
'ญาณสังวร'แห่งกรุงรัตนโกสินทร์(4)
'ญาณสังวร'แห่งกรุงรัตนโกสินทร์(4) : มนสิกุล โอวาทเภสัชช์รายงาน
เมื่อยามบ่ายวันพุธที่ 6 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา คณะครูบาอาจารย์พระป่าพระกรรมฐานประมาณ 200 รูป เดินทางมากราบถวายอภิสัมมานสักการะแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สุวฑฺฒโน เจริญ คชวัตร) ณ ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นพระบิดาแห่งพระสงฆ์ทั่วประเทศ นำโดยหลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ วัดป่าบ้านนาคูน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เป็นประธาน และพระอาจารย์สุดใจ ทันตมโน เจ้าอาวาสวัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) จ.อุดรธานี
ในวันนั้น พระอาจารย์นฤทธิ์ อิทธิโชโต จากวัดป่าบ้านตาด เมตตาเล่าให้ฟังถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสมเด็จพระสังฆราชกับครูบาอาจารย์ฝ่ายอรัญวาสีว่า สมเด็จพระสังฆราช สมัยท่านเป็นพระหนุ่ม ท่านสนิทสนมกับพระป่ามาโดยตลอด
"เราคงได้ยินได้ฟังได้อ่านกันมาจากเรื่องของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ขาว อนาลโย และอีกหลายๆ ท่าน สำหรับหลวงตามหาบัวได้กล่าวว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีจิตใจใฝ่ธรรมมาก ตั้งใจภาวนา มุ่งมั่นในธรรม ถ้ามีเวลาว่างเมื่อไหร่ในฝ่ายการปกครอง ท่านจะปลีกวิเวกไปอยู่วัดป่าฝ่ายอรัญวาสี ไม่ว่าจะเป็นวัดป่าบ้านตาดก็แล้วแต่ ส่วนใหญ่ก็เป็นภาคเหนือ ภาคอีสาน เพราะมีครูบาอาจารย์ที่ให้ความเคารพนับถือมาก ท่านปฏิบัติอย่างนี้มาตลอด หลวงตาท่านชมเจ้าพระคุณสมเด็จฯ อยู่เสมอ ทั้งๆ ที่ท่านมีภาระหน้าที่ดูแลเรื่องการปกครองพระมาก แต่ท่านก็ไม่ทิ้งเรื่องการปฏิบัติธรรม ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาจนวาระสุดท้าย เมื่อท่านอายุมากขึ้น สุขภาพร่างกายไม่ค่อยจะดี แม้ไม่ค่อยได้ไปวัดป่าเหมือนแต่เก่าก่อน แต่อยู่ที่วัดบวรฯ ท่านก็ปฏิบัติของท่านสม่ำเสมอ เวลาหลวงตาท่านไปกราบสักการะ ไปกราบเยี่ยม ท่านชื่นชมเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มาก"
"การที่เรามีบิดาแห่งคณะสงฆ์ที่เจริญในธรรมอย่างนี้หาได้ยาก ถึงพร้อมด้วยปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่น่ายินดีและน่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง ในพระป่าพระกรรมฐานเรา โดยเฉพาะพระป่าทางอรัญวาสี ก็สำนึกในพระกรุณาธิคุณของท่านอย่างยิ่ง ให้ความเคารพในปฏิปทาของท่าน จึงได้ร่วมกันมา นับไม่ได้ว่ามามากเพียงใด ทุกท่านมากราบถวายสักการะด้วยความเคารพยิ่ง ปกติพระป่าเราไม่ได้เข้ามาในเมืองอย่างนี้บ่อยๆ แต่เมื่อมีเหตุสำคัญเช่นนี้ ต่างองค์ต่างรูปก็ขวนขวายที่จะมาถวายสักการบูชาพระองค์ท่านอย่างเต็มกำลัง เป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง และก็เป็นที่น่าเสียอกเสียใจด้วย เพราะเราได้สูญเสียพระบิดาแห่งคณะสงฆ์ผู้ที่มีศีลาจารวัตรอันงดงาม ทั้งปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธที่ปรากฏภายในใจ สูญเสียบุคลากรอันสำคัญของชาวพุทธทั่วโลกเลยทีเดียว"
"สำหรับงานพิธีจัดได้ดีพอสมควร พระป่าทุกรูปและคณะศรัทธาญาติโยม ประชาชนโดยทั่วไปไม่จำกัดศาสนาที่มาก็ได้เข้ากราบถวายสักการะเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทั้งหมด เป็นคณะๆ ไป ทุกคนต่างปีติยินดี อนุโมทนาบุญกุศลและร่วมไว้อาลัยด้วยใจจริงๆ"
