
ยกย่อง'พระสังฆราช'เป็น'พี่ชายทางธรรม'
'องค์ดาไลลามะ'ยกย่อง'สมเด็จพระสังฆราช'เป็น'พี่ชายทางธรรม'เจ้าคุณใกล้ชิดเผยเหตุอัศจรรย์ตัวเลข 19 เกี่ยวกับ'พระสังฆราช'สอดคล้องกันหลายประการ
ภายหลังที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์ โดยมีการตั้งพระศพบำเพ็ญพระราชกุศลที่ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร นั้น เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้ายังคงมีคณะศิษยานุศิษย์ และพุทธศาสนิกชนมายืนต่อแถวเพื่อรอสักการะพระศพสมเด็จพระสังฆราชในเวลา 09.00 น. โดยจำนวนประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระศพ ยังคงมีจำนวนมาก โดยต่อแถวยาวตั้งแต่ตำหนักเพ็ชรจนถึงหน้าสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช คณะเหลืองรังษี ทั้งนี้ สำหรับพิธีในช่วงเช้าเป็นพิธีสวดอภิธรรม บำเพ็ญพระราชกุศลพระศพ และพระราชทานฉันเช้า โดยมีนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ปฏิบัติหน้าที่ประธานถวายภัตตาหารเช้า โดยมีพระพิธีธรรมจากวัดสุทัศนเทพวราราม
ส่วนบรรยากาศสถานที่ต่างๆ ภายในวัดที่เปิดให้ประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระศพสมเด็จพระสังฆราช ก็ยังคงมีประชาชนเดินทางเข้าชมเพื่อระลึกถึงองค์สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนิทรรศการ 100 ปี สดุดีสังฆบิดร ที่อาคารสภาวิชาการมหามกุฏราชวิทยาลัย ตำหนักคอยท่าปราโมช สถานที่ประทับทรงงานของสมเด็จพระสังฆราช และนิทรรศการสมเด็จพระสังฆราช ที่อาคารมนุษยนาควิทยาทาน
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย ) ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีหมายกำหนดการ พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวาร (7วัน) ถวายพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) สิ้นพระชนม์จะบรรจบครบ 7 วัน ในวันที่ 31 ต.ค.2556 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. 2556 เวลา 17.00 น. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร และวันที่ 31 ต.ค.2556 ในเวลา 10.30 น. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ทางวัดบวรนิเวศวิหาร ได้ประชุมคณะกรรมการพิธีบำเพ็ญพระกุศลพระศพ สมเด็จพระสังฆราช โดยมี สมเด็จพระวันรัต รักษาการเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธาน ซึ่งสมเด็จพระวันรัต ได้สั่งการให้คณะสงฆ์ และเจ้าหน้าที่ คอยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ที่ได้มาถวายสักการะพระศพ สมเด็จพระสังฆราช ให้ดีที่สุด ในขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้หารือถึงการเปิดให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน ได้เป็นเจ้าภาพ หลังพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในพระบรมราชานุเคราะห์ 7 วัน นั้น ทางวัดอาจจะมีการเพิ่มรอบพระอภิธรรมเพิ่มขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อความศรัทธาของประชาชนในการอำนวยความสะดวกให้มากที่สุด
“ขณะนี้อาตมากำลังร่างหนังสือเพื่อแจ้งไปยังองค์ดาไลลามะ ผู้นำสูงสุดของทิเบต อย่างเป็นทางการ เนื่องด้วย องค์ดาไลลามะกับสมเด็จพระสังฆราช มีความผูกพันอย่างใกล้ชิด ทุกครั้งที่องค์ดาไลลามะ เยือนประเทศก็จะต้องมาเข้าเฝ้าฯและสนทนาธรรมกับ สมเด็จพระสังฆราช โดยพระองค์ยกย่องสมเด็จพระสังฆราช ว่าเป็นพี่ชายทางธรรม” พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ กล่าว
พระราชรัตนมงคล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กล่าวว่า ในช่วงของเวลาของการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสังฆราช ได้เกิดเหตุอัศจรรย์หลายประการ ตั้งแต่ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชมายาวนานถึง 24 ปี และสิ้นพระชนม์ในวันที่ 24 ตุลาคม 2556 ซึ่งเมื่อนำวันสิ้นพระชนม์มารวมกับปี พ.ศ.สิ้นพระชนม์ ก็สอดคล้องกับ ปีประสูติ คือ พ.ศ. 2456 ในขณะเดียวกัน เดือนประสูติ และเดือนสิ้นพระชนม์ ก็เป็นเดือนเดียวกัน ที่สำคัญเวลาที่สิ้นพระชนม์ คือ ช่วงเวลา 19 นาฬิกา สอดคล้องกับการเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 ด้วย ถือว่า เป็นเหตุการณ์ที่สอดคล้องกันโดยบังเอิญ ที่สำคัญถือเป็นสมเด็จพระสังฆราช ที่มีพระชนมายุ 100 พรรษา ยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์อีกด้วย
พระครูสังฆสิทธิกร หัวหน้าฝ่ายศาสนวิเทศ สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กล่าวว่า ขณะนี้ได้ทำหนังสือแจ้งการสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระสังฆราช ไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อแจ้งไปยังสถานทูตไทยทั่วโลก ในการแจ้งให้ชาวไทยที่อยู่ในต่างประเทศได้รับทราบ นอกจากนี้ ยังทำหนังสือแจ้งไปยังองค์การศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก และผู้นำศาสนาทุกศาสนาด้วย ในขณะเดียวกัน คณะพระทำงานยังคงสานต่อพระปณิธานของสมเด็จพระสังฆราช ในการช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งสานโครงการก่อสร้างอุโบสถดิน 4 ภาค 9 แห่ง ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อน้อมเกล้าถวายเป็นกุศล ในวโรกาสมหามงคลที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เจริญพระชนมายุ 100 พรรษา ดังนี้ วัดป่าพุทธนิมิตสถิตสีมาราม อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร , วัดสันติวรคุณ บ้านสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ,วัดตอยาง อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี,วัดป่านันทบุรีญาณสังวราราม บ้านผาตูบ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน,วัดป่าห้วยปางเม็งเฉลิมพระเกียรติ อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่,วัดทับทิมสยาม 01 ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ,วัดบุเจ้าคุณ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา,วัดสิงห์ทอง อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร,วัดพระธาตุโป่งนก อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี
นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนกำลังเกิดความสับสนว่ามีการตั้งสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ใหม่แล้วนั้น เป็นความเข้าใจผิด โดยตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ ต้องเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ พ้นพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระสังฆราช ไปก่อน ซึ่งขั้นตอนการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช มีกระบวนการ ดังนี้ กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) จะประชุมเพื่อเลือกสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุด ในการเสนอชื่อไปยังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ใหม่
ผอ.พศ. กล่าวต่อว่า ส่วนขั้นตอนการแต่งตั้ง ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชนั้น ขณะนี้ พศ. เสนอรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสมณศักดิ์สูงสุดไปยังนายกรัฐมนตรีแล้วในการนำความกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบ ซึ่งขั้นตอนที่พศ.ดำเนินการอยู่นี้ เป็นเพียงการตั้ง ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเท่านั้น ไม่ใช่การเสนอตั้งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่อย่างที่หลายคนเข้าใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่สำนักงานพระพุทธศาสนาฯได้เสนอรายชื่อ สมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสมณศักดิ์สูงสุดไปให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแล้วนั้น ขณะนี้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเรื่องดังกล่าวกลับมายังสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ เพื่อให้ทำรายละเอียดชี้แจงเกี่ยวกับการตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชแล้วส่งเข้ามาใหม่ โดยให้ชี้แจงการตั้งตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช รวมไปถึงตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และตำแหน่งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชว่าจะต้องมีอยู่ต่อไปหรือไม่ โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ได้ชี้แจงไปว่าตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้งขึ้นในขณะที่สมเด็จพระสังฆราชยังไม่สิ้นพระชนม์ แต่พระองค์ไม่สามารถปฏิบัติพระศาสนกิจได้ จึงมีการตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเพื่อปฏิบัติศาสนกิจแทน
แต่กรณีการเสนอรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสมณศักดิ์สูงสุด เพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชนั้น เป็นการดำเนินงานตามมาตรา 10 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ที่ระบุว่า ในเมื่อไม่มีสมเด็จพระสังฆราช ให้สมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ถ้าสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติ หน้าที่ได้ ให้กรรมการมหาเถรสมาคมที่เหลืออยู่เลือกสมเด็จพระราชาคณะ รูปหนึ่งผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับและสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ขณะเดียวกันเมื่อสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์ และมีการตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชแล้ว ตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชจะหมดอำนาจไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งขณะนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาฯอยู่ในระหว่างการจัดทำรายละเอียดชี้แจงในกรณีดังกล่าวกลับไปยังสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
"กรมศิลป์"บันทึกจดหมายเหตุงานพระศพ"สมเด็จสังฆราช"
นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ในส่วนของกรมศิลปากรนั้น ตนได้มอบหมายให้สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ดำเนินการบันทึกจดหมายเหตุงานพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานสมเด็จพระสังฆราช เพื่อจัดทำจดหมายเหตุงานพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยการจัดทำจดหมายเหตุนั้นจะประกอบไปด้วย พระประวัติและภาพเหตุการณ์ตั้งแต่พระองค์ทรงประชวรและสิ้นพระชนม์ การประดิษฐานพระศพ การบำเพ็ญพระราชกุศลและการบำเพ็ญกุศลถวายพระศพ การถวายน้ำสรงพระศพ พิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวาร (7 วัน) พิธีบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร (50 วัน) และพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร (100 วัน) รวมถึงการจัดเตรียมและหมายกำหนดงานพระราชทานเพลิงพระศพ งานพระราชทานเพลิงพระศพ
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อว่า การพระราชกุศลออกพระเมรุ ประกอบไปด้วย การแห่พระศพโดยกระบวนพระอิสริยยศ งานเก็บพระอัฐิ และการบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วันฉลองพระอัฐิและบรรจุพระสรีรางคาร เป็นต้น อย่างไรก็ตามการเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำจดหมายเหตุของสมเด็จพระสังฆรานั้น ขณะนี้กรมศิลปากรได้ยึดรูปแบบการดำเนินงานลักษณะเดียวกับจดหมายเหตุของสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 18 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ซึ่งในเบื้องต้นกรมศิลปากรได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวไปก่อน หลังจากนี้อาจจะมีการดำเนินการส่วนอื่นๆ เพิ่มเติมคงต้องมีการประชุมอีกครั้งหรือว่ารอทางรัฐบาลมอบหมาย