฒนาสังคมผ่าน Social Project และ Social Enterprise จนมีคุณสมบัติเป็น "นักการเมืองที่ดี" ช่วยกันนำพาประเทศชาติไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในระบอบประชาธิปไตย Sustainable Democracy
ประชาชน Active Citizen รวมกลุ่มกันทำงานพัฒนาสังคมผ่าน Social Project และ Social Enterprise จนมีคุณสมบัติเป็น "นักการเมืองที่ดี" ช่วยกันนำพาประเทศชาติไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในระบอบประชาธิปไตย Sustainable Democracy
หมายเหตุ
* การไม่ผ่านการประเมินผลการพัฒนาความเป็นมนุษย์ของนักการเมืองนั้น ไม่มีผลถึงขั้นเพิกถอนสถานภาพทางการเมืองหรือตัดสิทธิ์ทางการเมือง เพราะได้มาด้วยกระบวนการเลือกตั้งที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่จะมีผลให้ถูกตัดสิทธิพิเศษอย่างอื่น ในฐานะที่ไม่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประชาชนที่เลือกเข้ามาได้ เช่น การลดเงินเดือน การตัดอภิสิทธิ์ต่างๆ เช่น การขึ้นเครื่องบินฟรี เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้นักการเมืองได้ตระหนักสำนึกว่า ไม่เพียงมุ่งแต่ให้ชนะการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ตนเองยังต้องมี "หน้าที่" พัฒนาความเป็นแบบอย่างของพลเมืองที่ดี คือศึกษาเรียนรู้พัฒนาตนเองให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
** ตัวอย่างของนักการเมืองที่ได้รับการบ่มเพาะและพัฒนาให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ตามคุณสมบัติพื้นฐาน 3 ประการ ที่ได้รับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยนั้น มีเป็นจำนวนไม่น้อย ที่สามารถพัฒนาบ้านเมืองและประชาชนให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างดีเยี่ยมและยั่งยืน ตัวอย่างระดับดีเยี่ยมที่ทำให้เกิดความปลื้มปีติใจได้อย่างอัศจรรย์ ได้แก่ ผู้ที่ได้รับการพิจารณาตัดสินให้ได้รับรางวัล มหาดไทยดำรงธรรมฯ ซึ่งมีการทำสารคดีชีวิตการทำงานของบุคคลเหล่านี้ออกอากาศผ่านทางรายการ "คนค้นฅน" ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวี http://www.facebook.com/kontvburabha
*** แนวคิดนี้ได้รับการทดลองใช้จริง โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบ "โครงงานคุณธรรม" เป็นกระบวนการบ่มเพาะเยาวชนให้เป็นผู้นำที่ดี มีความเป็นสุดยอดพลเมือง ที่มีจิตสำนึกสาธารณะรับผิดชอบต่อส่วนร่วม ผ่านการลงมือทำงานจริงในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในท้องถิ่นของตนเอง อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบ จนสามารถแก้ไขปัญหาได้ลุล่วงและยังมีการต่อยอดขยายผลต่อเนื่องไปอีก เป็นที่ยอมรับของประชาชน นับว่าเป็นตัวอย่างของการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มาจากกระบวนการพัฒนามนุษย์ที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุด สามารถดูตัวอย่างกรณีศึกษาที่หลายหลายได้จากคลิปวีดิโอรายการสารคดี "ดอกไม้บาน" ที่เคยได้รับการออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ช่อง 9 และไทยพีบีเอส หาดูย้อนหลังได้จากลิงค์ http://www.youtube.com/view_play_list?p=2BE543A934422951&hl=en