พระเครื่อง

พุทธคุณแห่งผ้ายันต์เสือ(บารมี ๙๗)หลวงปู่แย้ม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พุทธคุณแห่ง ผ้ายันต์เสือ(บารมี ๙๗) หลวงปู่แย้ม ปิยวณฺโณ วัดตะเคียน จ.นนทบุรี ชั่วโมงเซียน โดยอ.โสภณ

                "ผ้ายันต์เสือ (บารมี ๙๗)" เป็นผ้ายันต์ที่พระครูสมุห์สงบ กิตฺติญาโณ หรือหลวงพี่สงบ พระเลขาฯ พระครูปิยนนทคุณ (หลวงปู่แย้ม ปิยวณฺโณ) วัดตะเคียน ถ.พระราม ๕ (นครอินทร์) ต.บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี จัดสร้างขึ้นในโอกาสที่หลวงปู่แย้มเจริญอายุวัฒนะมงคล ๙๗ ปี เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๖ ทางวัดได้จัดงานบุญฉลอง และจัดสร้าง "เสือปืนแตกบารมี ๙๗" เป็นที่ระลึก โดยนิมนต์พระเกจิอาจารย์ดังทุกภาคเกือบ ๔๐ รูป นั่งปรกปลุกเสก ๙ วันเต็ม ระหว่างวันที่ ๑๑-๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา

                อย่างไรก็ตามการนำภาพสัตว์มาเขียนบนผืนผ้านั้น มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีคติความเชื่อว่า ภาพสัตว์ที่มีพลังอำนาจในตัวของมัน เช่น เสือ ราชสีห์ ลิง กระทิง ฯลฯ พระเกจิอาจารย์จะนำเอาอักขระเลขยันต์มาประกอบเขียนกำกับ เพื่อให้ดูแล้วดี มีสง่า มีความขลังขึ้น พร้อมด้วยตัวคาถาอาคม เสริมเข้าไปในรูปภาพนั้น ทำให้เกิดความขลัง เป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล หากมีความศรัทธา มีความเชื่อมั่นจริง พลังจิตต่างๆ ที่ได้รับการบรรจุ เจริญภาวนาด้วยสมาธิจิตชั้นสูง ย่อมมีผลพุทธคุณปรากฏ

                นอกจากนี้แล้วพระเกจิอาจารย์ดังๆ ในอดีตยังจัดสร้างวัตถุมงคลเป็นรูปสัตว์จากวัตถุอาถรรพณ์ โดยเฉพาะรูปเสือ ซึ่งได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบันมีอยู่หลายรูป เช่น หลวงพ่อปาน วัดมงคลโคธาวาส (วัดบางเหี้ย) จ.สมุทรปราการ หลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ จ.นครปฐม หลวงพ่อมี วัดพระทรง จ.เพชรบุรี หลวงพ่อวงศ์ วัดปริวาส ยานนาวา กทม. หลวงพ่อสุด วัดกาหลง จ.สมุทรสาคร ฯลฯ

                สำหรับอักขระเลขยันต์ที่ปรากฏบน "ผ้ายันต์เสือ (บารมี ๙๗)" มีดังนี้

                ใต้ท้องเสือ (บารมี ๙๗) เป็นยันต์ “หัวใจธาตุสี่” ที่ว่า “นะ มะ พะ ทะ” หมายถึง น้ำ ดิน ไฟ ลม ยันต์นี้หากเขียนรูปสัตว์หรือสิ่งชีวิตทุกชนิด รวมทั้งรูปภาพเกจิอาจารย์ต้องลงหัวใจธาตุสี่ พุทธคุณ คงกระพันชาตรี

                ยันต์ที่อยู่บริเวณขาคู่หน้า คือ “ธาตุพระกรณี” ที่ว่า “จะ พะ กะ สะ” เวลาใช้ภาวนาให้ภาวนาเป็นกลบท หรือภาวนาสลับกัน ได้ถึง ๑๖ กลบท เช่น พะ สะ กะ จะ หรือ  กะ สะ จะ พะ รวมทั้ง สะ จะ พะ กะ เป็นต้น