การที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงอยู่ในใจของพระทุกองค์ทุกรูปไม่ว่าจะเป็นคามวาสี หรือ อรัญวาสี ในสายเถรวาท มหายาน และวัชรยาน ตลอดจนสหธรรมิกต่างศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนาอื่นๆ ก็เป็นเพราะวัตรปฏิบัติอันเต็มเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา พระกรุณาของพระองค์ที่จาริกธรรมไปเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์อย่างไม่เลือกปฏิบัติในช่วงที่เขาเดือดร้อนจากทุพภิกขภัย หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ยังทุกถิ่นแว่นแคว้นทั่วประเทศ และหลายประเทศบนโลกใบนี้ จนตราตรึงอยู่ในใจของทุกคนที่ได้พบกับพระองค์ท่านนั่นเอง
ดังที่พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (ดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย) เล่าย้อนไปเมื่อวันวานว่า จากพรสองข้อที่คณะสงฆ์ประเทศเนปาลได้ขอเจ้าพระคุณสมเด็จฯ สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ เมื่อครั้งที่ท่านเสด็จไปช่วยเหลือชาวพุทธที่ประสบภัยน้ำท่วมในประเทศเนปาลเมื่อปี พ.ศ.2513 จึงได้สามเณรน้อยในตระกูลศากยะ ซึ่งเป็นเชื้อสายเดียวกับพระพุทธเจ้ากลับมาหลายรูป
หนึ่งในสามเณรหลายรูปนั้น ในวันนี้คือ พระดร.อนิลมาน นั่นเอง ปัจจุบันมีอายุ 53 ปี 38 พรรษา ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ที่มีบทบาทในการช่วยเหลืองานของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ และพระศาสนาอย่างมหาศาลมาจนถึงปัจจุบัน
ยิ่งในเรื่องของการภาวนาอันเข้มข้นของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ กับความแน่นแฟ้นในสายอรัญวาสีด้วยแล้ว พระราชรัตนมงคล (ดร.มนตรี อภิมนฺติโก) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เล่าให้ฟังว่า แม้แต่ตัวท่านเอง เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็ไปขอจากท่านอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) ให้มาเรียนหนังสือ
"บังเอิญว่าตอนบวชไปบวชในสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่มั่นสอนไปในทางกรรมฐาน สอนไปในเรื่องความหลุดพ้น เราไปอยู่วัดกรรมฐาน โอกาสที่จะเรียนบาลี เรียนธรรมบาลีเหมือนในกรุงเทพฯ หาเรียนยาก เพราะพระในสายหลวงปู่มั่นสอนเรื่องการหลุดพ้นอย่างเดียว ก็รับใช้ท่านอาจารย์จวนอยู่ 4 ปี จนกระทั่งในปี 2518 เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ตอนนั้นมีสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระญาณสังวร ไปเข้ากรรมฐานที่ภูทอก ท่านก็ขอเณรมาเรียนหนังสือ ท่านอาจารย์จวนเห็นว่า อาตมามีความจำดี บอกอะไรไม่ต้องบอกซ้ำซาก ท่านก็พูดบ่อยๆ ว่า น่าจะไปเรียนหนังสือ ก็เลยให้อาตมามาเรียนตั้งแต่ตอนนั้น ก่อนที่ท่านอาจารย์จวนมรณภาพจากเครื่องบินตกในปี 2523 ส่วนอาตมาก็อยู่ถวายงานเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มาจนถึงทุกวันนี้"
"ที่วัดป่าจะเน้นการภาวนาไปในทางหลุดพ้น ปฏิบัติเป็นกิจวัตร บิณฑบาต ฉันในบาตร ฉันมื้อเดียว การรับใช้ครูบาอาจารย์ กวาดลานวัด ต้มน้ำร้อน ซักผ้าเอง ทุกรูปต้องทำอย่างนั้น เรื่องกรรมฐานท่านอาจารย์ก็สอนทุกวัน ให้ทำวัตรสวดมนต์ แล้วเทศน์ทุกเย็นวันละชั่วโมงสองชั่วโมง ไม่ขาด เพราะฉะนั้นการซึมซับในเรื่องกรรมฐานก็มีมาก พอมาอยู่กับเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ท่านก็รับแบบพระกรรมฐานมาเป็นวัตรปฏิบัติคือ ทรงบิณฑบาตทุกวัน ฉันในบาตร และฉันมื้อเดียวตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ท่าน นี่คือวัตรปฏิบัติของพระกรรมฐาน"
