พระเครื่อง

วัดญาณสังวรารามวัดที่สมเด็จพระสังฆราชฯสร้าง

วัดญาณสังวรารามวัดที่สมเด็จพระสังฆราชฯสร้าง

01 พ.ย. 2556

วัดญาณสังวรารามวัดที่สมเด็จพระสังฆราชฯ เป็นองค์ประธานจัดสร้าง : ท่องไปในแดนธรรม เรื่องและภาพไตรเทพ ไกรงู

               วัดญาณสังวราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร สังกัดธรรมยุตินิกาย ตั้งอยู่ที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นองค์ประธานจัดสร้างวัด

               ทั้งนี้ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ นายแพทย์ขจร และคุณหญิงนิธิวดี อันตระการ พร้อมด้วยบุตรธิดา ได้ถวายที่ดินแด่สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ที่เนื้อที่ประมาณ ๓๐๐ ไร่เศษ ต่อมา คณะผู้ริเริ่มสร้างวัดได้ร่วมกันจัดซื้อที่ดินที่ติดต่อเขตวัดถวายเพิ่มเติมอีกประมาณ ๖๐ ไร่เศษ รวมเป็นเนื้อที่ดินทั้งหมด ๓๖๖ ไร่ ๒ งาน ๑๑ ตารางวา เพื่อสร้างวัดในพระพุทธศาสนา และปรารถนาให้มีนามตามทินนามสมณศักดิ์ของสมเด็จฯ วัดนี้จึงมีชื่อว่า "วัดญาณสังวราราม"

               เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ วัดญาณสังวราราม ได้รับอนุญาตให้สร้างเป็นสำนักสงฆ์ญาณสังวราราม และได้รับอนุญาตให้ดำเนินการสร้างเป็นงวดจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๑ ได้รับการประกาศตั้งชื่อเป็นวัดในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๓ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ตามพระราชกฤษฎีกา ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๕ (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๙ ตอนที่ ๔๓)

               ในปัจจุบัน วัดญาณสังวรารามมีเนื้อที่รวมทั้งหมด ๓๖๖ ไร่ ๒ งาน ๑๑ ตารางวา นอกจากนี้ยังมีเนื้อที่ในเขตโครงการพระราชดำริประมาณ ๒,๕๐๐ ไร่เศษที่ติดต่อกับอาณาเขตวัด

               การสร้างวัดญาณสังวราราม มีจุดมุ่งหมายให้เป็นสำนักปฏิบัติ คือ เน้นทางด้านสมถะและวิปัสสนาและเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่บรรพชิตและคฤหัสถ์ในทางการศึกษาอบรมพระธรรมวินัย รวมทั้งเพื่อให้เป็นที่ยังประโยชน์ในการบำเพ็ญอเนกกุศลต่างๆ ด้วย

               เนื่องจากวัดญาณสังวราราม สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ ๒๐๐ ปี แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ อันเป็นสมัยที่ยอมรับทั่วไปว่า ความร่มเย็นเป็นสุขของไทย เกิดแต่พระบุญญาธิการแห่งองค์สมเด็จพระภัทรมหาราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยแท้ และสืบเนื่องต่อขึ้นไปถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จบุรพบรมกษัตริยาธิราชเจ้า อีกสองพระองค์ พระผู้ทรงกอบกู้ไทยให้กลับเป็นไท สมัยที่เกี่ยวเนื่องใกล้ชิดกับสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

               วัดญาณสังวรารามอาจถือเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องจากคณะผู้สร้างวัดได้พร้อมใจกันสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ

               วัดนี้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระกรุณานานัปการจากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงอุปถัมภ์ในการก่อสร้างตลอดมา และทรงรับเป็นวัดในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นวัดในพระองค์อีกด้วย


พุทธสถานที่สำคัญ

               การวางแผนผังและรูปแบบในการสร้างวัดญาณสังวราราม ได้แบ่งพื้นที่เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็น ๔ เขต คือ

               เขตที่ ๑ เขตพุทธาวาส เป็นสถานที่ตั้งปูชนียสถาน โบราณวัตถุ มีพระอุโบสถ พระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์ พระมหามณฑปพระพุทธบาท ภปร.สก. ศาลาอเนกกุศล สว.กว. และศาลาอเนกกุศล มวก.สธ. เป็นต้น

               เขตที่ ๒ เขตสังฆาวาส แบ่งเป็นสองส่วน คือ พื้นที่ส่วนล่างและพื้นที่ส่วนบน ประกอบด้วยพื้นที่เขาชีโอนและเขาชีจรรย์ และทั้ง ๒ พื้นที่ใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างเสนาสนะกุฏิน้อยใหญ่ เป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุ สามเณร เป็นต้น