                ส่วนยันต์ที่เขียนรอบวงด้านใน โดยเริ่มอ่านจากเท้าหลังรูปเสือมียันต์ที่น่าสนใจ ดังนี้

                ๑.ยันต์มงคล ๙ บางครั้งก็เรียก ยันต์หัวใจอิติปิโส รวมทั้ง นวหรคุณ ที่ว่า “อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ ภุ พะ” เป็นยันต์ประจำตัวหลวงพ่อเดิมแห่งวัดหนองโพธิ์ จ.นครสวรรค์ ใช้ลงมีดหมอ รวมทั้งเหรียญเกือบทุกรุ่นใช้ยันต์ อุปเท่ห์การใช้ยันต์บทนี้ในการนิมนต์พระหรือวัตถุมงคลขึ้นคอ ให้เริ่มต้นด้วยการถภาวนา นะโม ๓ จบ แล้วตามด้วย “อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ ภุ พะ”

                ๒.ยันต์หัวใจพระพุทธเจ้า ที่ว่า อิ กะ วิ ติ

                ๓.ยันต์หัวใจพระไตรปิฎก ที่ว่า อา ปา มะ จุ ปะ ซึ่งหมายถึง พระวินัยปิฎก อุปเท่ห์ยันต์นี้ โบราณใช้เสกของใช้ประจำวันต่างๆ โดยให้ตั้ง นะโม ๓ จบ แล้วตามด้วย “อา ปา มะ จุ ปะ” ใช้เสกน้ำล้างหน้า แป้งผัดหน้า เสกข้าว รวมทั้งเครื่องหอมต่างๆ เป็นทั้งเมตตามหานิยมและคงกระพันชาตรี

                ๔.ยันต์พระสุตันปิฎก ที่ว่า ที มะ สัง อัง ขุ ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง

                ๕.ยันต์พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ สัง วิ ทา ปุ กะ ยะ ปะ ซึ่งเป็นพระคาถาที่พระพุทธเจ้าไปเทศน์โปรดพุทธมารดาชั้นดาวดึงส์ หรือเรียกที่ว่า อภิธรรมบท จึงกลายเป็นคาถาที่ใช้สวดพระภิธรรมศพมาจนถึงทุกวันนี้

                อย่างไรก็ตามเมื่อนำยันต์หัวใจพระไตรปิฎก ที่ว่า อา ปา มะ จุ ปะ ไปรวมกับ ยันต์พระสุตันปิฎก ที่ว่า ที มะ สัง อัง ขุ และ ยันต์พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ สัง วิ ทา ปุ กะ ยะ ปะ สรุปได้เป็น มะ อะ อุ (ยันต์บริเวณหางเสือ) ซึ่งเรียกว่า หัวใจพระไตรปิฎกได้เช่นกัน ทั้งนี้การการลงยันต์ มะ อะ อุ จะปริกรรมเรียกสูตรว่า รวมทั้ง ๓ คาถา คือ “อา ปา มะ จุ ปะ ที มะ สัง อัง ขุ คัมภีร์ สัง วิ ทา ปุ กะ ยะ ปะ” ทำให้คาถาบทนี้มุทธคุณครอบจัรกวาล

                ๖.ยันต์อภิธรรมปิฎก ที่ว่า “อุ ปะ สะ ชะ สุ เห ปา สา ยะ” ใช้ทางคงกระพันชาตรี

                ๗.ยันต์หัวใจโพชฌงค์ ๗ ที่ว่า “สะ ธะ วิ ปิ ปะ สะ อุ” ใช้ได้สารพัด ดีทุกด้าน

                นอกจากนี้แล้วยังมียันต์ชัดใหญ่อีก ๑ ชุด ที่เขียนอยู่ระหว่างเส้นวงกลม ๒ เส้น โดยเริ่ม ยันต์นะมหาเบา ซึ่งเป็นยันต์ประจำตัวหลวงปู่แย้ม มียันต์ที่น่าสนใจดังนี้

                ๑.ยันต์หัวใจแม่ธาตุใหญ่ ที่ว่า “นะโม พุท ธา ยะ”

                ๒.ยันต์หัวใจธาตุ ๔ ที่ว่า “นะ มะ พะ ทะ”

