
อ่อนน้อม-เรียบง่าย'สังฆราช'สมณะผู้ทรงธรรม
อ่อนน้อม-เรียบง่าย'สังฆราช'สมณะผู้ทรงธรรม : ผกามาศ ใจฉลาดรายงาน
“สมเด็จท่านสิ้นพระชนม์แล้ว” เสียงสั่นเครือของ พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัย 53 ปี ภายหลังทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ในห้วงยามนี้ พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ คงไม่มีคำพูดใดที่จะบรรยายถึงความรู้สึกต่อการสูญเสียพระอาจารย์ ซึ่งท่านเปิดเผยว่า การเคารพนับถือพระองค์ท่านไม่ได้อยู่แค่ในฐานะพระอาจารย์กับลูกศิษย์ แต่พระองค์ท่านเป็นเสมือนพ่อที่ดูแลสั่งสอนลูกคนนี้มาตั้งแต่เด็ก
“สมเด็จพระสังฆราชเสด็จประเทศเนปาลเมื่อปี 2513 และทรงรับปากคณะสงฆ์เนปาลไว้ ว่าจะช่วยฝึกพระเณรประเทศเนปาล โดยให้มาไทยเพื่อได้รับการศึกษาที่ถูกต้องและกลับไปเผยแผ่ ก่อนหน้านั้นบวชเณรที่ศรีลังกา 9 เดือน จากนั้นอาตมาได้เข้าเฝ้าถวายตัวสมเด็จพระสังฆราชครั้งแรก เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2518 อาตมาไม่ทราบว่าหน้าตาสมเด็จพระสังฆราชเป็นอย่างไร มาจากสนามบินก็มาถึงพระอาจารย์จากเนปาลก็นำเข้าเฝ้าถวายตัวกับสมเด็จพระสังฆราช”
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ เล่าอีกว่า ตอนนั้นจำได้ว่า เมื่อได้เข้าเฝ้าครั้งแรกพอกราบท่านเสร็จ พระองค์ก็ให้ไปหาพระเลขาฯ ที่กุฏิข้างๆ พระเลขาฯ ก็จัดเสื่อ หมอน ที่นอนให้ แล้วพาไปกุฏิที่พัก ความทรงจำตอนนั้นเห็นพระพักตร์ครั้งแรก จำได้แค่ว่าทรงยิ้ม พระพักตร์เปี่ยมด้วยพระเมตตา รับสั่งเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทยก็จำไม่ได้ และทรงทราบดีว่าอาตมาเป็นสามเณรเนปาลเชื้อสายศากยวงศ์
“สำหรับอาตมานับว่าเป็นโชคดีอย่างยิ่งที่ได้มาอยู่ในพระเมตตาอุปถัมภ์ดูแลเหมือนกับลูกคนหนึ่งของพระองค์ ด้านการมีเชื้อศากยวงศ์ของอาตมา พระองค์ก็มีความโปรดปรานเป็นพิเศษตรงที่ว่าเป็นเชื้อสายศากยวงศ์ของพระพุทธเจ้า เวลาเสด็จประเทศเนปาลพระองค์มักจะถามเรื่องนี้ หรือเวลาอยู่ในไทยจะทรงชี้ให้ทุกคนเห็นว่า นี่เขาเป็นเชื้อสายศากยวงศ์นะ แสดงให้เห็นว่าทรงมีความภาคภูมิใจในความเป็นศากยะระดับหนึ่ง แต่สำหรับอาตมาเองไม่มีอะไร ก็คือเป็นลูกศิษย์คนหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสสนองงานถวาย ก็รู้สึกว่าโชคดีที่ทรงไว้วางพระทัยมีโอกาสสนองงานถวายเทียบกับสามเณร และพระวัดบวรฯ มีอยู่มากมายกว่า 20 รูป ในขณะนั้นอาตมาถือว่าเป็นโชคดีที่สุด”
“ถ้าเป็นช่วงสนองงานพระสังฆราช ก็ตื่นเช้าบิณฑบาตและอยู่กับพระองค์เป็นส่วนใหญ่ ช่วงเช้าอยู่กับพระองค์เพราะทรงรับแขก ช่วงบ่ายก็ไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัย แต่ตอนนี้เรียนจบแล้วและทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ก็จะอยู่กับงานร่างเอกสารต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ ตอนเย็นสมเด็จพระสังฆราชมีแขกมาเฝ้า และช่วงค่ำก็อยู่กับพระองค์ พระองค์จะเข้าสวดมนต์และภาวนา บางครั้งสวดมนต์ก็อยู่กับพระองค์ ดูว่าทรงต้องการอะไร ดังนั้น ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับเอกสาร งานค้นคว้า และติดตามสมเด็จพระสังฆราชเป็นส่วนใหญ่"