               เขตที่ ๓ เขตโครงการพระราชดำริ เป็นสถานที่โครงการพระราชดำริ มีเรือนรับรอง อ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตรกรรม โรงพยาบาล ศูนย์การฝึกอบรมพิเศษ วนอุทยาน บริเวณอนุรักษ์สัตว์ป่าและป่าไม้ เป็นต้น

               เขตที่ ๔ เขตอุบาสกอุบาสิกา เป็นสถานที่ตั้งศาลาโรงธรรม ที่พักอาศัยของบรรดาพุทธศาสนิกชน ผู้มาอยู่ประพฤติธรรม รักษาศีลฟังธรรม ปฏิบัติจิตภาวนา เป็นต้น

               วัดญาณสังวราราม โทร.๐-๓๘๒๓-๗๙๑๒, ๐-๓๘๒๓-๘๓๖๙, ๐-๓๘๒๓-๕๒๔๕, ๐-๓๘๒๓-๗๕๐๖, ๐-๓๘๒๓-๘๔๓๙ หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ "www.watyanasangvararam.com"


พระพุทธรูปที่เขาชีจรรย์

               จากสภาพภูมิประเทศโดยรอบวัดญาณสังวราราม เป็นภูเขาสูงหลายลูก เช่น เขาชีโอน เขาชีจรรย์ เขาดิน เป็นต้น โดยเฉพาะเขาชีจรรย์ มีความสูงเด่นสามารถมองเห็นได้ในระยะไกล มีการขอสัมปทางทำการระเบิดหิน เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างมาแล้วช้านาน ในปัจจุบันเขาดังกล่าว ได้เสียสภาพความเป็นธรรมชาติไป เนื่องจากระเบิด เสียงระเบิดทำให้เสียบรรยากาศในการปฏิบัติสมาธิ แม้กระทั่งสัตว์ป่าต่างๆ และนกซึ่งเดิมมีอยู่เป็นจำนวนมาก ต่างก็หลบหนีลี้ภัยไปอยู่ ณ ที่อื่น จึงมีพระราชดำริว่าควรจะหาทางระงับการระเบิดที่เขาชีจรรย์ และโปรดเกล้าฯ ให้แกะสลักภูเขาด้านที่ถูกระเบิดเป็นพระพุทธรูปแทน

               อย่างไรก็ตาม เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชการที่ ๙ ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พ.ศ.๒๕๓๙ วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงพิจารณาเห็นว่าเหมาะสมที่จะสร้าง พระพุทธรูปแกะสลักที่หน้าผาเขาชีจรรย์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปีนี้ อีกทั้งเพื่อเป็นการสร้างปูชนียสถานทางพระพุทธศาสนาและยังเป็นการอนุรักษ์เขาชีจรรย์ให้คงอยู่ในสภาพที่ควรเป็น

               เขาชีจรรย์นี้มีความสูงประมาณ ๑๖๙ เมตร มีฐานกว้าง ๒๕๕ เมตร อยู่ห่างจากวัดญาณสังวราราม ไปทางใต้ประมาณ ๒ กิโลเมตร สภาพของเขาชีจรรย์เดิม ที่มีการขอสัมปทานระเบิดหินเพื่อนำไปใช้งานก่อสร้างมาแล้วช้านาน และส่วนที่เหลือจึงกลายเป็นหน้าผาหินสูงชัน

               หลังจากที่วัดญาณสังวราราม และคณะกรรมการโครงการจัดสร้างพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์ได้พิจารณาหาข้อมูล และนำขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แกะสลักพระพุทธรูปที่หน้าผาเขาชีจรรย์เป็นแบบลายเส้น

               สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนเริ่มโครงการจัดการสร้างพระพุทธรูป ณ เขาชีจรรย์เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๓๘

               การแกะสลักพระพุทธรูปที่มีชื่อเรียกขานว่า "พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา" เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดความสูง ๑๕๐ เมตร หน้าตักกว้าง ๑๐๐ เมตร ประดิษฐานบนฐานบัว ซึ่งบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บลาสเตอร์ จำกัด ใช้เวลาดำเนินการแกะสลักหินเขาให้เป็นพระพุทธรูปองค์นี้ประมาณหนึ่งปี งบประมาณในการ ใช้จ่ายนี้บริษัทตั้งไว้ ๔๓ ล้านบาท