                ๓.ยันต์หัวใจธาตุพระกรณี ที่ว่า “จะ พะ กะ สะ”

                ยันต์ยันต์หัวใจแม่ธาตุใหญ่ ยันต์หัวใจธาตุ ๔ ยันต์หัวใจธาตุพระกรณี รวมเป็น ยันต์หัวใจ ๑๐๘

                ๔.ยันต์หนุนดวง หรือ แก้ว ๔ ดวง ที่ว่า “นะ มะ อะ อุ” การใช้ยันต์ตัวนี้เป็นการหนุนดวงให้คาถาตัวอื่นมีความเข้มขลังเพิ่มขึ้น ทั้งนี้พระครูรัตนรังสี หรือ หลวงพ่อพุ่ม แห่งวัดบางโคล่นอก ใช้เป็นยันต์ประจำตัว โดยจะปรากฏบนหลังเหรียญของท่าน ขณะเดียวกันหากใครนำเหรียญให้ท่านจารก็จะใช้ยันต์ตัวนี้เช่นกัน

                ๕.ยันต์หัวใจยอดศีล ที่ว่า “พุท ธะ สัง มิ”

                ๖.ยันต์ยอดหัวใจพระสิวลี หรือ ยันต์หัวใจพระฉิม ที่ว่า “นะ ชา ลี ติ” เป็นคาถาสุดยอดแห่งโชคลาภ

                ๗.ยันต์ท้าวมหาพรหม ที่ว่า “พรหมมา จิต ตัง มา นิ มา มะ มะ” เป็นคาถาทางค้าขาย ใช้เรียกทรัพย์เรียกคน รวมทั้งใช้เป็นมาหาอุดก็ได้เช่นกัน ยันต์นี้จะปรากฏในธงมหาราช ทั้งนี้จะมีการลงคาถาเพิ่มว่า “สัพ เพ ชะ นา พะ หู ชะ นา สัพ เพ ธิ สา เมต ตัง จะ สัพ โล กัส สะ มิง มา นะ สัม พา วะ เย” บางเกจิจะต่อท้ายด้วยยันต์หัวใจพระพุทธเจ้า ที่ว่า “อิ กะ วิ ติ”

                ๘.ยันต์ปลุกเสือ ที่ว่า “พยัค โฆ พยัค ฆา สูญ ญา ลัพ พะ ติ อิ ติ ฮิม ฮัม ฮึม ฮึม ฮัม ฮัม ฮะ” เป็นคาถาที่หลวงพ่อปาน ปรมาจารย์ทางเสือ แห่งวัดบางเหี้ย จ.สมุทรปราการ และหลวงพ่อวงศ์ แห่งวัดปริวาส เขตยานนาวา กทม. ใช้ปริกรรมเสกเสือก

                ๙.ยันต์ใจปถมัง ที่ว่า “ทุ สะ มะ นิ” ยันตัวนี้ถ้าเขียนเป็น “ทุ สะ นิ มะ” จะกลายเป็นหัวใจอริยสัจสี่ทันที่

                ๑๐.ยันต์หัวใจยอดกัณฑ์พระไตรปิฎกที่ว่า “จิ เจ รุ นิ” อุปเท่ห์หนึ่งที่น่าสนใจ คือ โบราณใช้เขียนใส่ปากคนที่ใกล้จะสิ้นใจ วิญญาณจะออกจากร่าง โดยมีคติความเชื่อว่าวิญญาณร้ายต่างๆ จะไม่มารบกวนวิญญาณผู้ตาย รวมทั้งในการมัดตราสังศพจะใช้คาถาบทนี้เช่นกัน


ผ้ายันต์หน้าเสือ


                ผ้ายันต์รูปหน้าเสือ เป็นผ้ายันต์ที่ออกในวาระเดียวกับผ้ายันต์เสือ (บารมี ๙๗) ทั้งนี้เพื่อเป็นทางเลือกระหว่างผู้ที่ชอบเสือเต็มตัว หรือเฉพาะหน้าเสือ ซึ่งมียันต์และพระคาถาดังนี้

                ๑.ยันต์หัวใจปถมัง ที่ว่า “ทุ สะ มะ นิ”

