พระเครื่อง

พระถ้ำเสือหน้าฤาษีพุทธคุณเลิศทางคงกระพันชาตรีมหาอุด

พระถ้ำเสือหน้าฤาษีพุทธคุณเลิศทางคงกระพันชาตรีมหาอุด

22 ต.ค. 2556

พระถ้ำเสือหน้าฤาษีพุทธคุณเลิศทางคงกระพันชาตรีมหาอุด : พระองค์ครู เรื่อง ไตรเทพ ไกรงู ภาพ กุลพันธ์ ศิริพิมพ์อัมพร

               "พระถ้ำเสือ" เป็นวัตถุมงคลที่ได้รับการโจษจันมาแต่ครั้งโบราณว่า เข้มขลังศักดิ์สิทธิ์เป็นเลิศทางด้านคงกระพันชาตรี มหาอุด แคล้วคลาดนิรันตราย ไม่แพ้พระเครื่องใดๆ

               พุทธศิลปะของพระถ้ำเสือ แบบอู่ทองล้อทวารวดี เป็นพระเนื้อดินเผาผสมว่านเกสรวิเศษต่างๆ สันนิษฐานว่า "พระฤๅษี" เป็นผู้สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๒๒๐ รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

               จากคำบอกเล่าถูกค้นพบครั้งแรกคือเมื่อชาวไร่ผู้หนึ่งเดินทางขึ้นเขาเสือ เพื่อไปหามูลค้างคาวตามถ้ำ แล้วพบพระจำนวนมากจนเป็นที่มาของชื่อ "พระถ้ำเสือ" จากนั้นได้นำพระที่พบมาจำหน่ายจ่ายแจกกันไปจนหมด

               นับเป็นการแตกกรุครั้งแรกของพระถ้ำเสือเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐ หลังจากนั้นได้มีผู้พบพระที่มีพุทธลักษณะพิมพ์ทรงเช่นเดียวกับพระถ้ำเสือ ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในถ้ำ เนินเขา วัด และเจดีย์ อาทิ พระถ้ำเสือที่พบในถ้ำเขานกจอด เขาวงพาทย์ เจดีย์เขาพระ วัดหลวงเขาดีสลัก และตามถ้ำต่างๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรี

               อย่างไรก็ตามภายหลังมีการขุดพบพระถ้ำเสืออีก ๒ ครั้งใหญ่ คือ พ.ศ.๒๕๓๕ และ พ.ศ.๒๕๔๒ จึงเกิด เรื่องราวข้อพิพาท “พระถ้ำเสือ กรุวัดเขาดีสลัก” แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ "เซียนบางกลุ่มยอมรับว่าแท้ แต่อีกหนึ่งกลุ่มบอกว่าเก๊" เลยกลายเป็นพระมีปัญหา ถกเถียงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุดจนถึงทุกวันนี้

               แม้ว่านายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงพระถ้ำเสือกรุวัดเขาดีสลัก และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุพรรณบุรี เคยเปิดให้บูชาหาเงินสร้างกุศลมาแล้ว องค์ละ ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ บาท เมื่อเกือบสิบปีที่ผ่านมา แต่เซียนพระยังไม่ยอมรับอยู่ดี

               อ.ราม วัชรประดิษฐ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์พุทธศิลป์ และเจ้าของ "www.aj-ram.com" อธิบายให้ฟังว่า ปัญหาเรื่องพระกรุใหม่พระกรุเก่านั้นไม่ใช่เป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น การพบพระชนิดเดียวกันในหลายกรุถือเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่นิยมสร้างพระแล้วนำไปบรรจุกรุต่างๆ เผื่อพระกรุใดกรุหนึ่งถูกทำลายไปก่อนก็ยังเหลือพระกรุอื่นๆ ไว้เป็นสมบัติของอนุชนรุ่นหลัง แต่ปรากฏว่ากรุต่างๆ แตกหรือพังออกมาไม่พร้อมกัน ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าพระที่ค้นพบก่อนย่อมเป็นที่รู้จักมากกว่าพระที่ค้นพบหรือแตกกรุทีหลัง

               "ปัญหาหนึ่งที่ทำให้พระกรุใหม่ไม่เป็นที่ยอมรับของวงการพระคือ การทำพระใหม่และไปใส่กรุ หรือที่เรียกว่า "พระยัดกรุ" เพื่อให้คนเข้าใจว่าเป็นพระกรุของผู้แสวงหาผลประโยชน์จากพระกรุ ซึ่งมักปรากฏเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยๆ กรุแตกจริงบ้างหรือทำให้แตกบ้าง ดังนั้นก่อนที่จะเช่าไม่ว่าจะเป็นพระกรุใดก็ตามต้องศึกษาให้ดีก่อน" อ.ราม กล่าว

               สำหรับภาพพระองค์ครูฉบับนี้เป็น ของ "อ.คม ไตรเวทย์" ฆราวาสที่ถูกยกให้เป็น "ฆราวาสผู้เรืองวิทยาอาคมแห่งเมืองสุพรรณบุรี" เมื่อว่างเว้นจากสักยันต์ และต้อนรับลูกศิษย์ที่สำนักก็จะเดินทางไปหาพระถ้าเสือด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันหากมีใครนำพระมาขายก็จะรับซื้อไว้ทั้งหมด นอกจากนี้ยังรับซื้อศิลาแลงขนาดใหญ่ไว้หลายสิบก้อน ทั้งนี้ เมื่อกะเทาะหรือทุบศิลาแลงก็จะพบพระถ้ำเสือที่ฝังอยู่ภายในจำนวนมาก

               อ.คมบอกว่า มีมิจฉาชีพที่อาศัยความไม่รู้ของคนเอาก้อนศิลาแลงแล้วเอาพระถ้ำเสือของปลอมฝังเข้าไป แรกๆ คนไม่รู้ก็ซื้อไปจำนวนมากจนกระทั่งความจริงมาถูกเปิดพระถ้ำเสือจึงไม่มีใครกล้าเล่น ในที่สุดพระถ้ำเสือที่ฝังในก้อนศิลาแลงก็ไปทำลายพระถ้ำเสือที่เป็นของแท้ทั้งหมด