"เจ้าระคุณสมเด็จฯ นั่งสมาธิวันละอย่างต่ำสองชั่วโมง ไม่ว่าท่านจะเสด็จไปทำกิจวัตรอะไรก็ตาม กลับมาจะต้องนั่งสมาธิให้ได้วันละสองชั่วโมง ตีสี่ท่านก็ตื่นแล้วก็มาทวนหนังสือ ทวนบทสวดมนต์ ทวนปาติโมกข์ ทำวัตรเช้าจนสว่าง แล้วก็ออกไปบิณฑบาต ไม่ว่าจะมีกิจวัตรอะไรก็ตาม ท่านต้องปฏิบัติให้ได้อย่างนี้ และในปีหนึ่งๆ ประมาณ 15 วัน ถึงเดือนหนึ่ง เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จะต้องไปเข้ากรรมฐานที่วัดป่าเสมอ เช่น วัดของหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำพู, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร, หลวงปู่มหาบัว วัดป่าบ้านตาด, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย, หลวงปู่สิม พุทธาจาโร สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่, หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่ ท่านชอบไปวัดกรรมฐาน ไม่ใช่ว่าเป็นพระผู้ใหญ่ไปแล้วไปนั่งสบายไม่ใช่นะ ไปบิณฑบาตเหมือนพระกรรมฐาน เดินบิณฑบาตกี่กิโลก็เดินเหมือนกัน ไปฝึกจริงๆ ไปอยู่เหมือนพระที่นั่น นี่คือสมมุติ ให้รู้จักกาล รู้จักเวลา รู้จักงาน ขณะเดียวกันก็ให้รู้ว่าชีวิตมันไม่เที่ยงแท้ ต้องรู้ด้วยปัญญา ในที่สุด ร่างกายของคนเราก็ประกอบขึ้นจากดิน น้ำ ไฟ ลม แล้วเราต้องทำใจ ต้องรู้ มีปัญญา มีสติรู้ เราไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย แต่ทำไม่ได้ กรรมฐานก็ทำแบบนี้"
หรือดังที่ พระอาจารย์แครอล กนฺตสีโล ชาวอเมริกัน หนึ่งในผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ติดตามสมเด็จพระสังฆราชไปวัดป่ามาแล้วทั่วประเทศ
"เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เมตตาเรามาก เล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง แล้วก็พาไปเหนือ ไปอีสาน ให้รู้จักว่านี่คือวัดป่า เรียกว่ามีโอกาสที่หาได้ยาก ได้กราบหลวงปู่ขาว อนาลโย ตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ได้ปฏิบัติแบบเดียวกับพระกรรมฐาน ที่สำคัญคือ ได้เห็นปฏิปทาของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีความอ่อนน้อมถ่อมพระองค์ต่อพระเถระที่มีพรรษามากกว่าเป็นอย่างมาก อย่างบางทีเราตามเสด็จในที่ต่างๆ ไม่ว่าเป็นงานอะไร ท่านบอกว่าขอให้ดูก่อน อย่าไปนั่งก่อนพระที่มีพรรษามากกว่า อันนี้คือความละเอียดลออของผู้ปฏิบัติ ไม่เหมือนคนสมัยนี้ ฝึกตนน้อยลง เราจึงเห็นคนหยาบมากขึ้น ท่านเป็นครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งที่มีความละเอียดที่มองเห็นได้
"ท่านเป็นอาจารย์ที่ดี ทำเองทุกอย่าง เป็นตัวอย่างให้คนอื่นดู แล้วเราก็น่าทึ่งว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ท่านได้ชื่อที่เหมาะสมที่สุดคือ 'ญาณสังวร' เพราะไม่ว่าท่านทำอะไร ท่านทำด้วยสติ และความรู้ตลอดเวลา คือ ไม่ใช่ทำแล้วคิด แต่ท่านคิดแล้วทำ เราได้เรียนรู้ตรงนี้จากท่านเป็นอย่างมาก"
ในวันนั้น หลังจากคณะพระป่าพระกรรมฐาน และคณะญาติโยมอุบาสกและอุบาสิกา ได้ถวายอภิสัมมานสักการะแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชแล้ว สกลมหาสังฆปริณายก พระอาจารย์ณฤทธิ์กล่าวว่า ทางคณะสงฆ์ พระป่าทั่วประเทศขอร่วมแสดงความอาลัยต่อการจากไปของพระองค์ท่าน
"ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงดลบันดาลและอนุโมทนาในสิ่งที่ท่านได้กระทำมา พระป่าเราสำนึกและกระทำในสิ่งนี้มาอยู่เสมอ และขอน้อมในสิ่งที่ท่านสั่งสอนมาปฏิบัติตลอดไป"