                ๒.ยันต์หัวใจพระธรรมจักร ที่ว่า “ติ ติ อุ นิ”

                ๓.ยันต์หัวใจแม่ธาตุใหญ่ ที่ว่า “นะ โม พุท ธา ยะ”

                ๔.ยันต์หัวใจธาตุ ๔ ที่ว่า “นะ มะ พะ ทะ”

                ๕.ยันต์หัวใจธาตุพระกรณี ที่ว่า “จะ พะ กะ สะ”

                ๖.ยันต์หนุนดวง หรือ แก้ว ๔ ดวง ที่ว่า “นะ มะ อะ อุ”

                ๗.ยันต์ปลุกเสือ ที่ว่า “พยัค โฆ พยัค ฆา สูญ ญา ลัพ พะ ติ อิ ติ ฮิม ฮัม ฮึม ฮึม ฮัม ฮัม ฮะ”

                ส่วนยันต์ที่บริเวณแก้วซ้ายของเสือเป็นยันต์หัวใจ มหาอุด ที่ว่า อุดทังอัดโท (ด้านขวาของหน้าเสือ) ส่วนอีกด้านหนึ่งจะเขียนเป็น โทอุดทังอัด (ด้านซ้ายของหน้าเสือ)

                ทั้งนี้เมื่อพิจารณาอักขระเลขยันต์ที่ใช้เขียนลงบนผ้ายันต์เสือ(บารมี ๙๗) ทั้ง ๒ แบบ ทางวัดต้องการสร้างผ้ายันต์เสือ (บารมี ๙๗) ให้มีพุทธคุณครอบจักรวาล แต่เน้นพุทธด้านมหาอุด และป้องกันภัย มากเป็นพิเศษ


บุญสละโลงศพ


                "วัดตะเคียน" เป็นหนึ่งในวัดที่ริเริ่มจัดพิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาด้วยการนอนในโลงศพ ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวนนทบุรี ชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลั่งไหลไปพิสูจน์พิธีกรรมโบราณนี้อย่างไม่ขาดสาย โดยหลายคนบอกว่า เมื่อไปทำพิธีแล้วรู้สึกว่าชีวิตดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ และประสบพบพานกับสิ่งดีกันทั่วหน้า นอกจากนี้บางคนเชื่อว่าการนอนโลงสะเดาะเคราะห์เป็นการแก้เคล็ดต่ออายุ และช่วยให้พ้นเคราะห์ได้ โดยบุคคลนั้นๆ จะต้องมีจิตที่เชื่อมั่นจริงๆ ไม่ใช่ทำไปตามกระแส หรือแห่ไปตามที่เขาบอกมา

                สำหรับพิธีการนอนโลงศพสะเดาะเคราะห์ของวัดตะเคียน จะใช้เวลาแต่ละครั้งประมาณ ๕ นาที โดยพระสงฆ์ที่นิมนต์มาจำนวน  ๔ รูป จะสวดบังสุกุลตายให้ผู้ที่นอนในโลงศพ จะหันหัวไปทิศตะวันตก และกลับหัวมาทิศตะวันออก พระจะสวดบังสุกุลเป็น พร้อมให้ศีล ให้พร

                จุดประสงค์ของการจัดพิธีนอนโลงนั้น ทางวัดระบุว่า ต้องการสื่อให้ทุกคนรู้ถึงสัจธรรมความจริงว่า ที่สุดแล้วทุกคนย่อมหนีไม่พ้นความตาย อีกทั้งการทำพิธีนี้เปรียบเสมือนการฝึกตายก่อนตายจริง ที่สำคัญไม่มีการกำหนดราคาค่าทำพิธีแต่อย่างใด

                อย่างไรก็ตาม วันจันทร์ที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๖ นี้ ทางวัดได้จัดทำพิธีสละโลง โดยนำโลงศพใบเก่าไปมอบให้ศพผู้ไร้ญาติ จากนั้นเปลี่ยนโลงศพใบใหม่มาใช้ทำพิธีให้ญาติโยมตลอดปี ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญได้ที่ ๐-๒๕๙๕-๑๘๕๑ และ ๐๘-๘๖๗๒-๕๑๙๖

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