พระเครื่อง

พิธีกรรม-ศาสนพิธี : คำวัด

พิธีกรรม-ศาสนพิธี : คำวัด

08 พ.ย. 2556

พิธีกรรม-ศาสนพิธี : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์


              "พิธีกรรมลอยเทียนอธิษฐานแก้ปีชง" ของวัดตะเคียน ถ.พระราม ๕ ต.บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ซึ่งในแต่ละวันมีคนเดินทางมาทำพิธีจำนวนมาก โดยมีคติความเชื่อว่า "เป็นการเพิ่มความสว่างให้ชีวิต พิ่มโชคลาภ เพิ่มความสุข และพิ่มบุญบารมี"

              ความสำคัญของ "พิธีกรรม" อย่างหนึ่ง คือ เป็นโอกาสสำหรับพระที่จะปรากฏตัวและให้ธรรม ถ้าไม่มีพิธีกรรมพระก็ไม่ค่อยได้มีโอกาสปรากฏตัว เพราะฉะนั้นก็อยู่ที่พระเองจะใช้พิธีกรรมอย่างไรให้เป็นประโยชน์ เพื่อเป็นสื่อนำคนเข้าสู่พระศาสนา เข้าสู่พระธรรม ถ้าไม่รู้จักประโยชน์ พิธีกรรมก็อาจจะเสื่อมเสียกลายเป็นเหตุให้เกิดผลร้ายไป แต่โดยหลักการพิธีกรรม คือโอกาสที่พระจะปรากฏตัวแก่ประชาชนแล้วก็จะได้ทำหน้าที่ของท่าน
 
              การปรากฏตัวของพระนี่ ถ้าปรากฏให้ถูกต้องก็เป็นการให้ธรรมแก่ประชาชน คือทำให้เขาได้ธรรมทันทีเลย เมื่อเกิดกุศลธรรมขึ้นในใจแล้วจิตใจเบิกบานผ่องใส ก็อาจจะส่งผลดีไปในวันนั้นทั้งวันก็ได้ ทำให้ทำอะไรๆ ด้วยจิตใจชื่นบานผ่องแผ้ว อันนี้เป็นคุณค่าที่สำคัญมาก
   
              เมื่อพิธีกรรมใดเป็นที่นิยมและรับรองปฏิบัติสืบๆ มาจนเป็นประเพณี พิธีกรรมนั้นก็กลายเป็นศาสนพิธีขึ้น ฉะนั้นศาสนพิธีจึงมีมากมาย แต่เมื่อแยกเป็นหมวดแล้วมี ๔ หมวด คือ
         
              ๑.หมวดกุศลพิธี ว่าด้วยพิธีบำเพ็ญกุศล
         
              ๒.หมวดบุญพิธี ว่าด้วยพิธีทำบุญ
         
              ๓.หมวดทานพิธี ว่าด้วยพิธีถวายทาน
         
              ๔.หมวดปกิณกะ ว่าด้วยพิธีเบ็ดเตล็ด

              ส่วนคำว่า "ศาสนพิธีวันเพ็ญ" พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙) ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้ให้ความหมายไว้ว่า คือ พิธีกรรมทางศาสนา หมายถึง แบบอย่างหรือแบบแผนต่างๆ ที่พึงปฏิบัติทางพระศาสนา โดยเฉพาะทางพระพุทธศาสนา และเกิดขึ้นภายหลังพระศาสนา
 
              เหตุเกิดศาสนพิธี เนื่องจากหลักการของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อันเรียกว่า “โอวาทปาฏิโมกข์” ในโอวาทปาฏิโมกข์นั้น มีหลักการสำคัญที่ทรงวางไว้เป็นหลักทั่วๆ ไป ๓ ประการ คือ ๑. สอนไม่ให้ทำความชั่วทั้งปวง ๒.สอนให้อบรมกุศลให้ถึงพร้อม และ ๓.สอนให้ทำจิตใจของตนให้ผ่องใส

              การทำความดี เรียกว่า "ทำบุญ" หลักการทำบุญ หรือวิธีทำบุญ เรียกว่า "บุญกิริยาวัตถุ" โดยย่อ มี ๓ อย่าง คือ ๑.ทาน การให้สิ่งของ ๒.ศีล รักษากาย วาจาให้เรียบร้อย และ ๓.ภาวนา อบรมจิตให้ผ่องใสในทางกุศล

              บุญกิริยาวัตถุนี้เอง เป็นต้นเหตุให้เกิดศาสนพิธีต่างๆ คือ ๑.รับศีลปรับปรุงกายวาจาให้เรียบร้อยก่อน ๒.ภาวนา คือฟังพระสวดหรือเทศน์ให้จิตผ่องใสสบาย และ ๓.ทาน คือถวายสิ่งของแก่พระ