
เจ้าคุณ-สมเด็จ : คำวัด
เจ้าคุณ-สมเด็จ : คำวัด พระธรรมกิตติวงศ์
สมณศักดิ์ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ หมายความว่า ยศพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานมีหลายชั้น แต่ละชั้นมีพัดยศเป็นเครื่องกำหนด
อาจกล่าวได้ว่า สมณศักดิ์ คือบรรดาศักดิ์ หรือยศที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่พระสงฆ์ผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบให้ดำรงมั่นอยู่ในสมณเพศ เพื่อเป็นกำลังสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาและเพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปโดยเรียบร้อย เพราะการที่พระสงฆ์รูปใดได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ย่อมได้รับมอบหมายภาระหน้าที่ในการปกครองหมู่คณะแห่งสงฆ์ไปพร้อมกันด้วย
สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ทรงใช้จิตวิทยาในการปกครองพระสงฆ์สาวก โดยการยกย่องผู้ที่ควรยกย่อง ป้องปรามผู้ที่ควรป้องปราม ดังจะเห็นได้จากทรงยกย่องพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัล ลานะเป็นพระอัครสาวก ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา
ปัจจุบันเรามักได้ยินคำเรียกพระราชาคณะว่า "เจ้าคุณ" เป็นน่าจะมาจากคำว่า เจ้า+คุณ คำว่า เจ้า คือพระเจ้าอยู่หัว (พระราชา) คำว่า คุณ คือ คุณความดี รวมความว่า พระผู้มีคุณความดีที่พระราชาให้การยกย่องเป็นพิเศษจ้า
คำเรียกว่า เจ้าคุณ ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มเรียกกันมาแต่เมื่อใด สันนิษฐานว่าน่าจะใช้เรียกกันตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเพราะปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระเจ้าเสือ (พ.ศ.๒๒๔๖ - ๒๒๕๑) ทรงเรียกกรมพระเทพามาตย์ พระราชมารดาเลี้ยง ว่า “เจ้าคุณ”
สมัยต่อมาคำ เจ้าคุณ ใช้เป็นคำเรียกยกย่องแสดงความเคารพนับถือผู้มีบรรดาศักดิ์สูงทั่วไป เช่น เรียกข้าราชสำนักฝ่ายหน้าผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นเจ้าพระยาและพระยา เรียกพระสงฆ์ทั้งที่เป็นสมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะ เป็นต้น แต่ปัจจุบันคำวา เจ้าคุณ คงมีใช้เฉพาะฝ่ายศาสนจักรเท่านั้นโดย ใช้เรียกพระสงฆ์ตั้งแต่ชั้นสมเด็จพระราชาคณะลงมาจนถึงพระราชาคณะ
ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้อธิบายความหมายคำว่า "เจ้าคุณ" ไว้ว่า ภิกษุผู้มีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะตั้งแต่ชั้นสามัญขึ้นไปชนถึงชั้นหิรัญบัฏ (ชั้นรองสมเด็จ)
เจ้าคุณ คำนี้ใช้เป็นภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียน หากเรียกด้วยความเคารพนิยมใช้ว่า ท่านเจ้าคุณ และต่อด้วยราชทินนาม
สำหรับพระสมณศักดิ์ชั้นสมเด็จพระราชาคณะ นิยมใช้ว่า เจ้าประคุณ และสมเด็จพระสังฆราช นิยมใช้ว่า เจ้าพระคุณ
ส่วนคำว่า "สมเด็จ" เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายไว้ว่า ยิ่งใหญ่ หรือประเสริฐ
สมเด็จ เป็นคำยกย่อง ใช้ประกอบหน้าชื่อฐานันดรศักดิ์โดยกำหนดหรือแต่งตั้ง เช่น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าฟ้า สมเด็จเจ้าพระยา เป็นต้น
สมเด็จ ในคำวัดหมายถึง พระเถรผู้ใหญ่ที่ได้รับสถาปนาให้มีฐานันดรศักดิ์ที่ยิ่งใหญ่ หรือประเสริฐกว่าสมณศักดิ์ทั่วไป มี ๒ ระดับ คือ สมเด็จพระราชาคณะ และสมเด็จพระสังฆราช