เมื่อเรียนจบปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยา ซึ่งเป็นการผลักดันของสมเด็จพระสังฆราช ไมใช่เป็นความใฝ่ฝันของอาตมาเลย ทรงให้ไปศึกษาและเมื่ออาตมาศึกษากลับมาแล้ว ก็ภูมิพระทัยมาก รับสั่งว่านี่เขาเป็นดอกเตอร์แล้วนะ
"แต่ขณะเดียวกันทรงชี้ว่าหน้าที่ของคุณตอนนี้ก็คือ สอนสิ่งที่คุณเรียนมา ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไปจากที่อยู่ในการบริหารและงานเอกสาร ต้องเจอผู้คน เมื่อสมเด็จพระสังฆราชขีดเส้นให้อย่างนั้น ในฐานะลูกศิษย์ก็น้อมรับ พยายามทำตัวให้ดีที่สุด เริ่มทำหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์สอนในสิ่งที่เรียนมา"
การอบรมสั่งสอนของสมเด็จพระสังฆราชเป็นไปอย่างมีแบบแผน พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ บอกว่า สมัยเป็นสามเณรก็จะชอบนึกเสมอว่าทำไมต้องเป็นเรา อยากจะเล่น อยากจะหนี แต่ว่าถูกบังคับให้มาอยู่กับสมเด็จพระสังฆราช แต่ตอนนี้มองย้อนกลับไปแล้วอาตมารู้สึกโชคดีที่ไว้วางพระทัย และต้องทนกับความดื้อของสามเณรน้อยๆ รูปนี้
“สิ่งที่สมเด็จพระสังฆราชทรงสอนนั้น ก็คงยากจะย่อความออกมาในทุกสิ่งทุกอย่างในสิ่งที่ทรงทุ่มเทให้อาตมา แต่สิ่งที่เห็นก็คือ การวิจัย การวิจารณ์ การพัฒนาโยนิโสมนสิการในเรื่องข้อธรรมะต่างๆ สมเด็จพระสังฆราชจะมีจุดเด่นที่ว่า พระองค์โปรดที่จะวิเคราะห์ข้อธรรม ไม่ใช่ว่ารับเข้ามาเฉยๆ พระองค์จะทรงนั่งสอนว่า ดูสิพระไตรปิฎกนี้อ่านเมื่อไหร่ก็ได้ความรู้ใหม่ๆ แม้ว่าอ่านมา 30-40 ปีก็ตาม ซึ่งแต่ละประเด็นที่ทรงยกตัวอย่างแสดงให้เห็นว่ามีวิธีคิดใหม่ๆ หรือว่าวิธีที่ทรงสอนเอง บางครั้งทรงสอนแบบไม่มีข้อกังขา ทำให้จุดหนึ่งเรากล้าที่จะศึกษา กล้าที่จะค้นคว้า”
“ความอ่อนน้อม ถ่อมตน เรียบง่าย” คือ สิ่งที่พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ ยึดในสมเด็จพระสังฆราชเป็นต้นแบบ “จากพระจริยวัตรของพระองค์ ทรงอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เคยถือพระองค์ว่าเป็นสมเด็จพระสังฆราช หากมีพระผู้ใหญ่เข้ามาแม้มีพรรษามากกว่าแค่ 1 วัน พระองค์จะลดพระองค์ลงมาจากอาสนะมากราบ เป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตนที่เห็นมาตลอด และทรงเรียบง่าย มีความเป็นสมณะไม่อยู่อย่างหรูหรา เวลาเสด็จไปไหนไม่ได้รับจตุปัจจัยใดๆ ที่ญาติโยมถวายเลย พระองค์ประทานคืนเพื่อให้เขาไปทำบุญต่อ รับสั่งว่า เขานิมนต์พระสังฆราช และนิมนต์ด้วยความยากลำบาก ท่านบอกว่าไปไม่ใช่เพื่อรับของ แต่ไปเพื่อช่วยงานเขา เพื่อให้งานเขาสำเร็จและทรงทำเช่นนี้มาตลอด ก็เป็นภาพที่ประทับใจมาโดยตลอดว่านี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่า สมณะ”